สหรัฐอาจตั้ง กำแพงภาษีใส่เวียดนาม เพราะเวียดนามได้ดุลการค้าจากสหรัฐมากเกินไป
ถึงแม้ว่าในสมัยแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี และดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าต่อจีน จนทำให้เวียดนามได้รับอานิสงส์ จนทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศผู้ผลิตที่ผู้ประกอบการในตลาดต่างให้ความสนใจย้ายฐานการผลิตสินค้าไปตั้งเพื่อรักษาความได้เปรียบทางด้านภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ
จนทำให้มูลค่าการส่งออกจากเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ปัจจุบันสินค้าส่งออกจากเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ สูงหลายรายการ
ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักจะใช้วัตถุดิบการผลิตส่วนใหญ่จากจีน ผลิตโดยบริษัทลูกของจีนที่ไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นเพื่อหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าในอัตราสูง ถึงแม้ว่าจะไม่มีการระบุชื่อประเทศก็ตามแต่ก็เชื่อได้ว่า นโยบายดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่เวียดนามและเม็กซิโก ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจีนจำนวนมากขยายฐานการผลิตไปตั้งเพื่ออาศัยเป็นช่องทางในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เวียดนามเองก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพ่งเล็งเป็นพิเศษ และอาจจะนำมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้ามาบังคับใช้กับสินค้านำเข้าจากเวียดนามทุกรายการ เพื่อกดดันให้เวียดนามให้ความร่วมมือสหรัฐฯ ในการลดมูลค่าการขาดดุลทางการค้า
โดยปัจจุบันเวียดนามมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ สูงกว่าการนำเข้าจากสหรัฐฯ ถึง 9 เท่า นับเป็นประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ มีมูลค่าการขาดดุลทางการค้าสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 4 รองจากจีน เม็กซิโก และกลุ่มสหภาพยุโรป
แต่ถึงแม้ว่าภายหลังจากที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา จะมีผู้ประกอบการสหรัฐฯ ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปเวียดนามเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในเวียดนาม ต่างก็มีแนวโน้มที่จะปรับกลยุทธ์ย้ายฐานการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ ได้ในอนาคต เพื่อการรับมือกับนโยบายของทรัมป์
อย่างไรก็ตาม เริ่มพบสัญญาณผู้ประกอบการในตลาดระมัดระวังการตัดสินใจขยายฐานการผลิตไปยังเวียดนามมากขึ้น โดยนับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ทราบผลการเลือกตั้ง ผู้ประกอบการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวันบางรายเริ่มทบทวนแผนการลงทุนในเวียดนาม เนื่องจากกังวลว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าหรือข้อกล่าวหาทางการค้าอื่นๆ จากสหรัฐฯ
กรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) เห็นว่าสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษเนื่องจากเป็นประเทศที่มีความต้องการบริโภคสูง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและค่าแรงงานต่ำ
ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าและบริการเป็นมูลค่าสูง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ต่างพยายามดำเนินมาตรการทางการค้าต่างๆ เพื่อลดมูลค่าการขาดดุลทางการค้ามาโดยตลอด ซึ่งมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้า (Tariffs) ที่เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี 2561 ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่ใช้ได้ผลสูง
และน่าจะถูกนำมาใช้กดดันประเทศคู่ค้าในอนาคตอันใกล้นี้ตามที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศเอาไว้อย่างแน่นอน โดยกลุ่มประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินมาตรการดังกล่าวในขณะนี้ ได้แก่ จีน เม็กซิโก แคนาดา และประเทศในกลุ่ม BRICS
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในปี 2566 พบว่า จีนมีมูลค่าเกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูงที่สุดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา ได้แก่ เม็กซิโก มูลค่าทั้งสิ้น 1.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่าทั้งสิ้น 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม มูลค่าทั้งสิ้น 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่น มูลค่าทั้งสิ้น 6.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ อาจจะดำเนินมาตรการที่คล้ายคลึงกันเพื่อกดดันเวียดนามได้ในอนาคต โดยหากสหรัฐฯ พิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวกับเวียดนามน่าจะส่งผลดีและสร้างโอกาสสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย
ในการดึงดูดผู้ประกอบการให้ย้ายฐานการผลิตไปตั้งในประเทศไทยที่มีความได้เปรียบทั้งในด้านสภาพแวดล้อมทางการค้า รวมถึงความพร้อมด้านวัตถุดิบการผลิตและแรงงานฝีมือในอนาคตเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ไทยจะยังไม่เป็นเป้าหมายหลักในการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ แต่หากพิจารณามูลค่าการค้าไทยที่เกินดุลสหรัฐฯ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยล่าสุดในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการค้าเกินดุลสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 12) ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจจะขยายเป้าหมายในการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้ามายังไทยได้
ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยจึงควรพิจารณาใช้ความระมัดระวัง ดำเนินนโยบายทางการค้ากับสหรัฐฯ อย่างรัดกุมเพื่อรักษาระดับมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยไม่ให้เกินดุลสหรัฐฯ มากจนอาจจะทำให้ไทยตกเป็นเป้าหมายในการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ในอนาคต ที่อาจจะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้