Newsทรัมป์ตั้งกำแพงภาษี เพื่อสร้างอำนาจในการเจรจา ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้ทรัมป์จะบีบให้ไทยซื้อสินค้าและอาวุธเพิ่ม แลกเปลี่ยนกับการลดกำแพงภาษีนำเข้าสหรัฐ

ทรัมป์ตั้งกำแพงภาษี เพื่อสร้างอำนาจในการเจรจา ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้ทรัมป์จะบีบให้ไทยซื้อสินค้าและอาวุธเพิ่ม แลกเปลี่ยนกับการลดกำแพงภาษีนำเข้าสหรัฐ

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ซึ่งจะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ว่าทรัมป์เลือกคนสนิทดำรงตำแหน่งใน (ครม.) จริง

โดยทรัมป์แต่งตั้งเพื่อนสนิทที่เล่นกอล์ฟมาด้วยกันให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านตะวันออกกลาง และผู้หญิงหลายคนที่ให้การสนับสนุนเขาก็ได้รับการแต่งตั้ง ตัวอย่างเช่น นางคริสตี โนเอม ผู้ว่าการรัฐเซาท์ดาโคตา ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รมว. ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ (Homeland Security) ซึ่งกระทรวงนี้จะควบคุมความมั่นคงภายในประเทศทั้งหมด

 

การแต่งตั้ง ครม. ทรัมป์นั้นทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะว่ามีการแต่งตั้งที่รวดเร็ว และแตกต่างจากในอดีต เช่นกรณีของนายพีต เฮกเซท ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่ง รมว. กลาโหม นั้นเป็นอดีตผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว Fox News และถึงแม้ว่าเฮกเซทจะเคยมียศเป็นพันตรีในกองกำลังป้องกันชาติทางบก (Army National Guard) แต่เขาไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้ง ทรัมป์ได้แต่งตั้งคน 3 กลุ่มอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มที่จะเข้าไปควบคุมทำเนียบขาว แต่งตั้ง นางซูซี่ ไวล์ส ที่ปรึกษาทางการเมืองให้เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว (white house chief of staff) เพื่อควบคุมทำเนียบขาว ทำให้ไวล์สกลายเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่มีตำแหน่งสูงสุดในทำเนียบขาว และจะมีการแต่งตั้งอีกหลายคนเข้าไปควบคุมทำเนียบขาวด้วย ซึ่งในส่วนนี้นั้นสำเร็จเรียบร้อยไปแล้ว

 

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) และ รมว. ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิฯ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาเนื่องจากพรรครีพับลิกัน (พรรคที่ทรัมป์สังกัด) ควบคุมเอาไว้อยู่แล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าในอดีตจะเคยมีปฏิเสธชื่อที่ถูกเสนอขึ้นไปบ้าง แต่ในครั้งนี้ไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับกลุ่มนี้

สำหรับกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ปรึกษาพิเศษ ที่ทำหน้าที่เป็นทูต โดยทรัมป์ปลดคนที่เห็นต่าง หรืออาจจะอยู่คนละฝั่งออก ซึ่งสร้างเสียงวิจารณ์มาก

และที่มีการพูดถึงกันมากที่สุดคือ ทรัมป์เสนอให้มีการตั้งกระทรวงใหม่ คือกระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล/ราชการ (Department of Government Efficiency -DOGE) และเสนอให้มีการยุบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์เสนอในนโยบายหาสียงของเขา โดยจะแต่งตั้งอีลอน มัสก์ และวิวเก รามาสวามี 2 นักธุรกิจชาวอเมริกันควบคุมกระทรวงนี้ 

 

ซึ่งกระทรวงนี้นั้น จะต้องให้สภาคองเกรซอนุมัติเสียก่อน แต่ก็น่าจะได้รับความเห็นชอบ และขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงนี้ คือเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดขนาด ลดค่าใช้จ่ายของระบบราชการลง เพื่อให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ

 

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ทรัมป์เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลางนั้นไม่มีประโยชน์ เนื่องจากในแต่ละรัฐนั้นมีกระทรวงศึกษาธิการของตนเองอยู่แล้ว ควรให้แต่ละรัฐดูแลกันเอง ตามที่แต่ละรัฐเห็นสมควร โดยที่รัฐบาลกลางไม่จำเป็นต้องเข้าไปสั่งการ ซึ่งทรัมป์เห็นว่านอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลางอีกด้วย และแต่ละรัฐก็ควรจะไปเก็บภาษีกันเอาเอง

 

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลางสหรัฐนั้น ถูกก่อตั้งในสมัยของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งสหภาพครูในสมัยนั้นให้การสนับสนุนคาร์เตอร์ แต่ในครั้งนี้ ทรัมป์เห็นว่าตนเองไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มนี้เท่าไรนัก แต่ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก และสามารถทดแทนได้ด้วยกระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล

 

สำหรับรามาสวามีนั้น เป็นลูกหลานผู้อพยพชาวอินเดีย และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Roivant Sciences บริษัทผู้พัฒนายา และผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพ เคยเป็นคู่แข่งของทรัมป์ในการสมัครชิงตำแหน่ง ปธน. สมัยแรก และทรัมป์แสดงความชื่นชมในตัวรามาสวามี ซึ่งมีแนวคิดสอดคล้องกัน โดยเฉพาะแนวคิดต่อต้านผู้อพยพ

 

สำหรับแนวนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์ ที่ออกไปในแนวทางแข็งกร้าว (สายเหยี่ยว) นั้น รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการทูต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น อยู่เหนือความคาดหมายของผู้สื่อข่าวหลายกลุ่ม

 

ยกตัวอย่างเช่น ไมค์ ฮัคเคบี อดีตผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ นักการเมือง สหรัฐเชื้อสายอิสราเอล ให้เป็นเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหรัฐอเมริกา ซึ่งฮัคเคบีนั้น เคยกล่าวว่าแท้จริงแล้วปาเลสไตน์นั้นไม่มี จะมีก็เพียงแต่ชาติยิวและอิสราเอลเท่านั้น ทำให้มีการเผยแพร่คลิปเก่า ๆ ของกลุ่มคนสายเหยี่ยวเหล่านี้ออกมาเผยแพร่ซ้ำ

 

ซึ่งวิธีการเหล่านี้ของทรัมป์นั้น นอกจากจะเป็นการเขย่าเครืออเมริกาแล้ว ยังเป็นการเขย่าโลกไปด้วย แต่ทั้งนี้ ที่มีการกล่าวว่าเรื่องที่จะถูกเขย่ามากที่สุดนั้นคือเรื่องการตั้งกำแพงภาษีกับจีน 60% การทำสงครามการค้ากับยุโรป และการขึ้นกำแพงภาษีกับชาติเอเชียที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ ซึ่งรวมถึงไทยด้วยนั้น 

 

ประเด็นนี้ถือว่าเป็นที่น่าสังเกตมากว่าในขณะนี้ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า ซึ่งคาดว่าภายหลังจากที่ได้มีการใช้มาตรการหาเสียงเขย่าโลกไปแล้ว ก็คงจะรอให้ชาติเหล่านี้เข้ามาเจรจาต่อรองกันระหว่างทีมที่ปรึกษาหลายกลุ่ม ซึ่งก็จะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

 

ตัวอย่างเช่น อีลอน มัสก์ ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีอย่างสุดโต่ง เนื่องจากการทำเช่นนั้นจะทำให้การแข่งขันลดลง และขณะนี้กำลังมีการต่อรองให้จีนย้ายฐานการผลิต มาลงทุนในสหรัฐ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีบางอย่างที่สหรัฐต้องการให้ ก่อนที่จะมีการประกาศตัวเลขกำแพงภาษีที่แท้จริง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องรอ

 

ซึ่งแนวทางลักษณะนี้นั้น เป็นแนวทางของนักบริหารธุรกิจที่ช่ำชองอย่างทรัมป์อยู่แล้ว และเรื่องนี้ต้องติดตามในระยะยาวต่อไป

 

สำหรับนโยบายผู้อพยพ ซึ่งมีนายทอม โฮแมน อดีตรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐ (U.S. Immigration and Customs Enforcement ICE) เข้ามาเป็นผู้ควบคุมชายแดน (Border Czar) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิฯ

 

ซึ่งสิ่งที่น่าพิจารณาคือ คริสตี โนเอม รมว. ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิฯ นั้น ไม่ได้มีประสบการณ์มากนัก ในขณะที่กระทรวงความมั่นคงฯ นั้นมีขนาดใหญ่มาก มีข้าราชการประจำอยู่เป็นแสนคน มีหน้าที่ในการดูแลครอบคลุมทั้งเรื่องผู้อพยพ การค่อการร้าย ความมั่นคงภายใน ภัยคุกคามไซเบอร์ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในประเทศ

 

ซึ่งทำให้มีผู้หญิง เข้ามาควบคุมทั้งทำเนียบขาว หน่วยงานความมั่นคงประเทศ และอาจจะเข้ามาคุมในเรื่องเศรษฐกิจบางส่วน และเรื่องการพัฒนาสังคมในอีกหลายส่วน

 

แต่ทั้งนี้การคัดกรองผู้ที่อยู่ในสหรัฐอย่างผิดกฎหมายเป็นเป้าแรกของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะถูกเนรเทศออกไป และคาดว่าจะออกมาตรการในส่วนนี้อย่างชัดเจนก่อนวันที่ 20 ม.ค. 2568 และมีการคาดการว่าจะมีการทยอยส่งกลับ ไม่ใช่ส่งกลับทีเดียวเป็นล้าน ๆ คน และกลุ่มชาวเม็กซิโกจะถูกเพ่งเล็งมากที่สุด

 

ที่น่าสนใจคือการแก้แค้น ซึ่งในอดีต ในการเมืองสหรัฐไม่ค่อยมีกรณีการแก้แค้นมากนัก แต่มักจะเลือกใช้วิธีการรอมชอมกันมากกว่า 

 

ซึ่งเป้าในครั้งนี้คือนายเควิน รัดด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำสหประชาชาติ และอดีตนายกฯ ออสเตรเลีย ซึ่งเคยทวิตข้อความกล่าวหา และไม่สนับสนุน ปธน. ทรัมป์ ระบุว่าทรัมป์ไม่มีความลาด เปรียบเสมือนหลอดไฟที่ไม่สว่าง จนถูกฝ่ายตรงข้ามกับทรัมป์นำมาใช้โจมตี ทำให้รัดด์ต้องลบทวิตที่เคยกล่าวถึงทรัมป์ในทางที่ไม่ดีออกในภายหลัง 

 

มีหลายคนต้องการให้ออสเตรเลียปลดรัดด์ออกจากตำแหน่ง แต่แอนโทนี แอลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียระบุว่ายังไม่มีนโยบายที่จะปลดนายรัดด์ออก (ในรัฐบาลของเคลวิน รัดด์ แอนโทนี แอลบานีม ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ) ซึ่งคาดว่าออสเตรเลียคงจะได้รับแรงกดดันในเรื่องนี้อย่างมาก 

 

ซึ่งที่ผ่านมา ออสเตรเลียมักจะมีปัญหาเช่นนี้กับหลายประเทศ ซึ่งรวมไปถึงทั้งจีน และไทย แต่หลายประเทศมักจะปล่อยผ่าน แต่คาดว่ารัฐบาลทรัมป์ไม่น่าจะปล่อยผ่าน โดยให้มาร์ค รูบิโอ รมว. ต่างประเทศผู้ผู้ดำเนินการ

 

สำหรับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร์นั้น ยังคงมีการแย่งชิงกันอยู่ ซึ่งพรรครีพับลิกันพยายามที่จะเข้าควบคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาให้ได้ เพื่อให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศนั้นทำได้ง่ายขึ้น เช่นกันลดงบประมาณสนับสนุนยูเครน เพื่อหาแนวทางในการยุติสงครามในยูเครน ซึ่งในเวลานี้มีอยู่ 2 -3 แนวทางในการเจรจากับรัสเซีย และยูเครน ซึ่งเรื่องนี้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จถูกจับตามอง

 

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับสหประชาชาติ (UN) นั้น จะมีความคล้ายคลึงกับรัฐบาลทรัมป์ 1 แต่ว่าจะมีความเข้มข้น และชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าต้องการให้ UN รับผิดชอบด้านการเงินของตนเองมากขึ้น และให้ UN สนับสนุนสหรัฐมากขึ้น

 

แต่ว่าในความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงนั้นยังแตกอยู่ แต่ถ้ารัฐบาลทรัมป์ 2 สามารถควบคุมร่วมกับรัสเซียได้ และต่อรองกับจีนได้ สถานการณ์ของ UN ก็จะเอนเอียงมาทางสหรัฐมากขึ้น ซึ่งนี่ก็จะคล้ายกับนโยบายของสหรัฐต่อยุโรป ที่ต้องการให้สหภาพยุโรปเอนเอียงมาทางสหรัฐ ในรูปแบบใหม่

 

ในส่วนของนโยบายต่อเอเชียแปซิฟิกนั้น สหรัฐน่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงพอสมควร ซึ่งเรื่องของไต้หวันนั้น สหรัฐกำลังเจรจาต่อรองกับจีนอยู่ ซึ่งน่าจะมีอีกหลายเรื่องที่ทรัมป์มองว่าเป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์ถูกรวบเข้าไปด้วย

 

ซึ่งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทรัมป์นั้นมีความคุ้นเคยกับเอเชีย น่าจะมีความพยายามให้ชาติในเอเชียซื้อสินค้า และอาวุธจากสหรัฐมากขึ้น เพื่อลดการขาดดุล โดยเฉพาะเวียดนามและไทยที่สหรัฐตั้งเป้าให้ซื้อสินค้าสหรัฐมากขึ้น โดยใช้เรื่องกำแพงภาษีมาเป็นข้อต่อรอง

 

อีกทั้งจะมีการสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการบีบให้ญี่ปุ่นต้องแบบรับภาระมากขึ้นกว่านี้อีกหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ในเวลานี้ญี่ปุ่นเองก็รับภาระมากอยู่แล้ว ส่วนเกาหลีใต้กำลังเดินความสัมพันธ์กับสหรัฐในช่องทางพิเศษ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีความมุ่งหมายในการปิดล้อมจีน

 

นอกจากนี้ สมรภูมิในเมียนมานั้น รัฐบาลทรัมป์น่าจะให้ความสำคัญมากกว่าที่หลายคนประเมินเอาไว้ด้วย





เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า