
ราชินีซอฟต์พาวเวอร์ของไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนไทยได้อย่างยั่งยืน
ในการพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม จากการหลั่งไหลเข้ามาของเทคโนโลยีอุตสาหกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นได้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนในสังคมไทยไปอย่างมากมาย ขนาด GDP ของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 60 ปีเติบโตขึ้นกว่า 181 เท่า
โดยในปี 2503 ประเทศไทยมีขนาด GDP เพียง 2.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ในขณะที่ในปี 2563 ประเทศไทยมีขนาด GDP ถึง 500.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ [1]
วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้คนจากชนบทหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่ ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรม และการมีการละทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของไทยตามกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคอุตสาหกรรม
คนไทยในยุคนั้นเกือบจะหลงลืมไปว่าเรานั้น ก็มีรากเหง้าทางภูมิปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ ซึ่งผ่านการเพาะบ่มขึ้นมา ผ่านกาลเวลาหลายร้อยปีโดยบรรพบุรุษของเรา
ถือได้ว่าเรามีความโชคดีที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเล็งเห็นถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎร์ตั้งแต่ปี 2498 และทรงเสด็จเยือนทุกภูมิภาคของไทย ไม่ว่าจะลำบากยากเย็นเพียงไร พระองค์ก็ทรงเสด็จไป ด้วยพระราชปณิธานที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรของพระองค์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2531 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงมีพระราชดำรัสว่า
“ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปพบราษฎรมาทั่วประเทศ เพราะได้มีโอกาสตามเสด็จพระราชดำเนินทุกหนแห่ง จึงได้พบความจริงที่ว่า คนไทยเรานั้นแม้อยู่ห่างไกลความเจริญของเมืองหลวง ก็มีความสามารถทางด้านศิลปะเป็นอย่างสูง เช่น ผ้าไหมไทย ผ้าไทยต่างๆ ที่เห็นมีสีและลวดลายที่สวยงามนั้นเกิดมาจากความสามารถของชาวบ้านเองแท้ๆ ไม่ต้องให้ใครไปออกแบบลวดลายและสีสันให้คนไทย
เหล่านี้เองที่ข้าพเจ้าขอยกย่องว่า เป็นผู้สืบทอดศิลปะให้แก่ชาติบ้านเมืองของเขาจริง แม้แต่ผู้ที่ไม่เคยมีความรู้ทางหัตถกรรมใดๆ เลย ก็ต้องนับว่ามีสายเลือดทางศิลปะอยู่ในตัวแล้ว
ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้วว่า ประชาชนไทยของเราเปรียบเสมือนคลังเก็บรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างแท้จริง เพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสแสดงออกในคุณค่าของเขาเท่านั้น” [2][3]
ซึ่งพระราชดำรัสนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสนพระทัยในงานผ้าทอพื้นบ้าน และงานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย จากการทอดพระเนตรเห็นราษฎร์ของพระองค์ในภูมิภาคต่างๆ ล้วนแต่งกายด้วยผ้าทอพื้นเมืองที่มีสีสันสวยงาม ทุกคนนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ ซึ่งมีความสวยงามต่างๆกัน ทอดพระเนตรด้วยความสนพระราชหฤทัยยิ่ง
จึงมีพระราชดำริว่า ควรจะส่งเสริมให้ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภทแก่บุตรหลานของราษฎรผู้ยากไร้ขึ้น ณ บริเวณสวนจิตรลดา และเปิดสอนสมาชิกในต่างจังหวัดในบริเวณพระราชนิเวศน์ทุกภาค
ในเวลาที่พระองค์สมเด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ทรงรับเด็กยากจนที่มีการศึกษาน้อย รวมทั้งผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการช่างใดๆ เข้าเป็นนักเรียนศิลปาชีพ ทรงเสาะหาครูผู้มีฝีมือที่ยังหลงเหลืออยู่มาถ่ายทอดผลงาน ทรงติดตามผลงานทุกชิ้น พระราชทานกำลังใจแก่สมาชิกทุกคนและโปรดที่จะทรงใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทุกชนิด เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไปด้วย
นอกจากนี้ ทรงโปรดฯ ให้มีการประกวดทอผ้าในจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนพัฒนาพัฒนาลวดลายของผ้าทอ โดยมีการตั้งรางวัลเอาไว้นับแสนบาท ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับสมัยนั้น ทำให้นักทอผ้าท้องถิ่นมีกำลังใจในการพัฒนาทักษะฝีมือของตนเอง
อีกทั้งยังทรงรับซื้อผลงานของชาวบ้าน มาออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ ที่สวยงามและทันสมัยสวมใส่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในวาระต่างๆ ทั้งฉลองพระองค์ทรงงาน ฉลองพระองค์ชุดราตรีสั้น ฉลองพระองค์ชุดราตรียาว ตลอดจนพระมาลา ฉลองพระบาท และกระเป๋าเดินทางที่ทำจากผ้าไทย เพื่อเป็นแบบอย่าง ดึงความงามอันทรงคุณค่าของผ้าไทย ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
จนไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่าสมเด็จพระพันปีหลวงทรงวางรากฐานซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นไทยมานับแต่นั้น
เพื่อให้การส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรมของไทย ดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2519 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” โดยทรงพระราชทานทุนทรัพย์แรกเริ่มและทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ ด้วยพระองค์เองอีกด้วย
และในเวลาต่อมา ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเปลี่ยนชื่อมูลนิธิเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ในปี 2531
ถึงแม้ว่ามูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จะเป็นมูลนิธิที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริ และพระวิริยะอุตสาหะในการบริหารงานมูลนิธิด้วยพระองค์เอง แต่พระราชประสงค์ในการดำเนินโครงการ มิได้ทรงหวังในผลกำไรของมูลนิธิ แต่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีความสามารถในการสร้างงาน สร้างรายได้ได้ด้วยตัวเอง
ความสำเร็จของโครงการจึงชี้วัดได้จากกระแสความนิยมผ้าไทยในหมู่ประชาชนคนไทย และชาวต่างชาติ ซึ่งทุกวันนี้ นอกจากสังคมไทยให้การยอมรับในผ้าไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย ยังได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติอีกด้วย
กิจกรรมแต่งชุดไทย ท่องเที่ยวประเทศไทยของชาวต่างชาติ เป็นที่มาของรายได้ของประชาชนชาวไทยในหลายภาคส่วน และยังมีอินฟลูเอ็นเซอร์ชาวต่างชาติ ที่แต่งชุดไทยทำคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย ส่งเสริมให้เกิดความนิยมในศิลปวัฒนธรรมไทยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ความสำเร็จของประเทศไทย ด้านซอฟต์พาวเวอร์วัฒนธรรมในวันนี้ ไม่สามารถปฎิเสธได้เลยว่า ล้วนเกิดขึ้นจากพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเริ่มต้นไว้ตั้งแต่เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว
ซึ่งนำมาซึ่งแหล่งรายได้ และอาชีพการงานให้แก่พสกนิกรของพระองค์ จนกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเปรียบเสมือน “ราชินีซอฟต์พาวเวอร์ของไทย” ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ให้อยู่คู่คนไทย สร้างรายได้ให้คนไทยได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง
[1] https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=TH
[2] https://www.thaipost.net/news-update/199116/
[3] https://smartlife-news.com/style/journey-thai-silk/
[4] https://www.wisdomking.or.th/th/page/queenmother
[5] https://www.sacit.or.th/th/detail/AboutSupportFoundationOfHmq