Newsความมั่นคงของโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร? เข้าใจ TNT รูปแบบภัยความมั่นคงแห่งอนาคต ที่กว้างไกลว่าการทำสงคราม

ความมั่นคงของโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร? เข้าใจ TNT รูปแบบภัยความมั่นคงแห่งอนาคต ที่กว้างไกลว่าการทำสงคราม

หนึ่งในคำถามยอดฮิตตลอดกาลที่ถามกันตั้งแต่ระดับผู้บริหาร นักวิชาการ ไปจนถึงประชาชนทั่วไป คือคำถามที่ว่า “ความมั่นคงของโลกเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร?” วันนี้มาคุยกันเรื่องนี้ครับ 

 

ในอดีตที่ผ่านมาโลกของเราให้ความสำคัญกับ “ปัญหาความมั่นคงแบบดั้งเดิม หรือ Traditional Security Threats (TSTs)” ครับ ซึ่งหลักๆแล้วก็คือความขัดแย้ง การสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามระหว่างประเทศที่แย่งชิงทรัพยากรและอำนาจในเวทีระหว่างประเทศ หรือเรียกว่าภัยคุกคามทางทหารนั่นเอง นึกภาพง่ายๆว่า สงครามตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นแหล่ะครับ 

 

ต่อมาเมื่อเข้าสู่สงครามเย็นและหลังสงครามเย็น วิวัฒนาการด้านความมั่นคงศึกษาได้ขยายตัวและให้ความสำคัญกับปัญหาความมั่นคงอื่นๆ ที่ไม่ใช่ “การทหาร” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ โรคระบาด สิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ น้ำ อาหาร ไซเบอร์ และอื่นๆอีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้ ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ อาทิ ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ปัญหาเทคโนโลยี และอื่นๆสุดแท้แต่นักวิชาการจะบรรจงประดิษฐ์คำเรียก 


ทั้งหมดนี้เรียกรวมๆได้ว่า “ปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ หรือ Non-Traditional Security Threats (NTSTs)” นั่นเอง ซึ่งแนวคิดนี้เองที่เป็นทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าภัยคุกคามของโลกเราได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว บางคนก็ไปสุดโต่งจนถึงขั้นถามว่า แล้วอย่างนี้ “ทหารจะมีไว้ทำไม” ด้วยคิดว่าภัยคุกคามทางทหารนั้นได้ถูกแทนที่ด้วยความมั่นคงรูปแบบใหม่โดยสมบูรณ์ 

แต่..ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ความเชื่อดังกล่าวได้ถูกพิสูจน์แล้วว่า “ไม่เป็นความจริง” ด้วยข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่า “ความขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศยังคงเกิดขึ้น” พร้อมๆกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่สารพัดชนิด

ดังนั้น ถ้าจะถามว่า ปัจจุบันและอนาคต เรากำลังเจอกับอะไรอยู่? 


“ทั้งสองสิ่งพร้อมๆกัน” ครับ ทั้งภัยคุกคามแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่ สองสิ่งนี้ไม่ได้มาแทนที่กันอย่างที่หลายๆคนคิด แต่ในทางกลับกัน กลับเกิดขึ้นพร้อมกันและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะทำให้ภัยคุกคามทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น การที่ภัยทางไซเบอร์ เข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เป็นสงครามแบบดั้งเดิมเป็นต้น 


อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่า โลกในปัจจุบันและอนาคต จะมีอีกหนึ่งสิ่งที่มาพร้อมๆกับ ภัยคุกคามแบบดั้งเดิม และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นสารกระตุ้นให้โลกใบนี้ปั่นป่วนเพิ่มมากขึ้นไปอีก ซึ่งก็คือ “ผลลัพธ์ด้านลบของการพัฒนาทางเทคโนโลยี หรือ Technological Backfires (TBs)”


Technological Backfires (TBs) เป็นสิ่งที่โลกทั้งใบจะต้องประสบ (ถ้ายังไม่ประสบไปแล้ว) ซึ่งเป็นผลกระทบด้านลบที่แฝงตัวมากับการพัฒนาทางเทคโนโลยีของโลก โดยอาจกระทบต่อเสถียรภาพทั้งระดับระหว่างประเทศ ระดับชาติ ระดับสังคม และระดับบุคคล โดยกระทบได้ทั้งมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ยกตัวอย่างเช่น 


ด้านการเมือง การเข้าถึงเทคโนโลยีติดต่อสื่อสารของคนแทบทุกคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารและโลกโซเชียล จะทำให้เสียงของผู้คนที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับความสนใจ กลับกลายเป็นมี “เสียงดัง” มากขึ้น ชนกลุ่มน้อย หรือผู้ที่ถูกกดทับทางสังคมจะมีการรวมตัวหรือแสดงออกได้มากขึ้นและมีพลังมากยิ่งขึ้น

ความสามารถในการเรียกร้องสิ่งต่างๆจึงมีมากขึ้น ในมุมหนึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งได้มากขึ้น หรือสร้างความยากลำบากในการบริหารจัดการของภาครัฐมากขึ้น 


ในทำนองเดียวกัน การพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนว่า “ปัญหาและความต้องการ” ของผู้คนก็จะเปลี่ยนแปลงไปได้มากและรวดเร็วเช่นกัน นำมาซึ่งปัญหาการปรับตัวของภาครัฐในการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของประชาชน

ตัวอย่างทั้งสองนี้ อาจนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั้งในมิติของการให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มและในมิติของการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน จนอาจนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางการเมืองของประเทศทั่วโลก 


ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ แน่นอนว่า เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยอำนาจในโลกปัจจุบัน ผู้ใดถือครองเทคโนโลยีขั้นสูง ก็มีโอกาสคว้าอำนาจในฐานะผู้นำโลก นำมาซึ่งการแข่งขันกันเพื่อการครอบครองเทคโนโลยี ซึ่งจะมีผลกระทบสะท้อนไปยังมิติอื่นๆอีกเป็นใยแมงมุม ในขณะที่เทคโนโลยีต่างๆก็ถูกนำมาใช้เพื่อการแข่งขันและการต่อสู้กันเช่นกัน เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ การข่าว และอื่นๆ 


นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ “ปัญหาระหว่างประเทศ” กลายเป็น “ปัญหาภายในประเทศ” ได้ด้วยเช่นกัน เพราะคนในสังคมปัจจุบันสามารถเสพข้อมูลได้จากทั่วโลก และเกิดเป็นความเชื่อหรือความฝักใฝ่ จนกลายเป็นการแบ่งกลุ่มแบ่งก้อนในสังคมทั้งๆที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่ห่างไกลปัญหาเป็นพันๆไมล์

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ในหลายสังคมทั่วโลกเกิดการแบ่งข้าง บ้างสนับสนุนอิสราเอลบ้างสนับสนุนปาเลสไตน์ จนกลายเป็นปัญหาที่มีตั้งแต่การเดินขบวน ไปจนถึงการแสดงออกอย่างรุนแรง และความขัดแย้งกันเองในสังคม ทั้งๆที่ไม่เกี่ยวข้องและอยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน 


“เทคโนโลยี นอกจากจะย่อโลกแล้ว มันก็ยังย่อด้านมืดของโลกเข้ามาด้วย” 


ในด้านเศรษฐกิจ การค้าขายในปัจจุบันได้มีการพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโลกการค้าออนไลน์และด้านการเงิน ปฏิเสธได้ยากว่า สิ่งที่มากับความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย และตลาดที่กว้างขึ้น คือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เป็นเสมือนเงา เมื่อการค้าและธุรกรรมทางการเงินเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น

นี่คือโอกาสที่มากขึ้นของเหล่าแฮกเกอร์ผู้หิวโหยในการที่จะเจาะระบบเข้าสู่ทั้งข้อมูลและทรัพย์สินของเรา หลายประเทศให้ความสำคัญกับการปรับตัวทางเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีสมัยใหม่จำนวนไม่น้อยถูกบรรจุเข้าไปในระบบการดำเนินการทางธุรกิจและเศรษฐกิจ แต่กลับไม่สามารถมีระบบที่ระวังป้องกันและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ด้วยเพราะต้นทุนที่มหาศาลในการพัฒนาระบบ และด้วยธรรมชาติของประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ ที่พวกเรามักจะเดินตามหลังเหล่าอาชญากร 1 ก้าวเสมอ 


อีกหนึ่งประเด็นที่หนีไม่พ้น คือ ประเด็นด้านการบริหารจัดการภายในประเทศ เมื่อเทคโนโลยีออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญ หลายประเทศประสบปัญหาในการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎระเบียบ ด้านภาษี จะควบคุมอย่างไร จะเก็บภาษีหรือไม่อย่างไร

เป็นประเด็นปวดหัวของแทบทุกรัฐบาล เพราะจะกีดกันก็ยาก แต่จะปล่อยฟรีสไตล์ก็จะพาลสร้างความพินาศให้แก่พ่อค้าแม่ขายตลอดจนระบบการผลิตสินค้าภายในประเทศ เหล่านี้คือ Technological Backfires (TBs) ที่กระทบด้านเศรษฐกิจ


ในด้านสังคม ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในสังคมไปอย่างรวดเร็ว เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน แนวคิดก็เปลี่ยน เมื่อแนวคิดเปลี่ยนบุคลิกก็เปลี่ยน การงานและการใช้ชีวิตก็เปลี่ยน เรียกได้ว่าเปลี่ยนตามกันเป็นลูกโซ่ โดยมีจุดเริ่มจากเทคโนโลยี

เราจะเห็นได้จากการใช้ชีวิตของพวกเราในปัจจุบัน ที่เร่งรีบ รวดเร็ว ช้าไม่ได้ รอไม่เป็น แตกต่างจากผู้คนในอดีต หลายครั้งนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ทั้งระดับครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน และภาพรวมของสังคม 

 

ผู้คนมีความอดทนน้อยลง เพราะมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น อัตราการเปลี่ยนงานสูง อัตราการว่างในระบบสูง เพราะผู้คนหันไปเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อไปยังภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ที่ต้องเร่งปรับตัวตาม ลามไปยังภาครัฐที่ต้องนั่งคิดต่อว่าแล้วระบบสวัสดิการล่ะ จะต้องเป็นไปในรูปแบบไหน รัฐไหนช้า หาทางออกไม่ได้ ก็อาจกลายเป็นปัญหาด้านการเมืองอย่างที่บอกไปข้างต้น 

 

ปัญหาอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นการพนันออนไลน์ หรือการค้าสิ่งผิดกฎหมาย กลายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้น ได้เงินเร็ว ตอบสนองความเร่งรีบของคนรุ่นใหม่และสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ที่ต้องการความรวดเร็วและเงิน ยังไม่ต้องนับเรื่องของกิจกรรมในดาร์กเว็ป ที่ปัจจุบันขยายตัวรุนแรงมากขึ้น ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเข้าไปหาเงินในดินแดนลึกลับนั้น และแน่นอนหลายครั้งเชื่อมโยงกับอาชญากรรมในโลกความเป็นจริง 


“สำหรับบางคน โลกออนไลน์ กลายเป็นโลกแห่งความจริง ในขณะที่โลกแห่งความจริง กลายเป็นเพียงโลกอีกใบที่แวะมาชั่วคราว…”


ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Technological Backfires (TBs) ที่อาจเกิดขึ้นในโลกอนาคต ซึ่งเป็นผลกระทบที่มาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี ที่จะเป็นลมใต้ปีกให้ทั้งภัยความมั่นคงแบบดั้งเดิม หรือ Tradition Security Threats (TSTs) และ ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security Threats (NTSTs) มีความซับซ้อนและยากจะรับมือมากขึ้น 


ดังนั้น หากจะตอบคำถามที่ว่า “ความมั่นคงของโลกเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร?” ก็ต้องบอกว่า เราอาจจะได้เจอกับโลกอนาคตที่ปัญหาความมั่นคงเป็นการผสมผสานระหว่าง Tradition Security Threats (TSTs) + (Non-Traditional Security Threats (NTSTs) + Technological Backfires (TBs) หรือเรียกได้ว่า โลกยุค “TNT” นั่นเอง 

 

ร้อยเอก ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ

 

ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาการทูตและการต่างประเทศ 

คณะการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า