
ลุยเก็บภาษี ตอบโต้ทุกประเทศ ทรัมป์ เตรียมลงนามเพื่อใช้มาตรการขึ้นภาษี กับประเทศที่เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่าเขาจะลงนามเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ อย่างเร็วที่สุดในช่วงเย็นวันพุธ (12 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่น
“ผมอาจจะทำภายหลังจากนี้ หรืออาจจะทำมันในเช้าวันพรุ่งนี้ แต่เราจะลงนามในมาตรการภาษีตอบโต้” ทรัมป์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว
มาตรการภาษีเขย่าตลาดรอบล่าสุดของทรัมป์เกิดขึ้นในช่วงที่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีกำหนดเยือนทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี (13 ก.พ.) ซึ่งรัฐบาลทรัมป์บ่นว่าอินเดียเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงจนขัดขวางการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ
บรรดานักเศรษฐศาสตร์มองมาตรการภาษีศุลกากรในฐานะปัจจัยก่อความเสี่ยงเงินเฟ้อ และจากข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (12 ก.พ.) พบว่าดัชนีผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 ปีครึ่ง
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้สร้างความตกตะลึงให้กับตลาดไปแล้วด้วยการประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีเหล็กและอลูมิเนียมทั้งหมดที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. ซึ่งทำให้เม็กซิโก แคนาดา และสหภาพยุโรปได้มาประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าว ขณะที่ญี่ปุ่นและออสเตรเลียกล่าวว่ากำลังหาทางขอยกเว้นภาษี
ข่าวดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งพิงเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้า ต้องดิ้นรนหาทางชดเชยต้นทุนที่คาดว่าจะพุ่งสูงขึ้น
เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปกล่าวว่า สหภาพยุโรปจะให้ความสำคัญกับการเจรจามากกว่าการใช้มาตรการตอบโต้เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าที่สร้างความเสียหาย อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกำลังพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้ที่บังคับใช้ในปี 2018 กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เบอร์เบินและมอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์-เดวิดสัน เพื่อตอบโต้มาตรการภาษีเหล็กและอลูมิเนียมของทรัมป์
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มอีก 10% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ก.พ. โดยมาตรการตอบโต้ของจีนจะมีผลในสัปดาห์นี้ ขณะที่การเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% ได้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 4 มี.ค. เพื่อเปิดทางให้มีการเจรจาเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ในการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนสหรัฐฯ และสกัดการไหลบ่าเข้ามาของยาเฟนทานิล
คนงานในสหรัฐฯ บางส่วนยินดีกับมาตรการรีดภาษีนำเข้าโลหะ แต่บริษัทผู้ผลิตและธุรกิจอื่นๆ เตือนว่าการขึ้นภาษีจะส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กในยุโรปยังกังวลว่าภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลให้เหล็กราคาถูกหลั่งไหลเข้ามาในยุโรป
จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงบรัสเซลส์ว่า คนอเมริกันบางส่วนอาจจะต้องตกงาน และการเติบโตของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าโลหะของทรัมป์