รู้จัก พรบ. การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562
รู้จัก พรบ. การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562
สืบเนื่องจากกระแสต่อต้านการทำ MOU44 ระหว่างไทย-กัมพูชา และมีกระแสการหยิบยกเอา พรบ. การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562 ขึ้นมากล่าวอ้างว่า พรบ. ฉบับนี้นั้น เป็นกฎหมายที่จะสามารถหยุดยั้งการทำ MOU 2544 ได้
The Structure จึงสรุปสาระสำคัญ และองค์ประกอบของ พรบ. ฉบับนี้
— จุดมุ่งหมาย —
พรบ. ฉบับนี้มีการระบุถึงเหตุผลในการประกาศใช้ พรบ. ฉบับนี้เอาไว้ท้าย พรบ. โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า กฎหมายเดิมที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร
อีกทั้งการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในปัจจุบันนั้น มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่ามิติด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ยังรวมไปถึงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร หรือด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยปฏิบัติงานหลักเพื่อรับผิดชอบดำเนินการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีเอกภาพ บูรณาการ และประสานการปฏิบัติงานในเขตทางทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หรือโดยสรุปแล้ว พรบ. ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้งหน่วยงานบูรณาการ ด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลขึ้นมานั่นเอง
— ตั้งหน่วยงานใดขึ้นมาบ้าง —
พรบ. ฉบับนี้ ได้มีการระบุถึงหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พรบ. ฉบับนี้ขึ้น 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย
1 คณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) ตามความในหมวด 1
2 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ตามความในหมวด 2
— นปท. คืออะไร —
นปท. เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล และให้คำแนะนำ คำปรึกษา และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารจัดการการรักษา ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นประธาน มี รมว. และปลัดกระทรวงจาหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง, ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานหลายหน่วยงาน และผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นสมาชิก นปท. โดยตำแหน่ง รวม 27 ตำแหน่ง
และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญอันเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล อีก 3 ท่านที่ได้รับการแต่งตั้งตามวาระ 3 ปี เป็นสมาชิก
หรืออาจจะเปรียบว่า นปท. นั้นมีสถานะใกล้เคียงกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ได้ โดยมีความมุ่งหมายจำเพาะเจาะจงไปที่การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเป็นหลัก
— ศรชล. คืออะไร —
ศรชล. มีหน้าที่และอำนาจและ รับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ศรชล., ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นรอง ผอ. และเสนาธิการทหารเรือเป็นเลขาธิการ ศรชล. โดยตำแหน่ง
มีอำนาจหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน สั่งการ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และมีอำนาจในการรายงาน เสนอแผนงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกด้วย
ในหมวดที่ 3 ของ พรบ. ฉบับนี้ กำหนดให้ในภาวะปกติ ศรชล. มีหน้าที่ในควบคุม ดูแล และบูรณาการภารกิจเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ในกรณีที่ภารกิจนั้นเกินขีดความสามารถที่หน่วยงานรัฐหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งจะสามารถรับผิดชอบได้
และบูรณาการขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐเข้าด้วยกันในการป้องกัน ปราบปราม หรือแก้ไขปัญหา เหตุการณ์ หรือการกระทำผิดกฎหมายที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อ ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเล
และในสถานการณ์ไม่ปกติ ศรชล. มีอำนาจในการกำกับควบคุมหน่วยงานของรัฐเพื่อกำกับดูแล ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง จัดการ แก้ไข หรือบรรเทาปัญหา ที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเลภายในพื้นที่และ ระยะเวลาที่กำหนด
อีกทั้งยังมีการกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ติดชายทะเล เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัด (ผอ.ศรชล.จังหวัด) อีกด้วย
สำหรับหมวด 4 กำหนดกรอบการปฎิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล
และหมวดที่ 5 เป็นการกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ ศรชล. และความผิดฐานอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล
ซึ่งหากพิจารณาจากโครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของ ศรชล. จะเห็นว่า ศรชล.นั้น มีความคล้ายคลึงกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ศรชล. นั่น คือ กอ.รมน. ในฉบับกองทัพเรือนั่นเอง
แต่ทั้งนี้ ศรชล. นั้น ไม่ได้มีรูปแบบโครงสร้างที่เหมือนกับ กอ.รมน. ทั้งหมด โดยมีการวางโครงสร้างของหน่วยงาน ที่มีรูปแบบของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับภารกิจในการดูแลผลประโยชน์ทางทะเล
— สรุป —
จากทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่า ข้อกำหนดใน พรบ. ฉบับนี้นั้น เป็นการออกเพื่อการจัดตั้ง นปท. และ ศรชล. ขึ้นมาเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งในระดับยุทธศาสตร์และนโยบาย โดย นปท. เป็นผู้ดำเนินการ
และ ศรชล. ในฐานะหน่วยงานระดับอำนวยการ เพื่อให้เกิดการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของชาติได้อย่างครอบคลุม
แต่ทั้งนี้ ใน พรบ. ฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของทั้ง 2 หน่วยงานนี้โดยเฉพาะเจาะจง และทั้ง 2 หน่วยงานนี้อาจจะดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ก็ต่อเมื่อได้รับมอบหมายมาจาก ครม. ตามลำดับการบังคับบัญชา