บีบ Google ขาย Chrome อาจเผชิญอุปสรรคทางกฎหมาย ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงท่าทีของ ปธน.ทรัมป์ที่เปลี่ยนไปจากสมัยแรก
ความพยายามของหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ Alphabet ซึ่งเป็นเจ้าของเสิร์ชเอนจิ้น Google ขายเบราว์เซอร์ Chrome ออกไป รวมถึงข้อเสนออื่นๆ เพื่อลดการผูกขาดตลาดเสิร์ชเอนจิ้นนั้น มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับ “อุปสรรคทางกฎหมาย” ด้วยเหตุผลที่ว่าแนวทางแก้ไขนั้นรุนแรงเกินไป
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) ได้ขอให้ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลาง บีบให้ Alphabet ขายเบราเซอร์ Google Chrome เพื่อทำการแบ่งปันข้อมูลและผลการค้นหากับคู่แข่ง และขายซอฟต์แวร์สมาร์ทโฟน Android ออกไป
โดยความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้พิพากษาศาลสหรัฐฯ ตัดสินในเดือน ส.ค. ว่า Google ดำเนินการผูกขาดที่ผิดต่อข้อกฎหมายของสหรัฐฯ
ด้าน Google ตอบโต้กลับมาว่า กระทรวงยุติธรรมใช้อำนาจเกินขอบเขตอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภค นักพัฒนา และธุรกิจขนาดเล็กของอเมริกา
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของคดีสำคัญที่มุ่งหวังจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้ แต่การบริหารงานของรัฐบาลทรัมป์ที่สนับสนุนธุรกิจ อาจทำให้กระบวนการทางกฎหมายกินเวลานานหลายปี
คดีนี้เริ่มตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวว่าเขาอาจจะไม่สั่ง Google ให้แยกธุรกิจเบราว์เซอร์ Chrome เพราะอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่การแข่งขันกับจีนในด้านต่างๆ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังดุเดือดอยู่ในขณะนี้
Chrome ซึ่งเป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด ถือเป็นกุญแจสำคัญทางธุรกิจของ Google เนื่องจากบริษัทสามารถนำข้อมูลของผู้ใช้งานไปใช้ในการยิงโฆษณาให้ตรงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ โดยรายได้จากการโฆษณาของ Google คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้รวมทั้งหมดของ Alphabet ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 8.83 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.05 ล้านล้านบาท) ในไตรมาสล่าสุด
(1 ดอลลาร์ = 34.56 บาท)