
ยุคสงคราม เบ็ดเสร็จได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้ ‘ทรัมป์’ จะดำเนินนโยบายสุดโต่งอย่างเข้มข้น ใน 100 วันแรกนับจากการขึ้นสู่ตำแหน่ง
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวว่าการขึ้นสู่อำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันนี้นั้น คือจุดเริ่มต้นของยุคสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War)
ผ่านการดำเนินนโยบาย 100 วันแรกของรัฐบาลทรัมป์ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของสหรัฐอย่างสุดโต่ง ตามที่ทรัมป์ได้เคยหาเสียงเอาไว้ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การรับมือกับจีน ซึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก
ซึ่งจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ ผ่านการดำเนินนโยบายของทรัมป์ในช่วงนี้ ผ่านการปรับนโยบายการเข้าเมือง การปรับอัตราภาษี การค้าและศุลกากร รวมถึงจุดยืนทางการเมืองและความมั่นคง การสนับสนุนสงคราม และการผลักดันสันติภาพ
อย่างไรก็ดี หลังผ่าน 100 วันแรกไปแล้ว อาจมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย เช่นการตั้งอัตราภาษีที่สูงมากในช่วงแรก อาจจะปรับตัวลดลงเหลือเพียง 90% ในภายหลัง ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
เนื่องจากสหรัฐกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ลดความสูญเสียในความสามารถการแข่งขัน และการจัดการกับความแปรปรวนในตลาดแรงงาน เงินเฟ้อ และพลังงาน
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับกลุ่มทุนใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกัน เช่น อุตสาหกรรมไฮเทค คริปโต เคอร์เรนซี และพลังงานฟอสซิล ซึ่งถึงแม้ว่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ก็อาจจะสร้างปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการผูกขาดตลาดในระยะยาว
แต่ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าทรัมป์จะกำหนดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ เพื่อการสกัดกั้นจีน แต่จีนนั้นก็แสดงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ผ่านตัวเลขการส่งออกที่เติบโตถึง 11% ซึ่งนี่ทำให้จีนมีความมั่นใจในการเจรจาต่อรองกับทรัมป์ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ต่างพึ่งพากันบนฐานเศรษฐกิจเดียวกัน
การตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดจึงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ท้ายที่สุดทั้งสองประเทศอาจต้องหาจุดสมดุลร่วมกันเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของโลก
ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น จะไม่จบลงโดยเร็ว เพราะถึงแม้ว่าทีมงานของยูเครนจะเข้ามาเจรจากับทีมงานของทรัมป์แล้วก็ตาม แต่ในเวลานี้ยังไม่มีการหารือกันระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย แต่ทั้งนี้ก็อาจจะมีการกำหนดกรอบการเจรจาใหม่ ซึ่งจะทำให้บรรยากาศดีขึ้น
สำหรับประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นประเทศที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ จึงมีโอกาสมากที่ไทยจะมีบทบาทในฐานะตัวกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในระดับภูมิภาค และสร้างความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจในประเด็นที่เป็นกลาง