
ใช้กลไกอาเซียนรับมือกำแพงภาษีทรัมป์ ‘พริษฐ์’ เสนอให้ไทยแสดงบทบาทความเป็นผู้นำอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในการเจรจากับสหรัฐ
ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน โพสต์ข้อความกล่าวถึงแนวทางในการรับมือนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐว่า
“[ รวมพลังอาเซียนรับมือภาษีทรัมป์ : 5 ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ในการใช้กลไกอาเซียน เพื่อช่วยเหลือคนไทยฝ่าฟันวิกฤตเฉพาะหน้าและความเสี่ยงจากการจัดระเบียบโลกใหม่ในระยะยาว ]
.
**UPDATE: ล่าสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศระงับมาตรการภาษีต่างตอบแทน 90 วัน (โดยคงไว้ที่ภาษีพื้นฐาน 10%) สำหรับ 75 ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะรวมถึงประเทศไทย – แต่ผมคิดว่าข้อเสนอที่อภิปรายไปเมื่อวานยังมีความเกี่ยวข้องอยู่**
เมื่อวานนี้ ผมได้ร่วมอภิปรายเสนอแนะรัฐบาลเกี่ยวกับการรับมือผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าให้กับประชาชนทุกคนในทุกประเทศ แต่ยังจะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระเบียบโลก ที่เสี่ยงจะถูกเปลี่ยนจากการค้าที่เสรีและยึดถือกฎกติกาที่ยอมรับร่วมกัน มาเป็นการค้าที่อิงกับความไม่แน่ไม่นอนและการตอบโต้กันไปมา
ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล นายกฯแพทองธาร พูดถึงเป้าหมายในการ “เพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีโลก”
.
วันนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ว่า “บทบาทประเทศไทยในเวทีโลก” ที่ท่านนายกฯ พูดถึงไม่ได้หมายถึงแค่การจับมือผู้นำ การเดินพรมแดง หรือการถ่ายภาพสวยๆ แต่ต้องหมายรวมถึงความสามารถในการใช้เวทีนานาชาติและการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนคนไทย
ในเมื่อคำขวัญอาเซียนคือ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” ข้อเสนอของผม คือการให้รัฐบาลไทยลุกขึ้นมามีบทบาทนำในการทำให้ประเทศในอาเซียนเป็น “หนึ่งประชาคม” ที่เดินหน้าร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ในอย่างน้อย 5 เรื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย
- เชิญชวนประเทศอื่นในอาเซียนมาออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อยืนยันหลักการว่าระเบียบโลกที่ส่งเสริมการค้าเสรีเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ และยืนยันว่าการที่สหรัฐขาดดุลทางการค้ากับประเทศอื่นไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่นเอาเปรียบสหรัฐ
– เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การยืนยันทฤษฎีหล่อๆ แต่ในเชิงข้อเท็จจริง ประเทศในอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศมากเป็นอันดับต้นๆ
– ทั้งนายกฯสิงคโปร์และมาเลเซียได้ออกมายืนยันหลักการดังกล่าวและวิจารณ์การกระทำของสหรัฐในแถลงการณ์ทางการของแต่ละประเทศ แต่กลับเป็นนายกฯของประเทศไทยเสียเอง
ที่เลือกไม่ยืนยันหลักการดังกล่าวในแถลงการณ์เมื่อ 3 เม.ย. โดยไปยอมรับว่า “รัฐบาลไทยตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐฯ ที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมาก ผ่านนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน”
