มีโครโมโซม XY สามารถมีมดลูกได้หรือไม่? เข้าใจกลุ่มโรค ‘ความผิดปกติของพัฒนาการระบบอวัยวะเพศ’ โดย ‘พี่กลาง หอสมุดแห่งชาติ ของแทร่’
จากประเด็นดราม่าเรื่องเพศสภาพของอิมาน เคลิฟ นักชกหญิงชาวแอลจีเรีย ซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ยืนยันว่าเธอเป็นเพศหญิง ในขณะที่สมาคมมวยสากลนานาชาติ (IBA) ระบุว่าเธอมีโครโมโซมเพศชาย (XY)
ทำให้มีผู้ติดตามของ พี่หมอกลาง-นพ. ณัฐกานต์ พิชญวงศ์ภักดิ์ นายแพทย์ด้านความงาม และอินฟลูเอ็นเซอร์ด้านการแพทย์ เจ้าของเพจ “พี่กลาง หอสมุดแห่งชาติ ของแทร่” ถามเขาว่าผู้มีโครโมโซม XY สามารถมีมดลูกได้หรือไม่ ? ซึ่งพี่หมอกลางได้โพสต์คลิปตอบคำถาม เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ว่า
ในคำว่า LGBTQI+ นั้นตัว “I” หมายถึง Intersex หมายความว่าระบุเพศได้ไม่ชัดเจน (ภาวะเพศกำกวม) แต่คำนี้ถือว่าเป็นศัพท์เก่าแล้ว ในทางการแพทย์ใช้คำว่า Disorders of Sex Development หรือ DSD (ความผิดปกติของพัฒนาการระบบอวัยวะเพศ) ซึ่งอธิบายได้ดีกว่า แต่ทั้งนี้คำว่า Sex ในที่นี้หมายถึงเพศในระหว่างขา ไม่ใช่ในสมอง ขอให้แยกออกจากกัน เนื่องจากเพศในระหว่างขานั้นผิดปกติ แต่เพศในสมองไม่มีคำว่าผิดปกติ
DSD นี้ไม่ถือว่าเป็นโรค แต่เป็น “กลุ่มโรค” ซึ่งมีจำนวนโรคในกลุ่มนี้อยู่มากมาย ซึ่งการจะทำความเข้าใจในโรคกลุ่มนี้ ต้องทำความเข้าใจกับการเจริญเติบโตตามปกติก่อน โดยเมื่อทารกเป็นตัวอ่อนในท้องแม่นั้นจะถือว่ามีเพศเดียวกัน เป็นเพศตรงกลาง
โครโมโซมเพศ (Sex Chromosome) จะเป็นตัวสั่งให้เกิดการแยกเพศ โดย XX เป็นเพศหญิง และ XY เป็นเพศชาย ผ่านการกำหนดอวัยวะสืบพันธุ์ (Gonad-ต่อมเพศ) ซึ่ง Gonad ในที่นี้มิได้หมายถึงองคชาติ หรือโยนี ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้เรียกว่าอวัยวะเพศ หรือเครื่องเพศ (Genitalia) และจะตามมาในภายหลัง
ในฝั่งผู้ชายจะมี Ginad ที่เรียกว่าอัณฑะ (testicle หรือ testis) ในขณะที่ผู้หญิงจะเป็นรังไข่ (Ovary) ซึ่งอวัยวะทั้ง 2 นี้จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศ (Sex Hormone) โดยในเพศชายจะสร้างฮอร์โมนเทสโทสโรน (Testosterone) ในเพศหญิงจะสร้าง ฮอร์โมนเอสตราไดออล (Estradiol) หรือเอสโทรเจน (Estrogen) แบบแรง ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 นี้จะไปทำให้อวัยวะเพศเจริญเติบโตในลำดับต่อไป
อย่างไรก็ตาม เครื่องเพศยังสามารถแบ่งออกได้อีก 2 ประเภทคือ เครื่องเพศด้านนอก และเครื่องเพศด้านใน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาแยกกัน โดยเครื่องเพศด้านนอกก็คือองคชาติ (ผู้ชาย) และโยนี (ผู้หญิง) ในขณะที่เครื่องเพศด้านในสำหรับผู้ชายคือท่อสร้างอสุจิทั้งหลาย และของผู้หญิงก็คือรังไข่
สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ ในเพศชายจะมีการสร้าง Mullerian Inhibiting Factor (MIF) ขึ้นมาเพื่อไปยับยั้งการสร้างเครื่องเพศหญิงด้านในเท่านั้น ถ้าผิดไปจากนี้แม้แต่นิดเดียวถือว่าเข้าข่าย DSD ทันที
นพ. ณัฐกานต์ กล่าวว่าโรคที่ใกล้เคียง (กับกรณีของอิมาน) ที่สุดคือ Androgen Insensitivity Syndrome (AIS) ซึ่งเป็นกรณีที่คนไข้เป็น XY แต่ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเป็นกรณีที่ร่างกายไม่สร้างฮอร์โมนเทสโทสโรน ทำให้ร่างกายไม่มีทั้งท่อสร้างอสุจิ และองคชาติ
และเทสโทสโรนเหล่านี้จะไปถูกเอ็มไซม์อะโรมาเตส (Aromatase Enzyme) เปลี่ยนให้เป็นเอสตราไดออล ดังนั้นเขาจะมีโยนี และก็มีนมได้ด้วย เพราะเขามีฮอร์โมนเพศหญิง
“เพราะฉะนั้น คนไข้คนนี้เขาจะโตมาแบบผู้หญิงปกติเลย แต่จะมางงตอนเข้าสู่วัยรุ่นครับ จะไม่มีขนเพราะไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเทสโทสโรน แล้วก็จะไม่มีเมนส์ เพราะไม่มีรังไข่ ไม่มีมดลูก” นพ. ณัฐกานต์กล่าว
อย่างไรก็ดี นพ. ณัฐกานต์กล่าวยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าข้อสันนิษฐานของตนนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะไม่มีข้อมูลมากพอต่อการวินิจฉัย