Newsทรัมป์กับกลิ่นอ่อนๆ ของสงครามการค้า เข้าใจเทคนิคการเจรจาในแบบฉบับของทรัมป์ ที่เน้นการสร้างอำนาจต่อรองผ่านการข่มขู่

ทรัมป์กับกลิ่นอ่อนๆ ของสงครามการค้า เข้าใจเทคนิคการเจรจาในแบบฉบับของทรัมป์ ที่เน้นการสร้างอำนาจต่อรองผ่านการข่มขู่

ทรัมป์กับกลิ่นอ่อนๆ ของสงครามการค้า เข้าใจเทคนิคการเจรจาในแบบฉบับของทรัมป์ ที่เน้นการสร้างอำนาจต่อรองผ่านการข่มขู่

 

สัปดาห์ก่อน โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะขึ้นเพดานภาษีเม็กซิโก และ แคนาดา 25% และ จีน 10% โดยให้เหตุผลว่าทำไปเพื่อควบคุมและหยุดยั้งการไหลเข้ามาของยาเสพติดและแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงประเด็นของ ยาเฟนทานิล ซึ่งเป็นประเด็นที่มุ่งเป้าโดยตรงไปยังจีน

ผ่านไปไม่กี่วัน ทรัมป์ได้ออกมาบอกว่า ได้ยกหูคุยกับเม็กซิโกและแคนาดาเรียบร้อย ทั้งคู่ยอมตกลงในการจัดการชายแดนให้ดีขึ้น จึงเลื่อนการขึ้นภาษีออกไปก่อน นำมาสู่การชวนคิดชวนคุยกันวันนี้ครับ 

ทำไมทรัมป์ชอบประกาศกร้าว? ชนิดที่ฟังแล้วต้องตกใจ

หลายคนมองว่านี่คือบุคลิกของทรัมป์ ลามไปจนถึงมองว่านี่คือความบ้าและน่ากลัวของเขา 


แต่หากมองกันดีๆแล้ว สิ่งที่ทรัมป์ทำอาจเป็น “เทคนิคในการเจรจาต่อรอง” ของทรัมป์ ที่ได้มาจากประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาหลายสิบปี เรียกว่าเป็นการ“ขู่ให้กลัวไว้ก่อนแล้วนำไปสู่เจรจา” หรือหลายคนอาจจะเรียกว่า “สร้างราคา” ให้หนุ่มๆ (ประเทศ) ต่างๆตามง้อ ก็คงไม่ผิด แน่นอนว่าวิธีการแบบนี้ทำให้หลายประเทศพยายามวิ่งเข้าหาทรัมป์ ยื่นหมูยื่นแมว ยื่นผลประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงเพดานภาษีที่น่ากลัว แม้แต่จีนเองก็ไม่ได้ต่อต้านดังจะเห็นได้จากการยกหูพูดคุยกันของผู้นำสองชาติ รวมถึงการส่งรองประธานาธิบดีไปร่วมงานสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการให้เกียรติอย่างมากในทางการทูต 

 

เป็นเทคนิคที่สร้างความได้เปรียบในการเจรจาได้อย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อคนใช้เป็นคนตัวใหญ่ที่มีอำนาจ

จากการวิเคราะห์สถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลายอย่างในทำนองดังกล่าว เช่น ก่อนการเลือกตั้งทรัมป์ได้ประกาศกร้าวว่าจะขึ้นเพดานภาษีของประเทศต่างๆ ภายหลังการเลือกตั้งท่าทีของทรัมป์กลับไม่ได้ก้าวร้าวหรือมีท่าทีที่จะบดขยี้เหมือนทีแรก แต่กลับเปิดช่องให้ผู้นำประเทศต่างๆยกสายพูดคุยกันฉันมิตรมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีของจีนที่เคยกล่าวไว้ว่าจะขึ้นเพดานภาษีกว่า 60% แต่หลังจากเลือกตั้งเสร็จ หลังจากได้พูดคุยกับประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง แล้ว ก็สถานการณ์ก็ไม่ได้รุนแรงอย่างที่ว่าไว้ แม้แต่ล่าสุดที่บอกว่าจะขึ้นเพดานภาษีสินค้าจีน ก็ขึ้นเพียง 10% ซึ่งนับว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เคยประกาศไว้ตอนเลือกตั้ง

 

ในมิตินี้อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องของ TikTok ด้วยเช่นกัน 

 

ดังที่ทรัมป์ได้ใช้อำนาจอนุญาตให้ TikTok ดำเนินธุรกิจต่อในสหรัฐ สร้างทางออกให้กับ TikTok ในขณะที่ไม่นานหลังจากนั้น ก็ออกมากดดันเรื่องเพดานภาษี ความเคลื่อนไหวเหล่านี้วิเคราะห์ได้ว่าอาจเป็นความเคลื่อนไหวที่มี Hidden Agenda และได้ค่อยๆเฉลยออกมาเมื่อเริ่มเห็นตัวละครที่อาจเข้าไปมีบทบาทในการซื้อหุ้นของ TikTok เช่น อีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นขุนพลข้างกายของโดนัลด์ ทรัมป์ในปัจจุบัน 

