
ทำความเข้าใจกับโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันไทย
เมื่อเราพูดถึงภาพรวมทั้งหมดของราคาน้ำมันที่ขายปลีกกันในท้องตลาด มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือคำพูดที่ว่า “ราคาน้ำมันแพง” นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงราคาน้ำมันในปัจจุบัน ซึ่งก็มีหลายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจจะถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง
.
เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันไทย เพื่อให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจว่าราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่จำหน่ายในหน้าปั๊มประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
.
- ต้นทุนเนื้อน้ำมัน คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่นหลังผ่านกระบวนการกลั่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือที่เรียกว่า ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ซึ่งจะผันผวนไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
.
- ภาษี ประกอบด้วย
2.1 ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับสินค้าทุกชนิด หลังการผลิตแล้วจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตทั้งสิ้น
2.2 ภาษีเทศบาล จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้ กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นต่าง ๆ
2.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด เช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น ซึ่งจะมีเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
.
- กองทุน ประกอบด้วย
3.1 เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน
3.2 เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน
*ทั้งสองกองทุนถูกตั้งขึ้นเพื่อช่วยไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนหากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันหรือราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ด้วยการรักษาระดับราคาค้าปลีกไม่ให้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป
.
- ค่าการตลาด คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
*น้ำมันที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมัน หรือ “ปั๊ม” เพื่อรอการเติมโดยผู้บริโภค ก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ตั้งแต่การสร้างระบบเก็บน้ำมัน การขนส่งน้ำมัน การให้บริการของพนักงานภายในปั๊ม รวมทั้งการทำการตลาดและโฆษณา ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายของทางบริษัทน้ำมัน
.
จะเห็นได้ว่าโครงสร้างราคาน้ำมันที่จัดจำหน่ายในหน้าปั๊ม มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง หากทุกคนมีความเข้าใจในโครงสร้างราคาน้ำมัน คงทราบกันดีว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งหลายประเทศก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน และด้วยเหตุที่ประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การมีอยู่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะช่วยรักษาสมดุลของราคาน้ำมันในประเทศ เพื่อลดความรุนแรงหากเกิดวิกฤตราคาน้ำมัน ข้อเท็จจริงนี้อาจช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดของคนไทยบางส่วนที่อาจคิดว่าราคาน้ำถูกตั้งขึ้นเอง เพื่อเป็นผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้ค้า เพราะในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย