Articlesบทความนักเขียน“เลิกซื้อแล้วนะ” เสียงลูกค้าที่เขย่ายอดขาย 4 ขั้นตอนการฟื้นฟู ‘วิกฤตศรัทธา’ ของลูกค้าที่เคยมีต่อ Brand แก้ไขข้อผิดพลาดอย่างมีเกียรติในสายตาลูกค้าของคุณ

“เลิกซื้อแล้วนะ” เสียงลูกค้าที่เขย่ายอดขาย 4 ขั้นตอนการฟื้นฟู ‘วิกฤตศรัทธา’ ของลูกค้าที่เคยมีต่อ Brand แก้ไขข้อผิดพลาดอย่างมีเกียรติในสายตาลูกค้าของคุณ

ในวันที่ยอดขายยังพอไปต่อ แต่เสียงในโซเชียลกลับสะท้อนคำว่า “เลิกซื้อแล้วนะ” คำถามสำคัญคือ เราจะยังเรียกแบรนด์ของเราว่า Strong Brand ได้หรือไม่?

เรากำลังอยู่ในโลกที่ “เสียงของลูกค้า” ไม่ได้เป็นแค่เสียงประกอบของยอดขายอีกต่อไป แต่มันคือพลังของการตัดสินชะตาแบรนด์ และเมื่อ “Trust” กลายเป็น Currency ใหม่ของแบรนด์ในยุคที่คนซื้อเชื่อรีวิวมากกว่าโฆษณา เราจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึงคำว่า Trust Crisis (วิกฤติศรัทธา) อย่างตรงไปตรงมา

Trust คือทุน แต่ Trust Crisis คือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเมื่อผิดพลาด

ผมเคยพูดไว้ในการบรรยายกับผู้บริหารหลายครั้งว่า Brand ไม่ได้ตายเพราะขายของไม่ออก แต่ตายเพราะคนเลิกศรัทธา ต่างหาก

ความเชื่อใจในแบรนด์นั้นเปราะบางกว่าที่เราคิด เพราะมันไม่ได้สร้างจากโฆษณา แต่มันสะสมจากพฤติกรรมเล็ก ๆ ที่แบรนด์แสดงออกซ้ำ ๆ และเมื่อลูกค้าเริ่มรู้สึกว่า “ไม่เหมือนเดิม” “ไม่จริงใจ” หรือ “ไม่แคร์” สัญญาณของ Trust Crisis ก็เริ่มดังขึ้นอย่างเงียบ ๆ

ที่น่ากลัวกว่าคือมันไม่ได้มาทีละนิด แต่มักระเบิดพร้อมกัน เมื่อเสียงของลูกค้าเปลี่ยนจากเสียงเชียร์เป็นเสียงเชือด

UGC ที่เคยพาแบรนด์เติบโต กลับกลายเป็นดาบสองคม

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน แบรนด์ยังเป็นเจ้าของเนื้อหา คนยังรอชมโฆษณา หรืออย่างน้อยก็เปิดฟังคลิปก่อนกดข้าม 5 วินาที แต่วันนี้ แบรนด์อาจไม่ใช่คนสร้าง Narrative หลักอีกต่อไป เพราะคนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ คือเพื่อนของลูกค้า คนในกลุ่ม Facebook และคอมเมนต์ใต้โพสต์ที่คนแคปส่งต่อกัน

นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ UGC (User-Generated Content: คอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากลูกค้าของแบรนด์ตัวจริง) กลายเป็นพลังสูงสุดของ Trust Economy (เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยความไว้ใจ)

แต่พลังนั้นเองก็สามารถย้อนกลับมาเผาแบรนด์ได้ หากเกิดการเข้าใจผิด ถูกแฉ หรือกระทั่ง…โดนเล่นงานจากคู่แข่งในโลกออนไลน์

ตัวอย่างมีให้เห็น และมันใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

เคสอย่าง #แบนลาซาด้า แสดงให้เห็นว่าแม้แบรนด์ใหญ่แค่ไหน ถ้าผูกชีวิตไว้กับ Influencer แล้วเกิดเรื่อง แบรนด์ก็เจ็บหนักได้

เคสของ Gumi Gumi ที่โดนลากไปกับดราม่าการเมือง คือภาพสะท้อนของการที่แบรนด์ไทยเล็ก ๆ ไม่ได้มีแค่คู่แข่งในตลาดเดียวกันอีกต่อไป แต่กำลังอยู่ในสนามที่อ่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรม

ในต่างประเทศ Dove เคยโดนวิจารณ์ว่าโฆษณาเหยียดสีผิว Netflix เคยถูกแบนจากกลุ่มคริสเตียนหัวอนุรักษนิยมเพราะเนื้อหาซีรีส์บางตอน

Trust Crisis จึงไม่ใช่เรื่องของแบรนด์เล็กหรือใหญ่ แต่เป็นเรื่องของ “คุณเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในใจคนทันหรือเปล่า”

Brand Recovery Framework ฟื้นความเชื่อใจ ต้องไม่เริ่มที่ PR แต่เริ่มที่ “ใจ”

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดใน Trust Crisis ไม่ใช่การโดนด่า แต่คือการตอบสนองผิดจังหวะ

ถ้าแบรนด์รีบอธิบายโดยไม่รับฟัง รีบชี้แจงโดยไม่ขอโทษ หรือรีบโพสต์ยาว ๆ โดยไม่คิดถึงความรู้สึกลูกค้า นั่นคือการ “ซ้ำเติม” ไม่ใช่ “เยียวยา”

ผมขอเสนอ 4 Journey ในการจัดการ Trust Crisis ดังนี้

  1. Accept & Acknowledge  ยอมรับก่อนว่าแบรนด์พลาด

คำว่า “เราขออภัยหากเนื้อหาไม่เหมาะสม” อาจฟังดูสุภาพ แต่ก็ฟังดูไม่จริงใจ สิ่งที่ลูกค้าต้องการไม่ใช่คำพูดที่ปลอดภัย แต่คือคำพูดที่รู้สึกได้ว่า “เข้าใจจริง ๆ ว่าทำให้เขาเสียใจตรงไหน”

  1. Empathy First ต้องเห็นใจ ก่อนจะอธิบาย

นี่คือสิ่งที่หลายแบรนด์พลาด พวกเขารีบชี้แจง รีบให้เหตุผล จนลืมว่า คนไม่ใช่ต้องการข้อเท็จจริงทันที แต่ต้องการความรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้โดนละเลย

  1. Act ต้องมีการกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูด

หลังจากขอโทษแล้ว สิ่งที่แบรนด์ต้องทำคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกระบวนการจริง ๆ ไม่ใช่แค่พูดปลอบใจ

Dove ลงทุนทำแคมเปญ Real Beauty เพื่อสนับสนุนความหลากหลาย Netflix สร้างระบบเรตติ้งและ Parental Control ที่เข้มขึ้น Gumi Gumi ตอบโต้ด้วยการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้เป็นกลางและโฟกัสเรื่องคุณภาพมากกว่าการโต้กลับ

  1. Listen Again ฟังใหม่ เมื่อใจเริ่มกลับมา

หลายแบรนด์คิดว่าขอโทษครั้งเดียวจบ แต่ในยุคนี้ การสร้าง Brand Trust คือการเปิดช่องทางฟังความเห็นอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ Q&A สาธารณะ Townhall กับผู้ใช้ ไปจนถึงการเปิดกล่องข้อความให้ทีมแบรนด์ลงไปตอบเอง

ความไว้ใจ ไม่ใช่ของที่ซื้อได้ด้วยงบโฆษณา แต่มาจากการซื่อสัตย์ในวันที่ยากที่สุด

Trust ไม่ใช่สิ่งที่เราสร้างในวันที่ยอดขายดี แต่เป็นสิ่งที่เราพิสูจน์ได้ในวันที่แบรนด์ล้ม

สิ่งที่แบรนด์ไทยต้องเรียนรู้คือ ความผิดพลาดไม่ใช่จุดจบ แต่วิธีตอบสนองต่างหากคือเครื่องชี้วัด

อย่าให้เสียงในโซเชียลกลายเป็นศาลเตี้ยที่จะพิพากษาแบรนด์ แต่จงทำให้มันกลายเป็นเวทีที่เรากล้ากลับขึ้นไปและแสดงความจริงใจให้คนเห็น

ในท้ายที่สุด แบรนด์ที่รอด ไม่ใช่แบรนด์ที่ไม่เคยพลาด แต่คือแบรนด์ที่รู้จักเรียนรู้ ปรับตัว และ “ฟื้นจากความผิดพลาดอย่างมีเกียรติ” ต่างหากครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า