ข้อมูล vs. อคติ : กับการเปรียบเทียบประเทศอย่างไร้ข้อเท็จจริง
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวมากมายเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศศรีลังกา ซึ่งทั้งนักวิเคราะห์ทั่วโลกและนักการเมืองศรีลังกานั้นยอมรับว่าเข้าขั้นวิกฤต ถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงห์ของศรีลังกาเองนั้นต้องออกมายอมรับกลางสภาผู้แทนราษฎรว่า “เศรษฐกิจของเรานั้นได้ล่มสลายลงโดยสิ้นเชิงแล้ว” [1]
แน่นอนว่าเราสามารถคาดเดาปฏิกิริยาของคนไทยในโลกออนไลน์ได้อย่างหนึ่ง นั่นคือก็การพยายามเปรียบเทียบว่า ‘ประเทศไทยกำลังจะเหมือนกับศรีลังกา’ ซึ่งความคิดและคำพูดเหล่านี้ สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ไม่ได้มีรากฐานอยู่บนข้อมูลและข้อเท็จจริงใด ๆ ทั้งสิ้น แต่กระนั้นมันกลับเป็นสิ่งที่ผู้คนในโลกออนไลน์จำนวนมากชอบกล่าวถึง และเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน อย่างเมื่อครั้งที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองในประเทศเวเนซุเอลา ก็มีคนไทยกลุ่มหนึ่งนำประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับเวเนซุเอลา เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความคิดอันตื้นเขินของผู้แสดงความคิดเห็นดังกล่าว ว่ามาจากการใช้อารมณ์และความรู้สึกเพียงอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่าผู้พูดนั้นไม่มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงและไม่มีมีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ของทั้งประเทศไทยและประเทศที่ยกขึ้นมาเปรียบเทียเลยแม้แต่น้อย
หากย้อนกลับไปยกกรณีเปรียบเทียบประเทศไทยกับเวเนซุเอลา ในช่วงปี 2562 ที่มีการรายงานข่าวและพูดคุยกันเกี่ยวกับประเด็นนี้กันอย่างหลากหลายนั้น สุพริศร์ สุวรรณิก นักเศรษฐศาสตร์มหภาคจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ณ ขณะนั้น ; ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์) ผู้เขียนคอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” ได้ตอบคำถามว่า “ไทยจะเป็นเหมือนเวเนซุเอลาหรือไม่?” เอาไว้ว่า “น่าจะเป็นไปได้ยาก” และอธิบายเหตุผลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยเอาไว้อย่างสังเขปว่า 1. ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลไทยมีเสถียรภาพ 2. เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยมั่นคงมาก และ 3. การจัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) [2]
กลับมาที่การเปรียบเทียบโดยผู้คนในโลกออนไลน์กลุ่มหนึ่งระหว่างเศรษฐกิจของศรีลังกากับเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน (ซึ่งกล่าวได้ว่าสถานการณ์แตกต่างกับช่วงปี 2562 ที่มีการเปรียบเทียบไทย-เวเนซุเอลา) ก็จะยังคงเห็นได้ว่าสภาพเศรษฐกิจของไทยกับประเทศศรีลังกานั้นแตกต่างกันอย่างมาก
ประเด็นแรกที่อาจจะยกขึ้นมาได้นั้นก็คือหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศ
ในประเทศไทย สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (Gross Domestic Product ; ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ปัจจุบันอยู่ที่ 60.87% ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ณ เดือนพฤษภาคม 2565) [3] ซึ่งหนี้ต่างประเทศถือเป็น 1.73% ภายในหนี้สาธารณะก้อนนี้ (ช่วงเวลาเดียวกัน) [4] ในขณะที่ประเทศศรีลังกามีหนี้สาธารณะมากกว่า GDP คืออยู่ที่ 101% ในช่วงปลายปี 2563 (2020) ตามรายงานของ IMF ซึ่งในสัดส่วนของหนี้ต่างประเทศคืออยู่ที่ 48.2% และในปีนี้ (2565/2022) หนี้สาธารณะของศรีลังกาพุ่งขึ้นไปถึง 119% [5]
