News“คนมาปล้นบ้านเรา บอกว่ารอก่อน อีก 3 เดือนเดี๋ยวค่อยออก… เราจะยอมได้หรือ?”

“คนมาปล้นบ้านเรา บอกว่ารอก่อน อีก 3 เดือนเดี๋ยวค่อยออก… เราจะยอมได้หรือ?”

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้มีการรายงานข่าวว่า กองทัพไทยได้ยื่นคำขาดต่อกองทัพสหรัฐว้า หรือกองทัพว้าแดง ให้ถอนกำลังออกไปจากพื้นที่พิพาทระหว่างว้าแดงกับประเทศไทย ภายในวันที่ 18 ธ.ค. 2567 ซึ่งได้ผ่านไปแล้ว 3 วัน แต่ทางว้าแดงยังไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะมีการถอนกำลังออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการในลำดับต่อไปอย่างไร

 

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวว่าในเวลานี้ กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ที่อยู่ติดกับอาณาเขตของว้าแดงนั้น ยังไม่ได้มีการให้รายละเอียดที่ชัดเจนออกมา ข้อมูลที่ปรากฏขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นข้อมูลที่ออกมาจากฝั่งว้าแดง

 

แต่ถึงแม้ว่าในเวลานี้จะยังไม่สามารถสรุปได้ แต่ก็น่าจะมีความพยายามให้ว้าแดงนั้นถอยออกไปจากฐานปฏิบัติการดอยหัวม้า และอีก 6 ฐานฯ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพื้นที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และมีการล้ำเข้ามาในฝั่งไทยประมาณ 100 เมตร

 

และเมื่อผ่านกำหนดที่ยังคลุมเครือไปแล้ว ก็มีการชี้แจงจากทางการไทยว่ายังอยู่ในระหว่างการเจรจากันอยู่ ซึ่งหมายความว่าก็อาจจะมีการเลื่อนเวลา ขอผ่อนผัน หรือต่อรอง ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้อยู่ในระบบของหน่วยงานความมั่นคงของเรา

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการจัดประชุมภายในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งก็น่าจะมีความชัดเจนอยู่พอสมควร อีกทั้งยังมีการพูดคุยกันในระดับคณะกรรมการระดับภูมิภาคระหว่างไทย-เมียนมาครั้งที่ 36 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่เมืองมะริดในเมียนมาด้วย

 

ซึ่งก็คงเป็นการพูดคุยกันในเรื่องนี้บ้างแต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป เราจึงต้องรอฟังว่าจะมีการย้ายออกไปเมื่อไร และถ้ามีการย้ายจริง ๆ ก็คงจะมีการส่งคลิปออกมาเผยแพร่กันไปแล้ว แต่ในเมื่อยังไม่มี ก็อาจจะแสดงว่ายังไม่ถอนตัวออกไป

 

เพราะว่ากลุ่มว้าแดงนั้นได้เข้ามาตั้งแต่ปี 2545 และเริ่มมีการตั้งฐานในปี 2553 โดยกองกำลังจากกองพลน้อยที่ 778 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองพลว้าแดง ซึ่งในปัจจุบันมีกำลังพลอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นคน และขยายกำลังออกมาที่ดอยหัวม้า และฐานเรือบินซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านแปกแซม อ. เวียงแหง จ. เชียงใหม่

 

แต่ฐานที่ใหญ่ที่สุดนั้นอยู่ที่ดอยไฟ ตรงข้ามกับ อ. เวียงแหง จ. เชียงใหม่ มีการวางกำลังระดับกองพัน มีทหารประจำการนับร้อย พร้อมอาวุธหนักเช่นปืนครก เครื่องยิงจรวด ปืนกลหนัก และปืนต่อต้านอากาศยาน ในประจำการ 

 

ซึ่งพื้นที่ตรงนี้นั้นมีความสุ่มเสี่ยงต่อการรุกล้ำไทยเข้ามา เพราะว่าอยู่ตรงสัน บนภูเขาหัวโล้น และล้ำแดนลงมาตรงฝ่ายไทย และในอีกหลายพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-ว้าแดงก็เป็นเช่นนี้ เรื่องทั้งหมดนี้นั้นเป็นเรื่องที่คาราคาซังมานาน

 

ส่วนกองกำลังของฝ่ายไทยที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้น ได้มีการส่งตัวแทนเข้าไปเจรจาในหลายระดับ ซึ่งรวมถึงระดับท้องถิ่นด้วย ปีละหลายครั้งมาก โดยในช่วงก่อนโควิด-19 มีการพูดคุยกันถึง 50 70 ครั้งต่อปี อีกทั้งยังมีการยื่นหนังสือประท้วงไปแล้วด้วย

 

ซึ่งเรื่องนี้นั้นควรจะต้องมีการจัดระเบียบกันใหม่ และผลักดันให้กองกำลังเหล่านี้นั้นถอยร่นขึ้นไปอยู่บนยอดดอย หรือสันเขา ออกไปจากเขตแดนของไทยที่มีพิกัดที่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ ทางฝั่งเมียนมา ว้าแดง และกองกำลังกะเหรี่ยงอีก 2-3 กองกำลังนั้นกล่าวอ้างว่ายังไม่มีการทำข้อตกลงกัน และอ้างว่ายังเป็นพื้นที่ของเขาอยู่ไปจนกว่าจะมีการจัดทำหลักเขตแดนระหว่างประเทศสำเร็จ ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายสำหรับไทย

 

และที่น่ากังวลอีกประการก็คือ กองกำลังเหล่านี้ จะลำเลียงยาเสพติดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยผ่านแดนของประเทศไทยไปหรือไม่ อีกทั้งต่างชาติต่างก็จับตามองเรื่องนี้อยู่ ไทยจึงต้องหาทางจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งถ้าหากว่าว้าแดงจะขอผ่อนผันอีก ก็ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าจะขอผ่อนผันไปนานเท่าใด

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยควรจะต้องเพิ่มแรงกดดันต่อฝ่ายตรงข้ามให้มากขึ้น แต่ก็ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และในเวลานี้นั้น ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังเข้าปะทะกันให้เกิดความสูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย แต่อาจจะให้วิธีการควบคุมจุดผ่านแดนให้มากขึ้นก็ได้ ควบคุมคนและสิ่งของที่จะผ่านแดน หรือเพิ่มการกวดขัดสินค้าผิดกฎหมายก็ทำได้

 

หรืออาจใช้การควบคุมการทำประมงร่วมกัน หรือไม่ก็ออกหมายจับบุคคลที่ถูกต้องการตัวของฝ่ายรัฐบาลเมียนมากลับประเทศก็ได้ หรือเพิ่มความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้านเพื่อการสกัดกั้นการเข้ามาของฝ่ายตรงข้ามก็ได้ (โครงการหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวชายแดน)  มีวิธีการให้เลือกดำเนินการอยู่หลายวิธี 

 

สำหรับการกดดันทางเศรษฐกิจนั้น ต้องยอมรับว่าในบางส่วนนั้นไทยยังพึ่งพิงเมียนมาอยู่ เช่นแรงงาน และพลังงาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้นั้นจะต้องมีการชั่งน้ำหนักดูให้ดี ๆ ทั้งนี้ทหารในพื้นที่นั้น มีการพูดคุยกับฝั่งตรงข้ามเป็นระยะ ๆ จึงสามารถบอกรัฐบาลได้ว่าจะสามารถกดดันตรงไหนได้บ้าง

 

ซึ่งถ้ากองทัพไทยตัดสินใจแล้วว่าจะกดดัน ก็สามารถกระทำได้โดยไม่ยาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับผลกระทบที่ตามมาด้วย และจะต้องแนะนำรัฐบาลผ่าน สมช. ให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

สำหรับความเคลื่อนไหวของกองทัพไทยนั้น ได้มีการแสดงออกไปแล้วด้วยการซ้อมรบ และเสริมกำลังตามแนวชายแดนเพื่อการป้องกันเหตุร้าย แต่ยังไม่ถึงขั้นเข้าประชิด และเริ่มที่จะมีปฎิบัติการผลักดัน และกองทัพไทยก็มีความพร้อมเพิ่มมากขึ้น

 

ซึ่งทางว้าเองก็ได้รับสัญญาณตรงนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายท่านระบุว่าว้านั้นมีหลายฝ่าย มีทั้งว้าที่รบเก่ง กับว้าสมัยใหม่ที่ชอบการค้าขาย แต่ทั้งนี้ว้าที่อยู่ชิดติดชายแดนไทยนั้น มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ ดังนั้นการเข้าไปผลักดังนั้นจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคนไทยที่อยู่บริเวณนั้น

 

ทั้งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน กองทัพไทยเคยลงมือกับว้าแดงไปแล้ว และสร้างความสูญเสียให้กับว้าแดงไปเป็นจำนวนมาก แต่ในเวลานี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว จึงต้องมีการขยับปรับกำลังให้ไม่มีช่องว่างให้ถูกส่วนกลับ อีกทั้งว้าแดงนั้นเองก็มียุทโธปกรณ์สมัยใหม่มากขึ้น

 

แต่ทั้งนี้ฐานเหล่านี้นั้นยังมีกำลังไม่มากนัก เป็นเพียงระดับหมู่-หมวด-กองร้อย เสียเป็นส่วนใหญ่ ระดับกองพันนั้นมีอยู่ไม่มาก และการปรับกำลังนั้น ควรจะมีการพิจารณาให้ชัดเจนด้วยว่า จะออกปฎิบัติการเฉพาะที่ดอยหัวม้าเพียงที่เดียว หรือดำเนินการไปทั้งแนวพร้อม ๆ กัน

