นักกีฬาข้ามเพศ กับเรื่องความยุติธรรมในการแข่งขันประเภทหญิง ซึ่งไม่ใช่ “ครั้งแรก” และก็จะไม่ใช่ “ครั้งสุดท้าย”
นักกีฬาข้ามเพศ กับเรื่องความยุติธรรมในการแข่งขันประเภทหญิง ซึ่งไม่ใช่ “ครั้งแรก” และก็จะไม่ใช่ “ครั้งสุดท้าย”
กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก เมื่ออิมาน เคลิฟ จาก แอลจีเรีย และ หลิน ยู่ ถิง จาก ไต้หวัน ซึ่งเคยถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ Women’s World Boxing Championships 2023ของ สมาคมมวยสากลนานาชาติ (IBA) ที่กรุงนิวเดลี, อินเดีย เนื่องจากตรวจพบว่าทั้งคู่มีโครโมโซม XY ของผู้ชาย แต่กลับได้เข้าร่วมการแข่งขันชกมวยโอลิมปิกที่ปารีส
ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ประกาศกฎว่านักกีฬาข้ามเพศที่จะลงแข่งในประเภทหญิงนั้น จะต้องมีค่าฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (ฮอร์โมนเพศชายที่มีส่วนในการพัฒนามวลกล้ามเนื้อ และกระดูกของเพศชาย) ตามเกณฑ์ที่กำหนดในระยะเวลา 12 เดือนก่อนแข่งขัน
และในการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ ได้เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นด้วยการตั้งกฎว่านักกีฬาที่จะลงแข่งประเภทหญิงนั้น จะต้องผ่านการแปลงเพศก่อนอายุ 12 ปี โดยให้เหตุผลว่า นักกีฬาที่มีการแปลงเพศหลังจากอายุ 12 ปี ไปแล้ว ร่างกายจะได้รับการพัฒนาสรีระ และมวลกล้ามเนื้อจนทำให้นักกีฬาข้ามเพศมีความได้เปรียบมากกว่านักกีฬาที่เป็นเพศสภาพหญิงโดยกำเนิด
ข้อถกเถียงเรื่องอนุญาตให้นักกีฬาข้ามเพศ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาประเภทหญิง เป็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีนี้ ในสังคมนานาชาติ โดยฝ่ายผู้สนับสนุนให้เหตุผลว่าควรจะมีการ “เปิดพื้นที่อย่างเสรี” ให้แก่ชาว LGBTQ+ ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาด้วย
ในขณะที่ผู้คัดค้านว่า “ไม่ยุติธรรม” ต่อนักกีฬาเพศสภาพหญิงโดยกำเนิด เนื่องจากนักกีฬาข้ามเพศนั้น ในช่วงอายุตั้งแต่ 12 ปี เป็นต้นไป ร่างกายจะได้รับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ร่างกายของนักกีฬาข้ามเพศได้รับการพัฒนา ให้มีความได้เปรียบเหนือกว่านักกีฬาเพศหญิง
เคยมีประเด็นถกเถียงในเรื่องนี้มาแล้วในสหรัฐ เมื่อลีอา โธมัส (Lia Thomas) นักกีฬาว่ายน้ำข้ามเพศ กลายเป็นนักกีฬาข้ามเพศคนแรกที่คว้าแชมป์ตำแหน่ง NCAA Division 1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการแข่งขันกีฑาระดับอุดมศึกษาของสหรัฐ ในปี 2564 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ‘ผู้หญิงแห่งปี’ (NCAA Woman of the Year Award 2022) ในปี 2565
โดยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวระบุว่า เป็นการ ‘ตบหน้า’ นักกีฬาว่ายน้ำหญิงที่เป็นผู้หญิงโดยกำเนิด, ไม่มีความเป็นธรรมในการแข่งขัน และเป็น “การรณรงค์ต่อต้านผู้หญิง”
ในวงการยกน้ำหนักหญิงเองก็เคยมีข้อถกเถียงในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยเมื่อปี 2566 แอนน์ อันเดรส (Anne Andres) วัย 40 ปี นักยกน้ำหนักหญิงข้ามเพศ คว้าแชมป์ในการแข่งขัน Western Canadian Championship 2023 ด้วยสถิติน้ำหนักรวม 597.5 กิโลกรัม ทิ้งห่างซูจัน กิล (SuJan Gil) คู่แข่งหญิงแท้ที่ได้อันดับ 2 แบบไม่เห็นฝุ่นด้วยผลต่างน้ำหนักถึง 210 กิโลกรัม
ชัยชนะของอันเดรสทำให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่นักเคลื่อนไหวบางคน โดย ICFS ประกาศว่าสถิตินี้ชนะโดย “ผู้ชาย” ดังนั้นจึงไม่ “ถูกต้องตามกฎหมาย” และยังกล่าวหาผู้จัดการแข่งขันว่า “เลือกปฏิบัติต่อผู้เข้าแข่งขันที่เป็นหญิงแท้”
