
เร่งผลิตพลังงานฟอสซิล ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ทรัมป์ออกคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร เพื่อลดราคาพลังงาน
ภายหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหารชุดแรก ซึ่งรวมถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อปลดล็อกอำนาจในการอนุมัติการผลิตพลังงานฟอสซิล, ถอนตัวจากความตกลงปารีส ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยกเลิกคำสั่งห้ามขุดเจาะน้ำมันบ่อใหม่ นอกชายฝั่งสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด ที่ไบเดนประกาศไว้ก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
“อเมริกาจะกลับมาเป็นประเทศผู้ผลิตอีกครั้ง… เรามีสิ่งที่ประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ไม่มี นั่นก็คือ ปริมาณน้ำมันและก๊าซที่มากที่สุดในโลก และเราจะใช้มัน” “เราจะลดราคาพลังงาน เติมสำรองทางยุทธศาสตร์ของเราให้เต็มอีกครั้ง ถึงจุดสูงสุด และส่งออกพลังงานของอเมริกาไปทั่วโลก… เราจะกลับมาเป็นประเทศที่ร่ำรวยอีกครั้ง และเป็นทองคำเหลวใต้เท้าเราที่จะช่วยให้บรรลุสิ่งนั้น” ทรัมป์ กล่าวในการปราศรัยหลังกล่าวสาบานตนรับตำแหน่ง
ทรัมป์ ยังกล่าวด้วยว่า เขาตั้งใจที่จะรื้อนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าของไบเดน และหยุดการพัฒนาพลังงานลมรูปแบบใหม่ ซึ่งรัฐบาลไบเดนมองว่ามีความสำคัญต่อความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการขนส่งและพลังงาน ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า เราจะไม่ทำเรื่องพลังงานลม เพราะกังหันลมมีขนาดใหญ่และน่าเกลียด และเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า พวกมันทำลายทัศนียภาพละแวกบ้านของประชาชน
ทรัมป์ กล่าวระหว่างการหาเสียงว่าจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ควรผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นและเพิ่มการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้พลังงานในศูนย์ข้อมูลของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อาจเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในอีกสามปีข้างหน้า ตามข้อมูลของกระทรวงพลังงาน
คำประกาศของทรัมป์มุ่งหวังที่จะผ่อนปรนข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับโรงไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว เร่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และผ่อนปรนการอนุญาตสำหรับโครงการส่งและท่อส่ง
“มันทำให้คุณสามารถทำทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อรับมือกับปัญหานั้น” ทรัมป์ กล่าวกับนักข่าวขณะลงนามในคำสั่ง “และเราก็มีสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนั้นจริงๆ”
คำมั่นสัญญาของทรัมป์ในการเติมน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ยังอาจดันราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น โดยกระตุ้นความต้องการน้ำมันดิบในสหรัฐฯ หลังจากรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน ไบเดนได้ขายน้ำมันสำรองจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ไปแล้วกว่า 180 ล้านบาร์เรล ซึ่งถือเป็นปริมาณมากสุดเป็นประวัติการณ์ การขายดังกล่าวช่วยควบคุมราคาน้ำมันเบนซินก็จริง แต่ทำให้คลังสำรองน้ำมันลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี