
อาวุธลับที่กำหนดชัยชนะในสงครามยุคใหม่ เข้าใจ 5 โดเมนของสงครามแห่งอนาคต
แม้ว่าภายหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา โลกจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงรูปแบบใหม่มากขึ้น อาทิ โรคระบาด สิ่งแวดล้อม อาชญากรรมข้ามชาติ และอื่นๆ อย่างไรก็ดี หากจะกล่าวถึงความมั่นคงทางในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต
คงเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในมิติของการทหาร เนื่องด้วยปัญหาความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับทหาร หรือความขัดแย้งและการสงครามยังคงเกิดขึ้นให้เห็นด้วยตาเนื้ออยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น ยูเครน-รัสเซีย หรือ อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ในปัจจุบัน
ซึ่งเมื่อลองซูมเข้าไปดูแนวคิดในการรักษาความมั่นคงทางทหารในปัจจุบันจะพบว่ามีการพัฒนาต่อยอดไปไกลกว่าในอดีต ทั้งนี้ก็เพื่อสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบมากขึ้นในปัจจุบัน โดยความมั่นคงทางการทหารในปัจจุบัน ได้ถูกแบ่งออกเป็น 5 โดเมน จากในอดีตที่มีเพียง 3 โดเมน ได้แก่ บก น้ำ อากาศ โดยในปัจจุบันได้เพิ่มเติมมิติของ “ไซเบอร์ และ อวกาศ” เข้าไปด้วย
มันคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร?
คำว่า โดเมน (Domain) ในที่นี้ ตีความได้อย่างง่ายที่สุด ตรงกับคำว่า “ขอบเขต”
ซึ่งในทางการทหารนั่นหมายความถึงขอบเขตของ “พื้นที่การรบ” นั่นเอง
โดยในอดีตที่ผ่านมาโลกของการทหารถูกแบ่งพื้นที่การรบออกเป็น 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ บก น้ำ และอากาศ จึงเป็นสาเหตุที่กองทัพทั่วโลกมีอยู่ 3 เหล่าทัพ ได้แก่ บก เรือ และอากาศ
ซึ่งในอดีตนั้น การรบทางบกก็จะใช้กองทัพบกเข้าฟาดฟันกัน นึกภาพหนังเรื่อง Die Hard หรือสมเด็จพระนเรศวร ที่ถือหอกถือดาบวิ่งชนกันและพัฒนามาเป็นใช้ปืนใช้ระเบิดในที่สุด ทางน้ำก็จะใช้กองเรือเข้าโจมตีกันยิงกันระหว่างเรือ ทางอากาศก็ใช้เครื่องบินสู้กับเครื่องบินนั่นเอง
แต่ต่อมาก็ได้เกิดการพัฒนายุทธวิธีเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการรบ ในลักษณะ Cross domain หรือ “ข้ามขอบเขต” กันมากขึ้น เช่น ใช้เครื่องบินโจมตีเรือรบ ใช้เครื่องบินโจมตีทหารบก หรือใช้ปืนใหญ่เรือโจมตีทหารบกที่อยู่บนฝั่ง เป็นต้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่เป็นมาตลอดหลายร้อยปีก่อนยุคปัจจุบัน
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดเมน หรือ “ขอบเขตพื้นที่การรบ” ใหม่จึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“อวกาศ” และ “ไซเบอร์” กลายเป็นขอบเขตการรบที่มีความสำคัญ
ในมิติด้าน “อวกาศ” ในปัจจุบันปฏิเสธได้ยากว่า ชีวิตของมนุษย์ “ไม่เกี่ยวข้องกับอวกาศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของ “ดาวเทียม” ที่มวลมนุษยชาติต่างแข่งขันกันส่งออกไปนับสงครามเย็นจวบจนวินาทีนี้ ดาวเทียมต่างๆเหล่านี้มีบทบาทและหน้าที่หลากหลาย
ตั้งแต่ด้านการติดต่อสื่อสาร ด้านการถ่ายภาพ ด้านการสอดแนม รวมถึงภารกิจอื่นๆอีกมากมายที่สร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่มนุษย์ทั้งในมิติทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และการพัฒนาอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ปัญหามันอยู่ที่ว่า บนอวกาศนั้น “ไม่มีตำรวจ” อยู่ และแม้ว่าจะมีการสร้างข้อตกลงเรื่องนี้กันระหว่างนานาชาติ แต่ในทางปฏิบัติการควบคุมและบังคับใช้นั้นกลับ “เบาหวิว”
ดังนั้น การแข่งขันกันช่วงชิงพื้นที่บนอวกาศจึงเกิดขึ้นในลักษณะที่ “ใครดีใครได้” และเป็นหนึ่งในเรื่องหลักที่แทบทุกประเทศต่างพยายามแข่งขันกัน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ เพราะใครมีมาก ใครมีของดี ก็คว้าเอาประโยชน์ได้มาก
หลังจากนี้ ถ้าได้เห็นว่าประเทศไทยจะส่งดาวเทียมออกไป ก็อย่าไปคิดว่ามันเป็นเรื่องเลอะเทอะนะครับ มันสำคัญจริงๆ ในโลกยุคปัจจุบัน
เมื่อโฟกัสต่อในมิติด้านการทหารจะพบว่าในด้านอวกาศนั้น เป็นพื้นที่การรบที่ Cross domain หรือมีการข้ามขอบเขตที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแทบทุกภารกิจของทหาร เช่น สามารถ cross กับโดเมนต่างๆด้วยการเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจการณ์ สืบหาข่าว
และดูความเคลื่อนไหวของยุทโธปกรณ์ เช่น รถถัง เรือ เครื่องบิน ไปจนถึงคนตัวเล็กๆ เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เราสามารถมองเห็นทุกอย่างได้แบบ “เรียลไทม์” ผ่านการทำงานของดาวเทียม จนนำไปสู่การวางแผนการโจมตีอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ โดเมนด้านอวกาศ ก็ยังสามารถข้ามไปกระทบโดเมนด้าน ไซเบอร์ ได้ด้วยเช่นกัน เพราะการติดต่อสื่อสารในปัจจุบัน รวมถึงอินเตอร์เน็ต ก็มีการพึ่งพาดาวเทียมในการทำงาน ดังนั้น ดาวเทียมจึงสามารถเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญในการบั่นทอนคุณภาพของการติดต่อสื่อสารและการปฏิบัติการทางไซเบอร์ของฝ่ายตรงข้าม
ในมิติด้าน “ไซเบอร์” เป็นมิติที่มีพลังอำนาจอย่างมาก เพราะปัจจุบันวิถีชีวิตของเรา “แทบไม่มีสิ่งไหนเลยที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์”
“ที่ใดมีระบบคอมพิวเตอร์ ที่นั่นมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์” คำกล่าวนี้ ไม่เกินจริง
ความยากของเรื่องนี้จึงเป็นความจริงที่ว่า ไซเบอร์ สามารถ cross ไปยังโดเมนอื่นๆได้ตลอดเวลา และกินพื้นที่ตั้งแต่ อวกาศ (ใช่ครับ ดาวเทียมก็โดนโจมตีทางไซเบอร์ได้เช่นกัน) ระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับชาติ ไล่ลงไปจนถึงระดับบุคคล ซึ่งรวมถึงเราๆท่านๆ และลุงดำป้าเมี้ยนที่ขายของอยู่ในตลาดที่ปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายไปเสียแล้ว การรับมือจึงยากขึ้นเป็นเงาตามตัว
การโจมตีทางไซเบอร์ต่อหน่วยงานระดับชาติ อาจเกิดขึ้นได้ผ่านคนตัวเล็กๆ ในองค์กร เช่น ผ่านมือถือของป้าแม่บ้าน หรือแม้แต่ USB อันเดียวของใครคนใดคนหนึ่ง ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วกับเพนตากอนที่ระบบทั้งกระทรวงล่มลงเพราะ USB เพียงอันเดียว
รวมไปจนถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีการโจมตีทางไซเบอร์ต่อกัน นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้นำในหลายประเทศ จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟน เพื่อป้องกันการโจมตีเข้าสู่ข้อมูลและกิจการสำคัญนั่นเอง
นี่คือขอบเขตพื้นที่การรบใหม่ในโลกยุคปัจจุบัน ที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ ประเทศต่างๆเริ่มพัฒนาตัวเองเพื่อความพร้อมและการช่วงชิงความได้เปรียบ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาที่ในปัจจุบันได้มีกองทัพใหม่ที่เรียกว่า US Space Force หรือ กองทัพอวกาศ รัสเซียที่มี Russian Air and Space Forces เป็นหนึ่งในกองทัพที่มีความสำคัญเทียบเท่ากองทัพบก เรือ และอากาศ เลยทีเดียว
ในส่วนของประเทศไทยเรา แม้ว่าด้านเทคโนโลยีเราอาจจะยังสู้มหาอำนาจได้ยาก แต่ก็มีการริเริ่มพัฒนาแล้ว โดยกองทัพอากาศไทย กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นกองทัพอากาศและอวกาศในอนาคตอันใกล้นี้ ก็ขอเป็นกำลังใจให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้โดยเร็วเพื่อคนไทยทุกคน
ในส่วนของกองทัพไซเบอร์ ลำพังกองทัพเพียงอย่างเดียวคงรับมือได้ยาก เพราะขอบเขตมันช่างกว้างใหญ่เสียเหลือเกิน ดังนั้น การสร้างกองทัพไซเบอร์ที่ดีที่สุด อาจเป็นการสร้างจาก “คนทุกคน” ในสังคม ผ่านการให้ความรู้ ให้การฝึกฝนพื้นฐาน และให้คนทุกคนในสังคมช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันทั้งตัวเองและส่วนรวม
ร้อยเอก ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ
ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาการทูตและการต่างประเทศ
คณะการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