ในวงการฟุตบอลอังกฤษ ฟรานเชสก้า นีดแฮม นักฟุตบอลหญิงข้ามเพศในสหราชอาณาจักร วัย 30 ปี ถูกผู้เล่นรายอื่นปฏิเสธที่จะลงสนามร่วมกับเธอ ในปี 2566 เนื่องจากว่าผู้เล่นรายหนึ่งเข่าหัก จากการบล็อกลูกยิงของเธอ สร้างความกังวลถึง “ความปลอดภัย” ในการร่วมแข่งขันในแมตช์ที่มีเธอลงสนามด้วย
ผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ทีมของผมมีนักเตะสาวอายุ 16-17 ปี และพ่อแม่ของพวกเขาก็ไม่ต้องการที่จะเอาความปลอดภัยของสาวๆ ไปเสี่ยง”
ปี 2566 รัฐบาลนิวซีแลนด์ ประกาศตัดเงินทุนสำหรับองค์กรกีฬาที่อนุญาตให้ผู้หญิงข้ามเพศแข่งขันกับผู้หญิงโดยกำเนิด โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความไม่เป็นธรรมต่อนักกีฬาเพศหญิง ซึ่งโฆษกรัฐบาลนิวซีแลนด์กล่าวว่า “หากมีเด็กสาววัยรุ่นปะทะกับวัยรุ่นชาย วัยรุ่นสาวจะต้องได้รับบาดเจ็บ” และรัฐบาลฯ จะไม่สนับสนุนเงินภาษีให้กับสิ่งที่ผู้เสียภาษีมองว่าไม่ปลอดภัยและไม่ยุติธรรม
ล่าสุดในการแข่งขันการแข่งขันจักรยานประจำปี Marymoor Grand Prix ประเภทหญิง ทีม 2 คน ในสหรัฐ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา นักกีฬาทีมที่มีหญิงข้ามเพศร่วมทีม กวาดเหรียญรางวัลทั้ง 3 อันดับไปครอง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐ
ซึ่งตัวหญิงข้ามเพศผู้ชนะทั้ง 3 อันดับในรายการนี้ ต่างล้วนแต่มีประวัติว่าเคยลงแข่งในฐานะผู้ชายมาก่อนทั้งสิ้น
—
เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อถกเถียงในลักษณะนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นในการแข่งขันประเภทชาย และโดยธรรมชาติ สรีระของเพศชายนั้น มีความได้เปรียบเรื่องการใช้พละกำลัง ความแข็งแกร่งทนทานและความว่องไวเหนือกว่าเพศหญิง
ในขณะที่ร่างกายของเพศหญิงนั้น มีความได้เปรียบเรื่องความยืดหยุ่น และความอดทน เนื่องจากโดยธรรมชาติเพศหญิงมีแหล่งสะสมพลังงานสำรองเหนือกว่าผู้ชาย
ความได้เปรียบ-เสียเปรียบของทั้ง 2 เพศ ทำให้การแข่งขันกีฬาจำเป็นจะต้องแยกระหว่างเพศชายและเพศหญิงออกจากกัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันกีฬา
อย่างไรก็ดี เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันถึงการคงอยู่ของบุคคลที่มีภาวะเพศกำกวม (Intersex) ที่มิได้มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงเพศโดยกำเนิดของตนเอง แต่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosome Abnormality) ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคทางพันธกรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดความผิดปกติในการพัฒนาทางเพศ (Disorders of Sex Development: DSDs)
ทำให้การระบุเพศในวันนี้ เราไม่สามารถอ้างอิงได้จากโครโมโซม XX (หญิง) และ XY (ชาย) ได้อีกต่อไป มีความเป็นไปได้ที่ผู้หญิง จะมีลักษณะบางอย่างคล้ายเพศชาย และเพศชายจะมีลักษณะคล้ายเพศหญิง เนื่องจากพัฒนาการทางเพศที่ไม่ปกติจากโครโมโซมที่ไม่ปกติ
ซึ่งนี่ทำให้การแบ่งประเภทการแข่งขันกีฬาออกเป็นเพียงหญิงและชาย อาจจะไม่เพียงพอ และกลายเป็นข้อถกเถียงในเรื่องความยุติธรรมกันต่อไป และจะไม่จบสิ้น
แต่เรื่องนี้อาจจะจบลงได้ หากสังคมสามารถเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้มีภาวะกำกวมทางเพศได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงขีดความสามารถที่เขาสามารถสร้างสรรคเพื่อสังคมได้ ภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย