
ควรมีแนวทางใหม่ ในการสะสางคดีตากใบ ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้ทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจ ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคม
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง โพสต์เฟซบุ๊กแสดงมุมมองเกี่ยวกับคดีตากใบ ซึ่งกำลังจะหมดอายุความในเวลาเที่ยงคืนหนึ่งนาทีของวันที่ 25 ตุลาคมนี้ โดยเป็นการสรุปเนื้อหาจากการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 โดยมีข้อความว่า
36 ชม. สุดท้ายของคดีตากใบ: มองไปข้างหน้าทั้งใกล้และไกล
- มุมมองจากจำเลย
ถึงเวลานี้ จำเลยในคดีตากทั้ง 2 คดีรวม 14 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 8 คน คงจะเห็นแสงสว่างแห่งอิสรภาพรำไรอยู่ที่ปลายอุโมงค์แล้ว จำเลยหลายคนอาจจะรู้สึกว่าอิสรภาพนี้ราคาแพง และต้องแลกมาด้วยความเคลือบแคลงใจของหลายส่วนในสังคม ถึงแม้ว่าหลายคนเคยต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมมาแล้วหลายปีจนมีข้อสรุปว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
- มุมมองจากคดีความ
เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนหนึ่งนาทีของวันที่ 25 ตุลาคมนี้ คดีของเหตุการณ์ตากใบที่ครอบครัวผู้เสียหายฟ้องในเดือนสิงหาคมและที่สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็จะขาดอายุความ หลังจากนั้น อัยการก็ต้องสั่งให้ยุติคดีและศาลก็ไม่อาจจะรับพิจารณาคดีดังกล่าวได้อีกต่อไป
ถือเป็นอันสิ้นสุดคดีความจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่มีผู้เสียชีวิต 85 คน (ในที่เกิดเหตุ 7 คน ระหว่างควบคุมตัวขนย้าย 78 คน) บาดเจ็บ 66 คน (รวมเจ้าหน้าที่ 14 คน) อย่างเป็นทางการตามกฎหมาย หลังจากนี้ ก็จะไม่มีคดีความเช่นนี้อีกต่อไป
หลายปีที่ผ่านมา บางคนไม่ทราบว่ามีคดีความเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ตากใบหลายคดี มีผู้ถูกดำเนินคดี 72 คน ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (รวม 14 คน จาก 2 คดีล่าสุด) มีการถอนฟ้องผู้ชุมนุม 58 คน
มีการประนีประนอมยอมความจ่ายค่าเสียหายและสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย 79 คนในปี 2549 ไปกว่า 42 ล้านบาทและอีก 30 คนในปี 2550 ไปอีกเกือบ 7 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตในปี 2555 – 57 จากงบประมาณแผ่นดินไปเกือบ 650 ล้านบาท
รวมทั้งมีคำสั่งของศาลในปี 2552 ว่า เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวยในขณะนั้น อันเป็นการปฎิบัติตามหน้าที่ หลังจากที่ได้ชี้แจงกับผู้ชุมนุมว่าไม่มีอำนาจที่จะปล่อยตัวนายกามา อาลีกับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ถูกควบคุมตัวในข้อหาแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ (ปืนของทางราชการ)
แต่จะไปยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำต่อศาลจังหวัดนราธิวาสให้ ผู้ชุมนุมไม่ยินยอม โห่ร้อง ขว้างปาก้อนหิน เศษไม้และสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ และพยายามทำลายแผงเหล็กกั้นเพื่อเข้าไปยังสถานีตำรวจภูธรตากใบ
แม่ทัพภาค 4 (ในขณะนั้น) จึงอาศัยอำนาจตามพรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2475 มีคำสั่งให้สลายการชุมนุม พร้อมมีคำสั่งห้ามใช้อาวุธกับผู้ร่วมชุมนุมโดยเด็ดขาด แต่ให้ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำสลายการชุมนุมแทน
ระหว่างการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม เกิดการชุลมุน มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด และในเวลาต่อเนื่องกันก็มีเสียงปืนรัวขึ้นอีกหลายนัด และพบภายหลังว่ามีผู้ถึงแก่ความตาย 6 คน พบอาวุธปืนสงคราม กระสุนปืนเอ็ม 16 และวัตถุระเบิดในแม่น้ำตากใบ
ในคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา (ประธานศาลฎีกาสั่งให้โอนคดีมายังศาลจังหวัดสงขลา) ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 นี้ ยังระบุว่า การควบคุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี (ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร) นั้น เป็นไปตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวยในขณะนั้น
