
ทุกคนต้องจ่ายภาษี แต่ภาษีบางชนิด ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องจ่าย
เมื่อพูดถึง “ภาษี” คนจำนวนหนึ่งอาจรู้สึกว่าเป็น “ภาระ” แต่ในอีกมุมหนึ่ง ภาษีนั้นคือ “หน้าที่” ที่คนในสังคมทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบมาก-น้อยแตกต่างกันไป ซึ่งความแตกต่างตรงนี้เองที่ควรจะทำความเข้าใจว่า ใครและคนกลุ่มไหนในสังคมจะต้องเสียภาษีตัวไหน ประเภทไหน เพราะภาษีนั้นมีหลากหลายและไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องจ่ายทุกชนิด
.
โดยก่อนจะเข้าใจถึงภาษีประเภทต่าง ๆ เราอาจจะต้องไปทำความรู้จักกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีเสียก่อน โดยหลัก ๆ แล้วจะมีอยู่ 4 หน่วยงานคือ 1. กรมสรรพากร 2. กรมสรรพสามิต 3. กรมศุลกากร และ 4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ สำนักงานเขต
.
เมื่อทำความรู้จักกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีแล้ว ก็จะทำให้เราพอจะเห็นภาพคร่าว ๆ ถึงประเภทของภาษีชนิดต่าง ๆ ได้ โดยทั้ง 4 หน่วยงานนั้นจัดเก็บภาษีแตกต่างกันไป กล่าวคือ
.
กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีอากรจากรายได้และการสร้างผลประโยชน์ต่าง ๆ ของประชากรในประเทศ โดยจะดำเนินการจัดเก็บภาษี 5 ประเภท คือ 1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax ; PIT) 2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax; CIT) 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax ; VAT) 4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax ; SBT) และ 5. อากรแสตมป์ (Stamp Duty ; SD)
.
ซึ่งในกลุ่มภาษีอากรทั้ง 5 ประเภทนี้ เราจะเห็นมีเพียง 2 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปโดยตรง นั่นคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจัดเก็บกับบุคคลที่ประกอบอาชีพและทำงานต่าง ๆ ที่มีรายได้ และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจัดเก็บกับการบริโภคสินค้าต่าง ๆ เมื่อมีการซื้อ-ขายปลีกและซื้อ-ขายส่ง
.
ในขณะที่ภาษีอากรชนิดอื่น ๆ นั้นก็เป็นภาษีที่ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปไม่ได้มีหน้าที่จะต้องเสีย อย่างภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็จะต้องเป็นนิติบุคคล (เช่น ห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัทจำกัด) ถึงจะมีหน้าที่เสียภาษีประเภทนี้ หรืออย่างกรณีของภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นก็ระบุเจาะจงลงไปอีกว่าเป็นธุรกิจต่อไปนี้เท่านั้นที่จะต้องเสียภาษีประเภทนี้ คือ การธนาคาร, การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (Credit Foncier), การรับประกันชีวิต, การรับจำนำ, การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์, หรือ การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นการค้าหรือหากำไร หรืออากรแสตมป์นั้นก็เป็นการจัดเก็บต่อธุรกรรมเฉพาะกรณีไป โดยมี 28 ลักษณะ เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน เป็นต้น
.
ต่อมาคือกรมสรรพสามิต ที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิต ซึ่งคือภาษีเรียกเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าที่อาจมีผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคหรือต่อศีลธรรมอันดีของสังคม, สินค้าที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย, สินค้าที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ, สินค้าที่ก่อให้เกิดภาระต่อรัฐบาลในการที่จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างเพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค, หรือเป็นสินค้าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
.
ซึ่งก็มีตั้งแต่ เครื่องดื่ม เช่น น้ำหวานหรือน้ำอัดลม, น้ำหอม หัวน้ำหอม หรือน้ำมันหอม, สุรา, ยาสูบ, และ ไพ่ แต่ก็รวมทั้ง น้ำมัน, รถยนต์, รถจักรยานยนต์ จนถึงเรือยอชต์และเรือสำราญ อีกทั้งยังรวมถึงสถานบริการอย่าง ไนต์คลับ, สถานอาบน้ำหรืออบตัว, สนามแข่งม้า, และ สนามกอล์ฟ อีกด้วย
.
โดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตนั้นได้แก่ 1. ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบอุตสาหกรรม 2. ผู้ประกอบกิจการสถานบริการ 3. ผู้นำเข้าซึ่งสินค้า และ 4. บุคคลอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าประชาชนทั่วไปนั่นไม่ได้มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีประเภทนี้โดยตรงเลย แต่อาจจะกล่าวได้ว่าเสียในทางอ้อมจากการรวมอยู่ในราคาขายที่ผู้ผลิตและผู้ค้าตั้ง เพราะทั้งนี้ทั้งนั้นภาษีสรรพสามิตมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการบริโภคสินค้าและใช้บริการต่าง ๆ เหล่านี้ และอาจกล่าวได้ว่าการเสียภาษีประเภทนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคนั้นเลือกหรือไม่เลือกซื้อหรือใช้บริการสิ่งเหล่านี้ เพราะถ้าเลือกก็เสีย แต่ถ้าไม่เลือก ก็ไม่ต้องเสีย
.
ในส่วนต่อมาคือภาษีศุลกากร ที่จัดเก็บโดยกรมศุลกากร ภาษีชนิดนี้น่าจะเป็นที่รู้จักและเข้าใจกันอยู่แล้วว่าคือภาษีที่จัดเก็บจากการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีการควบคุม ซึ่งก็มีรายละเอียดอยู่ว่าสิ่งใดที่จะต้องเสียภาษีประเภทนี้บ้าง อย่างภาษีศุลกากรขาเข้าก็จะมีการจัดเก็บต่อสินค้าหลากหลายชนิด แบ่งเป็น 21 หมวด เช่น สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์, ผลิตภัณฑ์จากพืช, อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่ม สุรา และน้ำส้มสายชู ยาสูบ, ผลิตภัณฑ์แร่, ผลิตภัณฑ์เคมี, พลาสติกและยาง, หนังดิบ หนังฟอก และของที่ทำด้วยหนัง, ไม้และของที่ทำด้วยไม้, สิ่งทอและของทำด้วยสิ่งทอ, รองเท้า หมวก ร่ม, ของทำด้วยหิน, อัญมณี โลหะมีค่า ไข่มุก, เครื่องจักร เครื่องกล และอีกมากมายซึ่งแบ่งย่อยลงไปได้เป็นตอน ๆ อีกถึง 97 ตอน
.
และในส่วนภาษีศุลกากรขาออกก็จะมีการจัดเก็บกับสินค้าควบคุมหลายอย่าง แต่ปัจจุบันนั้นมีการยกเว้นจนเหลือเพียง 3 ประเภทเท่านั้นคือ หนังโคหรือหนังกระบือ, ไม้ ไม้แปรรูป และของที่ทำด้วยไม้ และของส่งออกจากพื้นที่พัฒนาร่วมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
.
ดังนั้นในส่วนของภาษีศุลกากรก็ถือว่าเป็นภาษีที่จัดเก็บเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าควบคุมต่าง ๆ ที่ถูกกำหนด โดยเป้าหมายหลักของการจัดเก็บภาษีประเภทนี้นั่นก็เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศไม่ให้ถูกแข่งขันจากสินค้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้มีการบริโภคภายในประเทศ เพื่อเม็ดเงินไม่ไหลออกนอกประเทศอีกด้วย
.
ท้ายสุดในส่วนของภาษีท้องถิ่น ซึ่งจัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ สำนักงานเขต ซึ่งภาษีท้องถิ่นนั่นก็อาจจะเป็นภาษีอีกหนึ่งประเภทที่ใกล้ตัวบุคคลทั่วไปมากที่สุด โดยภาษีท้องถิ่นนั่นประกอบด้วย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีป้าย, อากรฆ่าสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ก็อาจจะมีอำนาจจัดเก็บภาษีประเภทอื่น ๆ ตามที่มีกฎหมายระบุไว้ด้วย
.
จากภาษีที่มีอยู่มากมายหลายชนิด เกี่ยวข้องกับธุรกิจและอุตสาหกรรมหลากหลายกลุ่ม และเกี่ยวข้องกับสินค้าหลากหลายแบบ เราจะเห็นได้ว่าการเสียภาษีชนิดต่าง ๆ นั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานะและกิจกรรมของแต่ละบุคคลในสังคม
หากจะยกตัวอย่าง ถ้าประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจใด ๆ ไม่ได้เป็นผู้นำเข้าหรือส่งออก หรือการผลิตสินค้าใด ๆ เขาคนนั้นก็ไม่มีหน้าที่ในการจ่ายภาษีสรรพสามิตหรือภาษีศุลกากรใด ๆ
.
หรือหากเราเป็นประชาชนที่ไม่ได้บริโภคสินค้าหรือใช้บริการบางประเภทที่อยู่ในข่ายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เช่น ถ้าหากเราไม่ได้เข้าสถานบันเทิงต่าง ๆ ก็ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตที่มาพร้อมกับค่าบริการนั้น ๆ หรือหากไม่ได้ดื่มสุรา ก็ไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสุรา หรือหากเป็นผู้ที่ไม่ได้ใช้รถโดยสารส่วนตัว แต่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ แทนก็ไม่จำเป็นจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เป็นต้น
.
สุดท้ายนี้ เราอาจจะต้องทำความเข้าใจว่าภาษีคือ “ภาระหน้าที่” ที่คนในสังคม ทั้งปัจเจกบุคคลและผู้ประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นรายรับให้ภาครัฐนำไปดำเนินการและให้บริการต่าง ๆ กับประชาชน รวมถึงเป็นงบประมาณของโครงการต่าง ๆ เช่น การลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาประเทศ ภาษีจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุนเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ต่อไป
อ้างอิง :
[1] https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/SMEs/infographic/pit/1.pdf
[2] https://www.rd.go.th/683.html
[3] https://www.rd.go.th/764.html
[4] https://webdev.excise.go.th/aec-law/th/excise-th-thailand.php
[5] https://ms.udru.ac.th/FNresearch/assets/pdf/ch14.pdf
[6] https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/morkor/km/guidebook/Local_Administrator.pdf
เตรียมตัวเข้าสู่ศึกเลือกตั้งเต็มรูปแบบ ควรมีคนจับตานโยบายแต่ละพรรคว่าใช้เงินกันเท่าไร และบริหารงานในพรรคกันอย่างไร ก่อนคิดบริหารประเทศ รวมถึง พ.ร.บ.กันอุ้มหายที่ถูกชะลอไปอย่างน่าเสียดาย
เส้นทางสายการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อ “ซื่อสัตย์และจงรักภักดี” อย่างเดียว ไม่เพียงพอสำหรับสังคมไทยในเวลานี้
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม