แบนสินค้าฮาลาล รัฐอุตตรประเทศของอินเดีย สั่งห้ามจำหน่ายสินค้าฮาลาล ด้วยเหตุผลว่าซ้ำซ้อนกับมาตรฐานของภาครัฐ
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2566 รัฐบาลของรัฐอุตตรประเทศ ประกาศสั่งห้ามการจำหน่าย-กระจายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ซึ่งรวมถึงนม ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ น้ำตาล น้ำมันบริโภค เสื้อผ้า และยา โดยระบุว่าขัดต่อกฎหมาย
“การรับรองฮาลาลของผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นระบบซ้ำซ้อนกับระบบมาตราฐานอาหารของอินเดีย ซึ่งสร้างความสับสนเกี่ยวกับคุณภาพของรายการอาหาร”
“หน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและมาตรฐานด้านอาหารของอินเดีย (Food Safety and Standards Authority of India : FSSAI) เป็นหน่วยงานระดับสูงสุดของประเทศที่มีหน้าที่บังคับใช้มาตรการและตรวจสอบการผลิต การจำหน่าย การกระจายสินค้า และการนำเข้าสินค้าอาหาร” เจ้าหน้าที่รัฐอุตตรประเทศ ระบุ
รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งปกครองโดย โยคี อทิตยานาถ พระภิกษุชาวฮินดู จากพรรคภารติยะ ชนตะ (BJP) ซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองแบบ “ชาตินิยมฮินดู” ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของอินเดีย
ที่ผ่านมา ทั้งอทิตยานาถ และรัฐบาลของเขาถูกกล่าวหาว่ามีวาระสร้างความแตกแยกต่อประชากรมุสลิมจำนวนมากของรัฐ ซึ่งพวกเขาปฏิเสธมาโดยตลอด
“ไม่ควรนำศาสนามาเกี่ยวข้องกับอาหาร… มีผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น เสื้อผ้า น้ำตาล ฯลฯ ที่ถูกตีตราว่าเป็นฮาลาล ซึ่งขัดต่อกฎหมาย” ราเกช ตรีปาตี โฆษกพรรค BJP กล่าวกับรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ (20 พ.ย.)