เหตุเพราะเวลาใกล้ค่ำอาจจะเกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลายซึ่งไม่อาจคาดหมายได้อีก ระหว่างเคลื่อนย้าย ก็มีฝนตก มีการตัดต้นไม้ปิดกั้นทาง โรยตะปูเรือใบ และเผายางรถยนต์ ทำให้การเดินทางล่าช้า
แต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำต่อผู้ตายหรือผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คนหรือเกิดเหตุร้ายอย่างอื่นอีกระหว่างการเคลื่อนย้าย แต่เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฎิบัติราชการตามหน้าที่
- มุมมองจากประชาชนทั่วไป
บางฝ่ายรู้สึกว่า การรื้อฟื้นคดีดังกล่าวนั้น ไม่ชอบมาพากล และไม่เป็นไปตามผลที่มีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งในสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลทั้งสองกรณี ก็ระบุไว้ชัดในตอนท้ายว่าโจทก์ทั้งหมดไม่ติดใจที่จะเรียกร้องสิ่งใดๆหรือดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาอีก
แต่ก็สวนทางกับความรู้สึกของอีกหลายฝ่ายในสังคมว่าจำเลยทั้งหมด ซึ่งก็ยังต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ (แต่มีหมายจับเพราะหลบหนี) ควรกลับมาต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง เพื่อให้มีข้อยุติที่แท้จริงทางกฏหมาย ประชาชนในสังคมก็จะได้มั่นใจได้ว่ายังมีความยุติธรรมอยู่ในระบบ
- มองไปข้างหน้า – ในระยะสั้น
ความรับผิดชอบเฉพาะหน้าในคดีตากใบนี้ ไม่ได้อยู่ที่จำเลยทั้งหมดแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องและฝ่ายบริหาร ที่จะต้องนำจำเลยทั้งหมดกลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้แม้ว่าจะยากเพียงไรก็ตาม
ที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ ความรับผิดชอบอยู่ที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายความมั่นคง ที่ควรจะต้องยกระดับการรักษาความปลอดภัยในจชต. กทม. และพื้นที่สำคัญให้มากขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้ายในจชต.ไม่ปะทุขึ้นมามากกว่านี้ และเป็นการป้องปรามในพื้นที่อื่น ๆ ไปด้วย ไม่ใช่ทำเป็นปกติเพราะอาจจะต้องการรักษาภาพลักษณ์หรือกลัวว่าประชาชนจะตื่นตระหนก
ในชั่วโมงสุดท้ายของความยุติธรรมในระบบของกรณีตากใบนี้ เหลือทางเลือกอยู่ไม่มาก (ดูรายละเอียดเรื่องการต่างตอบแทนผู้ต้องหาได้ในคลิปข้างล่างครับ) และประชาชนส่วนใหญ่ก็แทบไม่หวังอะไรแล้ว
- มองไปข้างหน้า – ในระยะยาว
ในอนาคตนับตั้งแต่เที่ยงคืนของวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ควรมีการประกาศแนวทางใหม่ในการชำระสะสางเหตุการณ์ตากใบ ทดแทนคดีความในกระบวนการยุติธรรมที่ยุติลง เช่น ตั้งคณะกรรมการชำระสะสางเหตุการณ์ (Tribunal) โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือถูกฟ้อง ทั้งผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางเข้ามาร่วมกันหาข้อสรุป
ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะมีคำตอบให้กับทุกฝ่าย แต่ในหลายประเทศก็ใช้กระบวนการเช่นนี้หลังจากคดีความเดินไปจนถึงที่สุดทางกฎหมายแล้ว เหตุเพราะสังคมยังสงสัยเคลือบแคลงใจว่าหลายฝ่ายไม่ได้รับความยุติธรรมที่แท้จริงในระบบ
รวมทั้งควรจะมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งในพื้นที่จชต. ในหน่วยงานความมั่นคง ที่มหาวิทยาลัย และอื่นๆ และจัดตั้งสถาบันศึกษาหาทางป้องกันความรุนแรงเป็นการเฉพาะ ทั้งในจชต.และทั่วไป
จัดตั้งอนุสรณ์สถานในพื้นที่อย่างเป็นทางการ สร้างฐานข้อมูลในห้องสมุดต่าง ๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าว (Archive) เพื่อรวบรวมหลักฐานไว้ในการศึกษาสำหรับคนรุ่นต่าง ๆ ได้ศึกษาและหาทางป้องกันความรุนแรงเช่นนี้ต่อไป เป็นต้น
แต่ที่สุดแล้ว อนาคตของเสถียรภาพและความมั่นคงปลอดภัยในสังคมไทย รวมทั้งความสงบสันติสุขในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของทุกฝ่ายที่ทำให้เกิดความยุติธรรมและเป็นธรรมในสังคม