
การสร้างนโยบายรัฐสวัสดิการที่ฟุ้งเฟ้อ เพื่อการสร้างความมั่นคงให้แก่กลุ่มอำนาจเผด็จการ แต่ลดทอนการพัฒนาขีดความสามารถของประชาชน
การจะทำรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริงได้นั้น จะสามารถทำได้ด้วย 2 วิธีตามแนวคิดกระแสหลัก คือ หลักการขึ้นภาษีประเภทต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้สูงขึ้น เพื่อให้มีรายได้เข้ารัฐและสามารถสนับสนุนรายจ่ายสวัสดิการแบบเข้มข้นซึ่งจะต้องมีการใช้จ่ายมหาศาล ซึ่งสามารถพบได้ในประเทศแถบนอร์ดิก จำพวกประเทศนอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ก รวมทั้งประเทศในแถบยุโรปใต้บางส่วน
กับอีกรูปแบบหนึ่งของรัฐสวัสดิการ คือ หลักการใช้กองทุนกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรในกองทุนซึ่งมาจากการสมทบของนายจ้างและลูกจ้าง โดยที่รัฐแทบไม่ต้องสนับสนุนมากนักและไม่จำเป็นต้องจัดเก็บภาษีในระดับสูง ซึ่งกรณีของประเทศสิงค์โปร์ที่มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง หรือกรณีของประเทศฮังการีที่มีการใช้ระบบประกันสังคมในการทำหน้าที่สนับสนุนระบบสวัสดิการหลักของประเทศ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลรัฐสวัสดิการที่ใช้ระบบกองทุนกลางในการบริหารจัดการโดยตรง
อย่างไรก็ตาม รัฐสวัสดิการไม่ได้มีเพียง 2 วิธีตามแนวคิดกระแสหลักเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วยังมีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นวิธีหลัก แต่ก็มีการใช้รูปแบบนี้ในหลายประเทศ โดยสามารถเรียกระบบรัฐสวัสดิการแบบนี้ได้ว่า “รัฐสวัสดิการแบบให้เปล่า” ซึ่งภาครัฐจะให้สวัสดิการและการสนับสนุนแก่ประชาชนในลักษณะต่าง ๆ อย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันฝั่งประชาชนก็ไม่ต้องตอบแทนอะไรแก่ประเทศเลย โดยเพียงแบรับความช่วยเหลือเท่านั้น
ที่บอกว่า ไม่ต้องตอบแทนเลย ก็มีทั้งไม่ต้องทำงานเลยหรือถ้าทำก็จะได้ทำในหน่วยงานภาครัฐที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่สะดวกสบาย แถมเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ซึ่งบางประเทศนั้น แทบจะไม่เสียภาษีเลยด้วยซ้ำ และในบางช่วงเวลาก็จะมีเงินพิเศษจากรัฐบาลไหลเข้ากระเป๋าของประชาชนฟรี ๆ อีกต่างหาก กลายเป็นว่าไม่ต้องเสียภาษี ได้สวัสดิการเต็มเหนี่ยว แถมได้เงินฟรี ๆ เป็นของแถม ในฐานะพลเมืองประเทศ
แต่อย่าเพิ่งดีใจไป โมเดล “รัฐสวัสดิการแบบให้เปล่า” เป็นโมเดลที่อยู่บนหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ 1.ต้องมีจำนวนประชากรที่น้อยเพื่อให้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณมากเกินไป 2.ต้องมีทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถใช้เลี้ยงดูคนในประเทศ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุสำคัญอื่น ๆ ฯลฯ 3.ต้องสามารถควบคุมประชากรไม่ให้มีปากมีเสียงเพื่อให้มีอำนาจปกครองเต็มรูปแบบอย่างสมบูรณ์
เหตุผลสำคัญที่ “รัฐสวัสดิการแบบให้เปล่า” เป็นเครื่องมือที่บรรดาผู้นำอำนาจนิยมและผู้นำประชานิยมส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ก็เนื่องจากว่า การที่ภาครัฐเป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนแก่ประชาชนเพียงอย่างเดียวจากการถือครองทรัพยากรจำนวนมหาศาล โดยไม่มีการรับการสนับสนุนกลับผ่านกลไกภาษีหรือกลไกทางเศรษฐกิจปกติทั่วไป เป็นการสร้างจิตสำนึกทรงพลังให้ประชาชนตรงนั้นได้รับรู้ว่า รัฐจะเป็นผู้สนับสนุนและเกื้อกูลทุกอย่างในชีวิตโดยที่ประชาชนไม่ต้องทำอะไรให้รัฐ ซึ่งกลายเป็นการสร้างอำนาจขนาดใหญ่ให้กับภาครัฐเป็นอย่างดี
ภาวะตรงนี้คือการทำให้ปกครองได้ง่าย ซึ่งอาจดูขัดกับแนวคิดปกครองบางสำนักที่เชื่อว่า “ปล่อยให้โง่ จน เจ็บ และให้เพียงเล็กน้อย” ก็จะปกครองได้ง่าย แต่ความจริงแล้วหากมีการเลี้ยงดูให้มีฐานะและอุดมสมบูรณ์จากรายได้มหาศาลจากทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่ต้องให้ประชาชนทำงานหนักอะไรมากนักและไม่ต้องให้เสียภาษีอะไรมากด้วย ก็จะเป็นการสร้างชุดความคิดให้ประชาชนมองรัฐนั้นเป็นกลาย ๆ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำหน้าที่อุ้มชูพวกเขาให้อิ่มสุขสบายโดยไม่ต้องทำอะไร และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อปกป้องรัฐบาลและผลประโยชน์ของตน
เพราะตามหลักที่ถูกต้องนั้น การที่มนุษย์จะอยู่อิ่มสบายและมีฐานะจะต้องมาจากการลงแรงลงสมองในการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิตทางเศรษฐกิจตามกลไกตลาดซึ่งใครที่ทำมากและทำถูกจุดก็จะสามารถอยู่อิ่มสบายและมีฐานะในกติกาสากลนี้ ซึ่งการมีความสามารถทางเศรษฐกิจก็ถือได้ว่าเป็นการพึ่งพาตนเองในอีกทางหนึ่งได้เหมือนกัน เพราะเมื่อสามารถหารายได้ได้ในระดับหนึ่งจากการลงแรงลงสมอง ก็จะพึ่งพิงความช่วยเหลือจาคภาครัฐน้อยลงและเริ่มที่จะสามารถส่งต่อความสุขสบายเหล่านี้บางส่วนให้ผู้อื่นผ่านกลไกบริจาคและภาษี
ส่วนเรื่องระบบภาษีนั้น หากมองลึก ๆ แล้วก็จะพบว่า การเก็บภาษีจากภาครัฐต่อประเทศก็คล้าย ๆ กับสัญญาประชาคมในรูปแบบหนึ่งที่เมื่อภาครัฐเก็บภาษีจากรายได้ของประเทศแล้วก็จะนำภาษีไปใช้ในการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ อีกทั้งประชาชนก็จะเข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายของภาครัฐเพราะเงินของภาครัฐที่ใช้ก็มักมาจากภาษีที่มีการจัดเก็บจากประชาชนอีกที ทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐจะต้องใช้จ่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเพื่อให้คุ้มค่าต่อเม็ดเงินเหล่านี้ที่ได้รับไป
ทว่า ในประเทศที่แทบไม่มีการเก็บภาษีเลยเพราะมีรายได้แทบทั้งหมดจากทรัพยากรธรรมชาติ และยังมีการให้สวัสดิการแบบจัดเต็มนั้น ถ้าสังเกตดี ๆ จะเข้าใจเลยว่า ประเทศเหล่านี้โดยส่วนใหญ่ต่างก็มักถูกมองจากสังคมโลกส่วนใหญ่ว่าเป็นอำนาจนิยมบ้าง ประชานิยมสุดขั้วบ้าง และตราบใดที่รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติยังมีอยู่มหาศาล โมเดลรัฐสวัสดิการแบบให้เปล่านี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป
และโมเดลรัฐสวัสดิการแบบให้เปล่านี้ก็ไม่ได้มีเพียงจุดเด่นเท่านั้น จุดด้อยก็มี เพราะประชาชนที่อยู่ในบริบทนั้นก็มักจะขาดแรงจูงใจในการกระตุ้นตนเองให้มีผลิตผลทางการทำงาน (Productivity) เพราะอย่างไรก็มีการสนับสนุนจากรัฐแบบจัดเต็ม และก็จะมักขาดแรงจูงใจในการตรวจสอบภาครัฐรวมทั้งมีส่วนร่วมในการเมืองของประเทศตนเอง เพราะไม่รู้สึกว่าตนเองสูญเสียอะไรจากการไม่ตรวจสอบภาครัฐและมีส่วนร่วมทางการเมือง
แล้วหากเห็นต่างทางการเมืองและขัดแย้งกับภาครัฐรุนแรงก็จะเผชิญผลที่ตามมารุนแรง ซึ่งบทลงโทษหนัก ๆ ที่มักใช้กับนักโทษการเมืองในกรณีดังกล่าว คือ การถอนสัญชาติ ซึ่งการมีสัญชาติอยู่คือหลักประกันการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องต่าง ๆ แถมแทบไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด และหากมีการถอนสัญชาติจริง ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอีกซึ่งจะต้องปากกัดตีนถีบเองเพื่อให้อยู่รอดในบริบทสังคมโลก ทำให้การเห็นต่างทางการเมืองในประเทศเหล่านี้ดูเหมือนจะได้ไม่คุ้มเสียเท่าไหร่นักสำหรับพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ
หนักกว่านั้น คือ ถ้าวันไหนวันหนึ่ง ราคาทรัพยากรธรรมชาติได้ผันผวนรุนแรงและไม่ได้มีการเตรียมการรับมือไว้ ก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจแทบจะพังทลายในพริบตาและย่อมนำสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่เป็นเสาหลักในการทำให้ภาครัฐของประเทศโมเดล “รัฐสวัสดิการให้เปล่า” สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไปใช้ตามใจชอบโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบแต่อย่างใด เพราะอย่างไรก็มีการแบ่งให้ประชาชนส่วนหนึ่งอยู่อิ่มสบายอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว
สุดท้ายนี้ โมเดลรัฐสวัสดิการแบบให้เปล่า เป็นรัฐสวัสดิการที่ไม่ได้เป็นแนวคิดกระแสหลัก เพราะเป็นสวัสดิการที่ประชาชนดูเหมือนไม่ต้องจ่ายอะไร ทั้งในรูปแบบของเงินภาษีหรือการลงแรงทางเศรษฐกิจ เพื่อแลกกับสวัสดิการดังกล่าว แต่ในกลไกแบบให้เปล่าที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น สุดท้ายแล้วประชาชนในประเทศเหล่านี้ก็ต้องจ่ายอยู่ดี
เพียงแต่การจ่ายนั้น ก็เพียงจ่ายในลักษณะของการไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงในทางการเมือง ไม่มีสิทธิ์ตรวจสอบการใช้จ่ายในทุกกรณี เพราะไม่ได้จ่ายภาษีเลย และทำได้เพียงนั่งเฉย ๆ พร้อมภาวนาในใจว่า ภาครัฐจะบริหารทรัพยากรธรรมชาติและทำให้พวกเขายังคงอยู่สุขสบายทั้งชีวิตด้วยสวัสดิการและความช่วยเหลือแบบเหลือเฝือจากภาครัฐ พร้อมหวังว่า ความสุขสบายทุกอย่างของประชาชนจะไม่พังทลายและแกมบังคับให้พวกเขาต้องทำงานเพื่ออยู่รอดเหมือนประชากรส่วนใหญ่บนโลกก็เท่านั้นเอง
โดย ชย
อ้างอิง:
[1] Why Do Authoritarian Regimes Provide Welfare?
https://www.researchgate.net/publication/339513396_Why_Do_Authoritarian_Regimes_Provide_Welfare
[2] Journal of Comparative Economics
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0147596718305018
[3] Middle East protests: Careful what you wish for
https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/middle-east-protests-careful-what-you-wish
[4] Well-Being, Social Policies and Development in the Middle East and North Africa Region (MENA) – State of Play and Challenges for Improvement
[5] Militarism and Welfare Distribution in the Middle East and North Africa
https://dergipark.org.tr/tr/download/article-file/700263