![](https://thestructure.live/wp-content/uploads/2024/12/ขนส่ง-2-1.jpg)
ถึงแม้จะค้างค่าปรับ ก็จะออกป้ายภาษีรถให้ ‘ขนส่งฯ’ ยกเลิกข้อตกลงระงับออกป้ายทะเบียนรถที่ค้างค่าปรับจราจร จนกว่าจะมั่นใจว่า ‘ตำรวจ’ ได้ดำเนินการทางกฎหมายครบถ้วน
ภายหลังจากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2120 / 2567 คดีหมายเลขแดงที่ 2682 / 2567 ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2567 ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 3,151.50 บาท
จากกรณีที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจำปี 2568 ให้แก่ผู้ฟ้องร้องคดี ซึ่งได้ชำระภาษีไปแล้ว โดยอ้างว่าผู้ฟ้องร้องคดีค้างชำระค่าปรับจราจร
เมื่อวานนี้ (23 ธ.ค. 2567) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก มีบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ถึงหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วย เรื่อง แนวทางการดำเนินการรับชำระภาษีรถประจำปีกรณีที่มีค่าปรับค้างชำระในระหว่างศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2120/2567 คดีหมายเลขแดงที่ 2682/2567
โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เนื่องจากในคดีดังกล่าวนั้น ขบ. ได้ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก (การรับชำระภาษีรถประจำปีกรณีที่มีค่าปรับค้างชำระ) ระหว่าง ขบ. กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปแล้ว
แต่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า นายทะเบียนขนส่ง ไม่สามารถตรวจสอบจากใน “ระบบบริหารจัดการใบสั่ง” (Police Ticket Management : PTM) ได้ว่า เจ้าพนักงานจราจรได้ดำเนินการครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา 141/1 แห่ง พ.ร.บ.จราจรบทางบก พ.ศ.2522 แล้วหรือไม่
ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้นายทะเบียนออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี ภายใน 3 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้กรมการขนส่งทางบกชำระคำสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ดังนั้น เพื่อป้องกันมีให้เกิดข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าของรถกับนายทะเบียน ให้นายทะเบียนงดรับชำระค่าปรับที่ค้างชำระตามใบสั่งจราจร และให้ดำเนินการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีให้กับผู้ชำระภาษีไปก่อนทุกกรณี ไม่ว่าจะมีค่าปรับที่ค้างชำระหรือไม่ก็ตาม
จนกว่าจะสามารถตรวจสอบได้ว่า สตช. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.จราจรบทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 141/1 ได้อย่างครบถ้วน