กวาดล้างปลาหมอคางดำ ธรรมนัสสั่งกวาดล้างพร้อมศึกษาโครโมโซมเพื่อทำหมัน ด้าน CPF แจงทำลายปลาดังกล่าวตั้งแต่ปี 54 แล้ว
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่านับตั้งแต่ที่ตนเองเข้ามารับตำแหน่ง ก็ติดตามและสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำมาโดยตลอด ถือเป็นสัตว์น้ำสายพันธุ์พิเศษที่ขยายพันธุ์ได้ไว และกินทุกอย่างที่เป็นสัตว์น้ำ ถือว่าเป็นสัตว์อันตรายและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องนำมาเป็นวาระแห่งชาติ
ที่ผ่านมามีการสั่งการให้มีการศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนโครโมโซม เพื่อที่จะทำให้ปลาตัวผู้ไปผสมพันธุ์แล้วเป็นหมันและหากโครโมโซมตัวนี้ไปผสมพันธุ์กันเองจะเกิดสายพันธุ์ใหม่อีกหรือไม่ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียด แต่เวลานี้ต้องล่าและฆ่าให้หมด อีกทั้งยังได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตั้งงบประมาณ เป็นกองทุนในการรับซื้อปลาหมอเพื่อนำไปทำปุ๋ย แล้ว
ส่วนต้นตอ ที่มาของปลาหมอคางดำนั้น ได้สั่งการให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีความชัดเจน ต้องทำงานอย่างละเอียด เพราะการจะไปโทษบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้น มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาข้อมูลจากสภาผู้แทนราษฎร์ว่าใครเป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำสู่ราชอาณาจักร ต้องทำงานประสานกันไป และคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะได้รายละเอียด
สำหรับปัญหาปลาหมอคางดำนั้น ความจริงแล้วมันหนักมาหลายปีแล้ว และเราก็มีการล่ามาโดยตลอดทุกจังหวัด และมีปฏิบัติการในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ แต่ตอนนี้ขยายไปถึงเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ และอยู่ได้ทั้งลำน้ำสาขาทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม มันอยู่ได้หมด
เมื่อถูกถามถึงบริษัทที่นำเข้าปลาหมอคางดำ และมีความเกี่ยวโยงกับคลองในสมุทรสงคราม ร.อ. ธรรมนัสกล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวยังสรุปไม่ได้ เราตีความกันไปเอง เราต้องหาข้อมูลที่ชัดเจนให้ได้ก่อน
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่าบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการทบทวนข้อมูลย้อนหลัง 14 ปี พบว่าบริษัทมีการนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในเดือน ธ.ค. 2553 และได้ทำการทำลายไปเมื่อเดือน ม.ค. 2554 ตามมาตรฐานของกรมประมง อีกทั้งได้มีการส่งตัวอย่างซากปลาไปแล้วในปีนั้น
ต่อมาพบการระบาดในปี 2560 กรมประมงได้เดินทางเข้ามาขอข้อมูลการนำเข้าและการบริหารจัดการในปี 2553 ซึ่งทางบริษัทรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว
และขอยืนยันว่าบริษัทไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าว นอกจากนี้บริษัทยังได้ให้การสนับสนุนมาตรการภาครัฐในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในครั้งนี้อีกด้วย