– ดังนั้น รัฐบาลไทยควรแก้มือและดึงทุกประเทศในอาเซียน ร่วมกันยืนยันหลักการเรื่องการค้าเสรี
- รวมตัวกับประเทศอื่นในอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและรวมทรัพยากรในการเจรจากับสหรัฐ
– ในขั้นพื้นฐาน การเจรจาร่วมกันในฐานะอาเซียนจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง และทำให้เสียงเราดังขึ้น (ประเทศไทยไทยมีขนาดเศรษฐกิจอันดับที่ 25-30 ของโลก แต่ทุกประเทศในอาเซียนรวมกันจะมีขนาดเศรษฐกิจเทียบเท่ากับอันดับที่ 5 ของโลก)
– ยิ่งไปกว่านั้น การเจรจาร่วมกันในฐานะอาเซียนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการนำทรัพยากรของแต่ละประเทศมารวมกัน (เช่น การเพิ่มขนาดของตลาดที่เราสามารถร่วมกันเปิดให้กับสินค้าสหรัฐ การรวมเครือข่ายที่แต่ละประเทศนีในการติดต่อเจรจากับรัฐบาลทรัมป์)
- แสวงหาข้อตกลงระหว่างประเทศในอาเซียน ว่าจะไม่ดำเนินยุทธศาสตร์การเจรจากับสหรัฐที่ขัดแย้งหรือตัดกำลังกันเอง
– หากไม่มีการพูดคุยกันและปล่อยให้ต่างคนต่างทำเต็มที่ แต่ละประเทศอาจดำเนินการยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน (บางประเทศอาจเน้นตอบโต้ / บางประเทศอาจเน้นลดแลกแจกแถม)
– การที่แต่ละประเทศแยกกันเดินเข้าหาสหรัฐและแข่งกันเอาใจสหรัฐเพื่อเอาตัวรอด จะเข้าทางสหรัฐ
– ดังนั้น หากประเทศในอาเซียนมีกรอบข้อตกลงร่วมกัน ว่าจะไม่มีใครแตกแถวไปเอาใจสหรัฐด้วยตนเองมากเกินควร กลุ่มประเทศเราอาจจะได้ข้อตกลงกับสหรัฐที่โดยรวมแล้วเป็นประโยชน์สำหรับทุกประเทศมากกว่า
- แสวงหาข้อตกลงระหว่างประเทศในอาเซียน เพื่อลดอุปสรรคต่อการค้าระหว่างกันและกัน
– ในระยะเฉพาะหน้า ทุกประเทศจะต้องเร่งเยียวยาและหาตลาดใหม่ให้กับผู้ประกอบการ
– หากยังเจรจาเพื่อลดกำแพงที่สหรัฐตั้งไว้ไม่ได้ สิ่งที่ประเทศในอาเซียนควรทำคือการร่วมกันลดกำแพงที่เหลืออยู่ในการทำการค้าระหว่างกันและกันเอง โดยเฉพาะมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เช่น ข้อกำหนดทางเทคนิคหรือขั้นตอนทางธุรการที่ซับซ้อนหรือไม่โปร่งใส คุณวุฒิวิชาชีพหรือมาตรฐานสินค้าที่ยังเหลื่อมกัน)
- เพิ่มสถานะและอิทธิพลของ ASEAN ในอนาคตโลกที่อาจเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างหลายมหาอำนาจ
– แม้คงไม่มีใครกล้าบอกว่าไทยจะกลายมาเป็น “ประเทศมหาอำนาจ” แต่เราต้องไม่ลดทอนประเทศไทยให้กลายเป็น “ประเทศเล็ก”
– ดังนั้น หากประเทศต้องการวางตนเองเป็น “อำนาจกลาง” ที่มีพลัง เราควรตั้งเป้าเป็นผู้นำของ อาเซียนที่หันมามียุทธศาสตร์ร่วมกันที่ชัดขึ้น ในการปฏิสัมพันธ์ประเทศอื่นบนฐานของกฎกติกาสากล มากกว่าการแยกกันเดินจนต่างถูกบีบให้สมยอมกับมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง
ในเมื่อวิกฤตนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเทศไทย ทางออกเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยบทบาทความเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะการใช้กลไก ASEAN ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการช่วยเหลือคนไทยฝ่าฟันวิกฤตเฉพาะหน้าและความเสี่ยงจากการจัดระเบียบโลกใหม่ในระยะยาว”