คลี่แผนสันติภาพทรัมป์ “สันติภาพผ่านความเข้มแข็ง” ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ เผยแผนการเจรจาสันติภาพของ ‘ทรัมป์’ ทั้งในรัสเซีย-ยูเครน และในตะวันออกกลาง
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย จากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนว่า การดำเนินการในเรื่องนี้นั้นเป็นไปได้ยากมาก
และสหรัฐเองก็ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะต้องกลับมาแสงความเข้มแข็งอีกครั้ง เนื่องจากในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้สมัครจากทั้งสองพรรค ต่างก็แสดงความเป็นห่วงต่อความถดถอยของสหรัฐในแทบจะทุกมิติ
ซึ่งสิ่งที่ทางพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งได้เสนอเอาไว้คือการเข้าไปยุติการสู้รบ และผลักดันให้เกิดสันติภาพโดยที่สหรัฐไม่เสียเปรียบมากนัก อีกทั้งยังผลักดันให้คู่กรณีทั้งในยุโรป และตะวันออกกลางเข้าสู่การเจรจาสงบศึก ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นการสงบศึกชั่วคราวก็ถือว่ายังดี ซึ่งนี่เหมือนเป็นการบังคับให้สหรัฐลดการเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ก็ยังผลักดันให้เกิดสันติภาพ
ซึ่งข้อเสนอนี้ แม้แต่ผู้ที่ไม่ชื่นชอบในตัวว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์เองก็ชื่นชอบทางเลือกนี้ เนื่องจากว่าเป็นทางเลือกที่ดูเหมือนกับว่ามีความชัดเจนมากกว่าพรรคเดโมแครตที่จะสนับสนุนให้มีการสู้รับกันต่อไปเรื่อย ๆ และค่อย ๆ ไต่ระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นความรุนแรงที่อันตราย
เช่นการใช้อาวุธที่มีการติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ของรัสเซีย อีกทั้งจะเห็นผลพวงของสถานการณ์ในซีเรีย ซึ่งเมื่อกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ และกลุ่มฮามาสอ่อนแอลง กลุ่มต่อต้านรัฐบาลบัชชาร อัลอะซัด ประธานาธิบดีซีเรีย ก็ลุกกลับขึ้นมาใหม่
ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทรัมป์ไม่ต้องการที่จะเห็น เพราะว่าเขาเป็นพ่อค้า และนักลงทุน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้นั้นจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในการลงทุน จึงต้องการที่จะผลักดันให้เกิดสันติภาพ
อย่างไรก็ดี ผู้คนต่างต้องการที่จะรับทราบในแผนสันติภาพของทรัมป์ ซึ่งก็เริ่มมีความชัดเจนแล้วว่าจะมีการเจรจาให้ทุกฝ่ายยุติการสู้รบเอาไว้เพียงเท่านี้ก่อน “แช่แข็ง” การสู้รบเอาไว้ รัสเซียยึดครองพื้นที่ได้เท่าใด ก็จะให้หยุดไว้เพียงเท่านั้น แต่ถ้าหากว่าทางยูเครนไม่ยินยอม ก็จะลดการให้ความช่วยเหลือยูเครน เพื่อผลักดันให้ยูเครนเข้าสู่การเจรจา และเมื่อเข้าสู่การเจรจาแล้วค่อยเข้าไปช่วยเหลือยูเครน
และถ้าหากว่ารัสเซียยอมคืนพื้นที่บางส่วน ก็จะไปช่วยลดการคว่ำบาตรให้กับรัสเซีย แล้วนำเงินที่ไปช่วยลดตรงนั้นไปช่วยเหลือยูเครน ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้อาจจะกินเวลาไปจนกระทั่งหมดสมัยของทรัมป์ แต่ในช่วงที่มีการเจรจานั้น จะทำให้เกิดการค้าขาย ในขณะเดียวกันทรัมป์ก็จะเข้าไปพูดคุยกับเกาหลีเหนือ ไม่ให้เข้าไปยุ่งกับความขัดแย้งในครั้งนี้ ซึ่งทางเกาหลีเหนือเองก็น่าจะพอใจ
ทั้งนี้ หลักการทำงานของทรัมป์ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และในตะวันออกกลางซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ยืนอยู่บนหลักการเดียวกันคือ “Peace Through Strength (สันติภาพผ่านความเข้มแข็ง) อเมริกันต้องมาก่อน อเมริกันต้องไม่เสียเปรียบ”
ซึ่งในประเด็นแรกนั้น เนื่องจากว่าอิสราเอลนั้นบรรลุเป้าหมายทางการทหาร เปลี่ยนความล้มเหลวจากการถูกกลุ่มฮามาสโจมตี เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ให้กลายเป็น “ชัยชนะทางการทหารที่ชัดเจน” ทำลายกองกำลังฮามาสเกือบทั้งหมด
ทำให้อิหร่านส่งสัญญาณว่าต้องการที่จะสงบศึก และยินดีที่จะให้กลุ่มฮิซบุลลอฮ์เข้าไปเจรจาสงบศึก 60 วัน ซึ่งถึงแม้ว่าในระหว่างนี้จะมีการรบประปราย แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าก็จะยังยืนต่อได้ แสดงว่าอิหร่านเองก็ไม่ต้องการที่จะเผชิญหน้า
ซึ่งทรัมป์เห็นว่าน่าจะพอแล้ว และเริ่มการเจรจาได้ และน่าจะมีการผลักดันการเจรจาสันติภาพในรัสเซีย-ยูเครน และตะวันออกกลางคู่ขนานกันไป ซึ่งที่ปรึกษาของทรัมป์บางทีมกล่าวว่า ก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ในวันที่ 20 ม.ค. 2568 นั้น ทรัมป์อาจจะได้รับของขวัญชิ้นสำคัญ คือเกิดมีข้อตกลงสงบศึกกับกลุ่มฮามาส และอาจจะมีการปล่อยตัวประกันที่เหลือ ซึ่งไม่ทราบว่าในเวลานี้ชีวิตเหลืออยู่กี่คน
ซึ่งการเจรจากับกลุ่มฮามาส และกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ก็อาจจะประสบความสำเร็จในช่วงต้นปีหน้าเช่นกัน ซึ่งในสัปดาห์นี้ อียิปต์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมร่วมกับกลุ่มฮามาส เพื่อการผลักดันสันติภาพ แต่นี่ก็ไม่ง่ายเนื่องจากว่าฮามาสนั้นมีกลไก และโครงสร้างที่กระจัดกระจาย ต่างฝ่ายต่างก็หลบหนีพร้อมตัวประกันไปในหลาย ๆ ที่
แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็อาจจะยังเจรจาผ่านทางตุรกีย ซึ่งในเวลานี้ได้ขึ้นมามีบทบาทสำคัญทั้งในซีเรีย และกาซ่า โดยสำนักงานใหญ่ของฮามาสจะไปตั้งที่ตุรกี ซึ่งเป็นไปได้ว่าภายในเวลาที่เหลืออยู่นั้นกลุ่มฮิซบุลลอฮ์น่าจะโอเคแล้ว เหลือเพียงแค่ว่าจะนำเอากองกำลังเข้าไปรักษาข้อตกลงหยุดยิงได้อย่างไร.
สำหรับการปะทะกันในบางพื้นที่นั้น มีการกล่าวอ้างว่าเป็นการปะทะกันเพื่อการป้องกันตนเองในระหว่างการถอนกำลัง แต่ว่าไม่ได้มีการรุกกลับเข้าไป และไม่ได้มีการวางกำลังเพิ่มเติม ซึ่งนี่ถือเป็นสัญญาณที่ดี
สำหรับทางอิหร่านนั้น ทรัมป์อาจจะมีวิธีการเขย่าอิหร่านที่ถูกสหรัฐมองในเชิงที่ไม่ดีได้ในหลายทิศทาง ซึ่งในขณะนี้นั้น อิหร่านเองก็เสียท่าไปเยอะ โดยทั้งลุ่มพันธมิตรอย่างฮามาสและฮิซบุลลอฮ์ ต่างก็สูญเสียขีดความสามารถโดยที่อิหร่านไม่มีความพร้อมในการสนับสนุน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมืองภายในของอิหร่านเอง
ซึ่งอิหร่านเองก็อาจจะนำการชะลอโครงการติดอาวุธนิวเคลียร์ลง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่อิสราเอลไม่สบายใจ มาใช้เป็นข้อต่อรองกับอิสราเอลผ่านทางสหรัฐ ซึ่งนี่อาจจะทำให้ซาอุดีอาระเบียเกิดความสบายใจ หันกลับไปคืนความสัมพันธ์กับอิสราเอลในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มีการดำเนินการกันมาอยู่แล้ว
แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะเร่งโครงการติดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อการพลิกสถานการณ์ และใช้การทูตเชิงเนิวเคลียร์มาเป็นข้อต่อรองเหมือนอย่างที่เกาหลีเหนือทำ
ซึ่งทรัมป์น่าจะใช้การลดการคว่ำบาตรเพื่อการจูงใจให้อิหร่านชะลอการติดอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า แต่ถ้าอิหร่านติดอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาจริง ๆ ทรัมป์น่าจะใช้วิธีการเจรจาเหมือนอย่างที่ทำกับเกาหลีเหนือ ไม่โจมตีอิหร่านโดยตรง แต่หันไปตัดกำลังพันธมิตรของอิหร่านให้มากขึ้น
ซึ่งผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของอิหร่านส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการการสู้รบ ซึ่งนี่ถือว่าแปลกเนื่องจากว่าอิหร่านนั้นเคยประกาศว่าอิสราเอลคือ “ศัตรูตลอดชีพ” แต่พอจะรบกันจริง ๆ กลับบอกว่าไม่รบกันดีกว่า ซึ่งนี่ทำให้เกิดความแปรปรวนในกลุ่มสุดโต่งหัวรุนแรงในอิหร่านที่ต้องการให้เปิดฉากรบกันเลย ซึ่งมีความขัดแย้งกับกลุ่มคนที่ไม่ต้องการเห็นสงครามเลย
นอกจากในอิหร่านยังมีความแปรปรวนในเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองภายใน ซึ่งนี่จะทำให้ผู้นำสูงสุดของอิหร่านเกิดความลำบากใจในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเลือกทางใดหรือทางหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้อิหร่านดำเนินการได้ช้าลง และโต้ตอบอิสราเอลได้น้อยกว่าที่หลายคนคาดคิด