
สหรัฐไม่จำเป็นต้อง ส่งทหารเข้าไปฉนวนกาซา เพราะอิสราเอลจะส่งมอบฉนวนกาซาให้สหรัฐหลังสู้รบจบ และทรัมป์จะพัฒนาให้เป็น ริเวียร่าแห่งตะวันออกกลาง
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (6 ก.พ.) ว่าอิสราเอลจะส่งมอบพื้นที่ฉนวนกาซาให้กับสหรัฐหลังจากการสู้รบยุติลง และประชากรในฉนวนกาซาได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นแล้ว ซึ่งหมายความว่าสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องส่งทหารเข้าไป
หนึ่งวันหลังจากถูกรุมประณามจากทั่วโลก จากคำประกาศของทรัมป์ที่ว่าอยากจะยึดครองและพัฒนาฉนวนกาซาให้กลายเป็น “ริเวียร่าแห่งตะวันออกกลาง” ทรัมป์ ซึ่งก่อนหน้านี้ปฏิเสธที่จะตัดความเป็นไปได้ในการส่งกองกำลังสหรัฐฯ เข้าไปประจำการในกาซา ได้อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดของเขาเกี่ยวกับอนาคตของฉนวนกาซาบนแพลตฟอร์ม Truth Social ว่า
“อิสราเอลจะส่งมอบฉนวนกาซาให้กับสหรัฐฯ เมื่อการสู้รบสิ้นสุดลง โดยชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาจะถูกโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในภูมิภาคนั้น ในชุมชนที่ปลอดภัยและสวยกว่าเดิมมาก… ชุมชนเหล่านี้จะมีบ้านที่ทันสมัย” “ไม่จำเป็นต้องมีทหารอเมริกัน!”
ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน อิสราเอล แคทซ์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ได้สั่งให้กองทัพจัดทำแผนเพื่อเปิดทางให้ชาวกาซาสามารถอพยพออกจากพื้นที่ได้ “โดยสมัครใจ” โดยแผนการนี้จะรวมถึงช่องทางอพยพทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
แคทช์ ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศที่คัดค้านปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซา อย่าง สเปน ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ ควรอ้าแขนยอมรับชาวปาเลสไตน์
ทรัมป์ ได้จุดชนวนความโกรธแค้นไปทั่วตะวันออกกลางด้วยการประกาศแผนการช็อคโลกเมื่อวันอังคาร (4 ก.พ.) ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่คาดว่าอิสราเอลและฮามาสจะเริ่มเจรจากันที่โดฮาเกี่ยวกับขั้นตอนที่ 2 ในแผนการหยุดยิงซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเปิดทางให้กองกำลังอิสราเอลถอนกำลังออกไปทั้งหมด, ปล่อยตัวตัวประกันเพิ่มเติม และยุติสงครามที่ดำเนินมาเกือบ 16 เดือน
ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา กษัตริย์อับดุลลาห์แห่งจอร์แดน ซึ่งมีกำหนดหารือกับทรัมป์ที่ทำเนียบขาวในสัปดาห์หน้า กล่าวเมื่อวันพุธ (5 ก.พ.) ว่าพระองค์ปฏิเสธความพยายามใดๆ ที่จะผนวกดินแดนและทำให้ชาวปาเลสไตน์กลายเป็นคนพลัดถิ่น ขณะที่อียิปต์ระบุว่า จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอใดๆ ที่จะขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากกาซา
การพลัดถิ่นของชาวปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่สุดในตะวันออกกลางมาหลายทศวรรษ การบังคับหรือบังคับให้ประชากรต้องพลัดถิ่นภายใต้การยึดครองของกองทัพถือเป็นอาชญากรรมสงคราม ซึ่งถูกห้ามไว้ภายใต้อนุสัญญาเจนีวา พ.ศ. 2492