ประเด็นต่อมาคือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกานั้นก็ไม่สามารถเทียบได้กับไทยเลยแม้แต่น้อย ในปีนี้ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ [6] ซึ่งแม้จะลดลงบ้างจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีปัจจัยภายนอกส่งผล ตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปจนถึงสถานการณ์การเมืองและการทหารระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ก็ยังกล่าวได้ว่า “ไทย[ไม่]ได้มีปัญหา เพราะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นไม่สูง และเทียบเงินทุนสำรองฯ ปัจจุบันสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 2-3 เท่า” [6] แต่เมื่อเทียบกับศรีลังกาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ก็มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่เพียง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐและตกลงจนเหลือเพียง 50 ล้านเหรียญฯ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม จนไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นรายจ่ายสินค้านำเข้าประเทศแค่เพียงวันเดียว [5]
นี่เป็นเพียงสองประเด็นที่จะทำให้เห็นว่าสภาพการณ์และสุขภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังมีความมั่นคงและดีในระดับหนึ่ง และโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศศรีลังกาก็ถือว่ามีระดับมากกว่าเป็นอย่างยิ่ง ส่วนในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของประเทศไทยนั้นก็ยังถือว่ามีการพัฒนาที่มากกว่าศรีลังกามาตั้งแต่อดีต สินค้าส่งออกหลักของประเทศศรีลังกาคือสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและสินค้าเกษตร (โดยเฉพาะใบชา) [7] ซี่งมีการขาดดุลนำเข้าติดต่อกันหลายปี [8] ในขณะที่การส่งออกของประเทศไทยมีการกระจายตัว (diversified) อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่สินค้าประกอบ (manufactured goods) รวม 86% เช่น อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, รถยนต์, เครื่องจักร สินค้าประเภทอาหารแปรรูปนั้นอยู่ที่ 7.5% และสินค้าเกษตรอยู่ที่ 8% [9]
อย่างที่ได้กล่าวไปข้อมูลและข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยการเอาไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ นั้นส่วนมากแล้วเป็นความเห็นที่ไม่มีมูลอยู่บนข้อเท็จจริง และไม่ได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่นำไปสู่การพัฒนาใด ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบไทยกับเวเนซุเอลาในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา และการเปรียบเทียบไทยกับศรีลังกาที่เกิดขึ้นล่าสุด ยังไม่รวมถึงการเปรียบเทียบโดยไม่สนใจข้อเท็จจริงอื่น ๆ เช่น เปรียบเทียบไทยกับเกาหลีเหนือ ล้วนแล้วแต่เป็นการถกเถียงด้วยอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น
เมื่อทำความเข้าใจเช่นนี้ได้แล้ว ข้อแนะนำของคุณสุพริศร์ สุวรรณิก จากบทความที่ยกขึ้นมาข้างบนนั้นถือว่าเป็นบทสรุปที่ดีต่อการเปรียบเทียบประเทศอย่างไม่มีมูล ซึ่งเขาได้ว่า “การถกเถียงนั้นควรอยู่บนหลักของเหตุผล ตรรกะ และข้อมูลจริง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคม” [2]
อ้างอิง :
[1] รายงานข่าว “นายกฯ ศรีลังกา รับ ‘เศรษฐกิจพังพินาศ’ แล้ว” สำนักข่าว Voice of America (VOA)
[3] ข้อมูลหนี้สาธารณะคงค้าง จาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
[4] ภาพรวมหนี้สาธารณะ – หนี้ในประเทศและต่างประเทศ จาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
[5] รายงาน “วิกฤตการณ์หนี้ศรีลังกา” (Sri Lanka’s debt crisis) คลังความคิด รัฐสภายุโรป (Think Tank, European Parliament)
อ้างอิงรายงานของ IMF
[6] บทความ “ทุนสำรองฮวบเฉียด 3 หมื่นล้านเหรียญ กรุงไทย ชี้ ธปท. ดูแลค่าบาท” ประชาชาติธุรกิจ
[7] ข้อมูลการส่งออกประเทศศรีลังกา เว็บไซต์ Trading Economics (tradingeconomics.com)
[8] ข้อมูลดุลการค้าประเทศศรีลังกา เว็บไซต์ Trading Economics (tradingeconomics.com)
[9] ข้อมูลการส่งออกประเทศไทย เว็บไซต์ Trading Economics (tradingeconomics.com)
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข คอลัมนิสต์เว็บไซต์ประชาไท และอดีตนักโทษคดี ม.112 31 มกราคม 2566
กสทช.มีมติเอกฉันท์ เรียก 600 ล้านบาทคืนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ปมปล่อยให้กล่องไอพีทีวี “จอดำ” ฟุตบอลโลก 2022
จ่อฟ้องศาลปกครอง ‘ศิริกัญญา’ เผยหากร่าง พรบ. งบประมาณ 2568 ผ่านสภา 3 วาระ จะทำการยับยั้งด้วยการฟ้องศาลปกครอง
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม