Newsกม. คุ้มครองสัตว์เพื่อ การแสดงยังไม่ถูกประกาศใช้ ‘กรมปศุสัตว์’ จ่อเรียกช่อง One แจงปมวางยาสลบแมว ชี้ทำสัตว์ทุรนทุราย อาจเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์

กม. คุ้มครองสัตว์เพื่อ การแสดงยังไม่ถูกประกาศใช้ ‘กรมปศุสัตว์’ จ่อเรียกช่อง One แจงปมวางยาสลบแมว ชี้ทำสัตว์ทุรนทุราย อาจเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์

นายสัตวแพทย์ (สพ.) บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงข่าวกรณี “วางยาสลบแมว” ที่เป็นประเด็นในซีรีส์แม่หยัวตอนที่ 5 ว่าได้มีประชาชนร้องเรียนมายังกรมฯ ว่า การกระทำดังกล่าวนั้น อาจจะเป็นการล่วงละเมิดต่อ พรบ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 

 

ทางกรมฯ จึงได้มีการประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการต่อกรณีนี้ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ. ดังกล่าว มาตราที่ 25 (1) และ (4) มีอำนาจในการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสถานีโทรทัศน์ช่อง One และผู้จัดสร้างซีรีส์แม่หยัว ให้มาชี้แจงพร้อมนำหลักฐานต่าง ๆ มาแสดงให้ทราบได้ด้วย

 

ก่อนที่กรมฯ จะดำเนินการประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรณีนี้อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับสัตวแพทยสภา ถ้าหากมีข้อมูลที่แสดงว่าการวางยาสัตว์นั้น กระทำโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และจะมีการเชิญสัตวแพทยสภา มาให้ข้อมูลความคิดเห็นว่า มีการกระทำที่ผิดต่อจรรยาบรรณสัตวแพทย์หรือไม่

 

สำหรับข้อกังวลว่ามีข้อกฎหมาย หรือข้อห้ามในการใช้สัตว์ในการแสดงหรือไม่นั้น สพ. บุญญกฤช กล่าวว่า ตาม พรบ. ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ มาตราที่ 24 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำสัตว์ไปใช้งาน ซึ่งรวมถึงในการแสดงด้วย

ซึ่งในส่วนนี้นั้น จะต้องมีการออกประกาศโดยอาศัยอำนาจของ รมว. เกษตรฯ แต่ในปัจจุบันนั้น มีเฉพาะประกาศเกี่ยวกับการขนส่งเท่านั้น และสำหรับในมาตรา 22 ซึ่งกล่าวถึงการจัดสวัสดิภาพสัตว์นั้น ได้มีการออกประกาศมาแล้ว แต่ว่าเป็นภาพกว้าง ๆ ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีการตีความที่มากขึ้น


ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมฯ จะทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อร้องขอให้ รมว. สั่งการลงมาว่า จะให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อการศึกษาว่าจะให้มีการร่างข้อประกาศอย่างไร เพื่อให้มีการออกประกาศให้มีความครอบคลุม และชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

สพ. บุญญกฤช กล่าวว่า ทางกรมฯ ออกหนังสือให้สถานีโทรทัศน์ช่อง One เข้ามาชี้แจงว่าในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์นั้น มีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไร มีผู้เชี่ยวชาญตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ และโดยใคร ซึ่งในเวลานี้ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด และได้มีการดำเนินงานตามขั้นตอนหรือไม่

เมื่อถามถึงการร้องทุกข์กล่าวโทษ สพ. บุญญกฤช กล่าวว่าต้องมีการพิจารณาหลักฐานเสียก่อน ว่ามีความผิดในมาตราใด เพื่อการแจ้งความดำเนินคดีต่อไป และในส่วนของการแจ้งความนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่กรมฯ ก็ได้ จะเป็นบุคคลอื่นที่เห็นว่ามีการกระทำความผิด ก็สามารถไปร้องทุกข์ได้

 

แต่ว่าในส่วนของกรมปศุสัตว์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมีการรวบรวมหลักฐานจนมั่นใจก่อน มิฉะนั้นกรมฯ เองก็อาจจะถูกร้องเรียนว่ากระทำการกลั่นแกล้งได้ และกรมฯ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีความจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังมากกว่าบุคคลทั่วไป

เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้กำกับซีรีส์ได้ออกมาชี้แจงว่า ในการวางยาสลบแมวนั้น มีการดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ สพ. บุญญกฤช กล่าวว่าต้องถามว่าผู้เชี่ยวชาญผู้นั้นเป็นใคร ซึ่งในเวลานี้ยังไม่มีการระบุออกมา และไม่ชัดเจนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับใด

แต่ในกรณีที่มีการกระทำกับตัวสัตว์ ด้วยการฉีดยา นำสารเคมีเข้าสู่ร่างกายสัตว์ โดยเฉพาะการวางยาสลบนั้น จะต้องกระทำโดยสัตวแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้นั้น สัตวแพทยสภาจะเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ ในฐานะผู้ดูแลกำกับการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ซึ่งถ้าหากมีการดำเนินการโดยสัตวแพทย ก็ต้องมีการพิจารณาว่ามีการล่วงละเมิดต่อจริยธรรมหรือไม่

 

และแมวตัวนั้น จะต้องได้รับการตรวจสอบด้วย ซึ่งกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ มีอุปกรณ์ในการตรวจสอบสภาพร่างกายพร้อม เพื่อการพิจารณาว่าสภาพสัตว์นั้นมีความปกติจริง

 

ส่วนข้อกังวลที่ว่า อาจจะเป็นแมวคนละตัวกันนั้น จะต้องมีการนำสืบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าจริงหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

 

เมื่อถามว่าหากในการถ่ายทำ ไม่มีสัตวแพทย์ดูแลกำกับ จะมีความผิดหรือไม่ สพ. บุญญกฤช กล่าวว่า ในขณะนี้ ยังไม่มีการออกประกาศที่ชัดเจนในกรณีการนำสัตว์มาใช้ในการแสดง จึงต้องมีการพิจารณาในหลักของกฎหมายอีกครั้ง ตนเองจึงยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน ขอดูรายละเอียดอีกครั้ง

เมื่อถามถึงการนำสัตว์มาใช้ในการแสดงละคร ว่าจะต้องมีการควบคุมดูแลหรือไม่ อย่างไร สพ. บุญญกฤช กล่าวว่าในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายห้าม และกรมฯ จะดำเนินการตามข้อกฎหมายที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้อาจจะมีกฎหมายอื่นที่สามารถบังคับใช้ จึงต้องไปติดตามก่อนว่าจะทำอย่างไร

 

แต่ในอนาคตผมเชื่อนะครับว่า วันนี้มันอาจจะเป็นคดีตัวอย่างที่จะทำให้ผู้ที่ดำเนินการต่อไปในอนาคต ได้พึงระลึกและสังวรเอาไว้ว่า จะทำอะไรกับตัวสัตว์นั้น จำเป็นที่จะต้องคำนึงในทุก ๆ ด้าน แล้วก็อาจจะเป็นตัวที่ทำให้ในอนาคต อาจจะมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ 

 

ช่วยเพื่อทำให้ฉากต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างสมจริงมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องมีการนำสัตว์เข้ามาเป็นตัวแสดงอีกต่อไป ผมคิดว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับการถ่ายทำได้พัฒนาต่อไป สพ. บุญญกฤช กล่าวว่า

 

เมื่อถามว่ากรณีนี้ อาจจะเข้าข่ายความผิดอะไรบ้าง สพ. บุญญกฤช กล่าวว่าถ้าเป็นเรื่องของการวางยา โดยไม่มีสัตวแพทย์ อย่างน้อยก็เป็นเรื่องของการทารุณกรรมแน่นอน เพราะตาม พรบ. วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 นั้น จำเป็นที่จะต้องมีสัตวแพทย์เป็นผู้ดำเนินการ หากเป็นการกระทำโดยบุคคลอื่นนั้น หรือเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม กรณีนี้ สัตวแพทยสภาจะเป็นเจ้าทุกข์ในการดำเนินการในเรื่องนี้

 

และการกระทำการที่ทำให้สัตว์ทุรนทุรายนั้น อาจจะเข้าข่าย พรบ. ป้องกันการทรมาณสัตว์ มาตรา 20 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 31 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

แต่ถ้าหากว่าไม่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ให้ดี ก็จะมีความผิดตามมาตรา 22 ซึ่งในส่วนนี้มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

 

สพ. บุญญกฤชกล่าวยืนยันว่า กรมปศุสัตว์จะดำเนินการกำกับดูแลกฎหมายในส่วนนี้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และสามารถที่จะคุ้มครองสัตว์ได้




เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า