 

หากสหรัฐสามารถเข้าไปถือหุ้น TikTok ได้จริง ทิศทางและการควบคุมสื่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่รายนี้ก็จะทำได้ง่ายขึ้น และจะส่งผลบวกต่อสหรัฐทั้งในมิติของเศรษฐกิจและความมั่นคง เรียกว่า แทนที่จะแบน ก็เข้าไปควบคุมซะ ได้ทั้งคะแนนนิยม ได้ทั้งการควบคุม ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

 

ในส่วนของเม็กซิโก ที่มีประเด็นดราม่ากับสหรัฐ โดยเฉพาะหลังจากที่ทรัมป์ประกาศจะเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก เป็นอ่าวอเมริกา แถมยังกล่าวหาเม็กซิโกว่าอยู่เบื้องหลังแก๊งค์ค้ายาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อคนอเมริกัน แม้ว่าประธานาธิบดีเม็กซิโกจะได้ออกมาตอบโต้อย่างดุเดือดในช่วงแรก แต่ท้ายที่สุดก็ยอมยกหูหา พูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อย 

 

มาดูฟากฝั่งของแคนาดากันบ้าง หากติดตามการเมืองระหว่างประเทศจะพอทราบกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์ กับ จัสติน ทรูโด นายกฯแคนาคา เป็นความสัมพันธ์ที่เรียกได้ว่า Love – Hate Relationship กันพอสมควร แม้ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่มีความร่วมมือกันสูง แต่ก็มักมีการงัดข้อและการเห็นต่างกันทางนโยบายและความคิดกันอยู่เรื่อยๆ จนหลายครั้งนำไปสู่การ “แซะ” กันไปมาระหว่างสองผู้นำ แน่นอนว่าการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้นำมาซึ่งการตอบโต้กันพอสมควร แต่ก็จบลงด้วยการยกหูหาพี่ใหญ่ตามระเบียบ

 

หรือทั้งหมดนี้จะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูเป็นรายแรกๆ โดยเริ่มจากทั้งคนใกล้ตัวและคู่ค้าที่สำคัญ 3 อันดับแรก ซึ่งก็ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา และจีน เพื่อลากเข้าสู่การเจรจานั่นเอง เพราะจากข้อมูลเชิงสถิติพบว่า ทั้งสามประเทศล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ “ได้ดุลการค้า” กับสหรัฐ และที่สำคัญ เป็นคู่ค้าลำดับต้นๆของสหรัฐทั้งสิ้น 

 

โดยเม็กซิโกเป็นผู้ส่งออกสินค้าเข้าไปในอเมริกาเป็นอันดับหนึ่งในปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐกว่า 467,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพียง 309,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลเกินกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จีนมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปสหรัฐกว่า 401,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าเพียง 131,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลถึง 200,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกัน แคนาดา ที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ 377,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้าเพียง 322,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 

 

นี่อาจเป็นการส่งข้อความไปสู่โลกทั้งใบว่า “ทรัมป์เอาจริง” เพราะทั้งคู่แข่งและคู่ค้าที่สำคัญก็ไม่รอด 

 

คำถามต่อไปคือ แล้วถ้าวิธีการแบบนี้ถูกนำมาใช้ต่อไปอีกเรื่อยๆ โลกใบนี้จะเป็นอย่างไร?

 

หลายประเทศอาจยอมสหรัฐ เพราะไม่ต้องการเจอกับเพดานภาษี และไม่ต้องการมีปัญหากับยักษ์ใหญ่ เหมือนกับที่เม็กซิโกและแคนาดายอมในงวดนี้ แต่โลกนี้ก็ไม่ได้สวยงามเหมือนทุ่งลาเวนเดอร์ แล้วหากประเทศอื่นๆไม่ยอมสหรัฐ และเลือกที่จะ “สู้” ล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น? 

 

ก็คงต้องบอก กลิ่น “สงครามการค้า” ครั้งใหม่ ได้ลอยมาเตะจมูกเบาๆ

 

นอกจากสงครามการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่น่าคิด คือ มาตรการกีดกันทางการค้าจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกหรือไม่ในอนาคต? ที่ผ่านมาโลกของเราพยายามกำจัดเพดานทางการค้ามาโดยตลอดนับแต่สงครามเย็น เทรนด์โลกนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงและแทนที่ด้วยเทรนด์ใหม่หรือไม่? เมื่อพี่ใหญ่ในโลกลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการใช้มาตรการทางการค้าเป็นเครื่องมือ ก็ไม่แน่อนาคตข้างหน้า สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นวิธีการที่ผู้นำทั่วโลกใช้กันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง หรือแม้แต่ใช้ในสงครามการค้าที่อาจจะอุบัติขึ้นใหม่ 

 

แล้ว Globalization ล่ะ จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต? หรือเรากำลังจะเดินไปสู่สิ่งอื่น? และมันคืออะไร? 

 

คิดดังๆ ให้ทุกท่านช่วยกันคิดต่อครับ 

 

เอวัง



โดย ร้อยเอก ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ

 

ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาการทูตและการต่างประเทศ 

คณะการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ





เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า