
ผู้ประกอบการหวั่น สินค้าในสหรัฐต้นทุนพุ่ง หากทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าทองแดงและอลูมิเนียม
นักวิเคราะห์และผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมกล่าวเมื่อวันอังคาร (28 ม.ค.) ว่าแผนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าทองแดงและอลูมิเนียมของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเนื่องจากในประเทศผลิตได้ไม่พอ
ในการปราศรัยเมื่อวันจันทร์ (27 ม.ค.) ทรัมป์กล่าวว่า เขาจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมและทองแดง ซึ่งเป็นโลหะที่จำเป็นต่อการผลิตฮาร์ดแวร์ทางการทหารของสหรัฐฯ รวมถึงเหล็ก เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตในสหรัฐฯ “เราต้องนำการผลิตกลับคืนสู่ประเทศของเรา” เขากล่าว
สหรัฐอเมริกาต้องนำเข้าทองแดง 38% ของความต้องการในประเทศ และต้องพึ่งพาการนำเข้าอลูมิเนียมเป็นอย่างมาก โดยมีอุปทานจากประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดาและเม็กซิโก ครอบคลุม 82% ของการบริโภคต่อปี ตามข้อมูลของ BNP Paribas
ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. โดยให้คำมั่นว่าจะลดค่าครองชีพให้ประชาชนชาวอเมริกัน แต่บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า แผนการของทรัมป์ที่จะเรียกภาษีนำเข้าอาจสวนทางกับเป้าหมายของคำมั่นสัญญานี้ อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการภาษีดังกล่าวจะครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด แต่ซีอีโอของบริษัทเหมืองแร่หลายแห่งกล่าวว่าพวกเขากำลังเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ ในขณะที่ตลาดกำลังเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับทิศทางการค้า
“ในสหรัฐฯ ผู้ผลิตจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องโยนภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากการนำเข้าไปยังผู้บริโภคจนกว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมปลายน้ำ (การกลั่น/การถลุง) ที่เหมาะสม” นาตาลี สก็อตต์-เกรย์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านโลหะจาก StoneX กล่าว
แดเนียล มอร์แกน นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการลงทุน Barrenjoey ในซิดนีย์กล่าวว่า โรงหลอมอลูมิเนียมและทองแดงในสหรัฐฯ ได้ทยอยปิดตัวลง และจำเป็นต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่, ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าใหม่ รวมถึงต้องจัดการเรื่องอื่นๆ
มอร์แกนกล่าวเสริมว่า ผู้ผลิตอลูมิเนียมในแคนาดา เช่น Rio Tinto และ Alcoa ไม่น่าจะได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้ แต่ต้นทุนน่าจะตกไปอยู่กับผู้ผลิตรถยนต์แทน จากนั้นต้นทุนเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคในสหรัฐฯ
โฆษกของ Alcoa ได้อ้างถึงความคิดเห็นของซีอีโอของบริษัทในการประชุมรายงานผลประกอบการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอาจเกิดผลกระทบในวงกว้างต่ออุปทาน อุปสงค์ และทิศทางการค้า เขาประเมินว่า หากมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าที่แคนาดาส่งไปขายยังสหรัฐฯ ในอัตรา 25% อาจส่งผลให้ลูกค้าในสหรัฐฯ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นปีละ 1,500-2,000 ล้านดอลลาร์ (50,565– 67,420 บาท)
บี.เค. บาเทีย ตำแหน่ง additional secretary ของสหพันธ์อุตสาหกรรมแร่อินเดีย กล่าวว่า หากทรัมป์เรียกเก็บภาษีนำเข้า จะส่งผลกระทบเชิงลบโดยเฉพาะกับอลูมิเนียม เนื่องจากยุโรปกำลังดำเนินการจัดเก็บภาษีคาร์บอน และสหราชอาณาจักรอาจจัดเก็บภาษีนี้ด้วยเช่นกัน
จอห์น เฟนเนลล์ ซีอีโอของสมาคมทองแดงนานาชาติแห่งออสเตรเลีย ชี้ว่าหากสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าทองแดงจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทองแดง เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าทองแดงสุทธิ แม้ว่ามาตรการดังกล่าวอาจเร่งการพัฒนาเหมืองใหม่ๆ เช่น โครงการเหมืองทองแดง Resolution ของ Rio Tinto ในรัฐแอริโซนา
แคธลีน ควิร์ก ซีอีโอของ Freeport-McMoRan กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า บริษัทเหมืองของตนจะไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าทองแดง เนื่องจากทองแดงที่ผลิตในสหรัฐฯ ทั้งหมดจำหน่ายในประเทศ ส่วนทองแดงที่ผลิตในอินโดนีเซียก็ส่งไปจำหน่ายยังเอเชีย อย่างไรก็ตาม เธอกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการภาษีนำเข้าดังกล่าว
สำหรับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกนั้น โทโมมิจิ อากูตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Mitsubishi UFJ Research and Consulting กล่าวว่า ภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมในสมัยรัฐบาลทรัมป์หนึ่งมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย
“เหล็กที่ญี่ปุ่นส่งออกส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์พิเศษที่มีมูลค่าสูง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการยกเว้นภาษี และเราคาดหวังว่าครั้งนี้ก็น่าจะได้รับการยกเว้นเช่นกัน… ผลิตภัณฑ์พิเศษที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้ยากที่จะทดแทน ทำให้มีโอกาสตกเป็นเป้าหมายน้อยกว่า”” อากูตะ กล่าว
(1 ดอลลาร์ = 33.71 บาท)