 

การขยายตัวของว้าแดงในช่วงหลังโควิดนั้นมีเพิ่มมากขึ้น มีความพยายามที่จะตั้งฐานถาวรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นที่ชัดเจนว่าว้าแดงนั้นใช้ประโยชน์จากแนวรอยต่อ ในขณะที่กองกำลังทหารเมียนมา และกะเหรี่ยงไม่สามารถควบคุมกองกำลังว้าแดงได้ ซึ่งเรื่องนี้ไทยอาจจะต้องร่วมมือกับกองกำลังของรัฐบาลเมียนมา และจีนเข้ามาช่วย

 

สำหรับกรณีที่ฝ่ายไทยยื่นหนังสือประท้วงกรณีที่ว้าแดงรุกล้ำดินแดนขอไทยเข้ามาต่อรัฐบาลเมียนมา แต่รัฐบาลตอบกลับฝ่ายไทยว่าก่อนหน้านี้ฝ่ายไทยเคยบอกว่าไม่มีกองกำลังต่อต้านรัฐบาลเมียนมาในพื้นที่ของฝ่ายไทยนั้น 

 

รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าไทยจะต้องชี้แจงในกรณีนี้เพิ่มเติมให้ดี โดยอาจจะบอกว่าเป็นรุกล้ำเข้ามาเป็นการชั่วคราว แต่ทำให้ฝ่ายไทยได้รับผลกระทบ เพราะว่าเมียนมากับไทยนั้นในเวลานี้ถือว่าเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

 

ชาวเมียนมานับล้านเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ยิ่งมีการรบกัน ก็ยิ่งไหลเข้ามาเยอะ อีกทั้งแรงงานผิดกฎหมายที่เข้ามานั้น ก็มีค่าแรงที่ถูกมากยิ่งขึ้น แต่ก็ส่งผลให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถประคองตัวได้ (จากการมีค่าแรงที่ถูกลงจากการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย) 

 

อีทั้งไทยนั้นยังต้องพึ่งพาพลังงานจากเมียนมาเกือบ 20% อีกทั้งไทยนั้น ก็ไม่อยากจะเปิด/ปิดด่านบ่อยครั้ง ซึ่งทำให้เกิดความแปรปรวน แต่ว่าทั้งหมดเหล่านี้นั้นได้ดำเนินมาถึงจุดที่ไม่น่าจะคุยกันดี ๆ ได้อีกต่อไปแล้ว และอาจจะต้องใช้วิธีการกดดันทางเศรษฐกิจ กดดันต่อผู้ที่เข้ามาพักอาศัยในไทย 

 

และถ้ายังไม่ได้อีก อาจจะต้องมีการปรับใช้กำลังเข้าประชิดกดดัน ก่อนที่จะมีการใช้กำลังเข้าปะทะ ถ้าจำเป็น ซึ่งเรื่องนี้นั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ

 

สำหรับถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของกองทัพว้าแดงนั้น ได้แสดงออกว่าฝ่ายว้าแดงนั้น ไม่ได้อยากมีปัญหากับประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้นั้นมีนักวิเคราะห์ต่างประเทศหลายรายต่างก็คิดเห็นเช่นนี้ เรื่องจากว่าขนาดกำลังระหว่างไทยกับว้าแดงนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งว้าแดงนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดศึกหลายด้าน และมีความจำเป็นที่จะต้องค้าขายผ่านไทย

 

(ว้าแดงมีกำลังเพียง 2 3 หมื่นคน ในขณะที่กองทัพบกไทยนั้นมีกำลังรบในประจำการกว่า 245,000 นาย)

 

แต่ว่าถ้าเราอ่อนเช่นนี้ เขาก็จะทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราแข็งข้อขึ้นมา เขาก็จะเข้าใจ และถอยกลับไปเอง ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้น (กระแสสังคมที่ต้องการให้รัฐบาลและกองทัพไทยแสดงท่าทีที่ชัดเจนออกมา) ก็ได้ทำให้ฝ่ายว้าแดงเป็นฝ่ายขอเวลาในการถอนตัวออกไปเอง แต่ทั้งนี้ก็ไม่อาจจะทราบได้ว่าจะมีการดำเนินการจริงหรือไม่ แต่ถ้าจริงก็แสดงว่าว้าแดงเริ่มอ่อนลงแล้ว

 

ส่วนการที่มีข่าวออกมาว่าฝ่ายว้าแดงขอเวลา 3 เดือนในการถอยร่นออกไปนั้น รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลควรจะบีบเวลาลงไปให้เหลือเพียง 3 วัน หรือ 3 สัปดาห์ ซึ่งคนไทยก็น่าจะต้องการเห็นกำหนดวันเวลาที่ชัดเจน

 

หรือไม่ก็ออกมาปฏิเสธไปเลยว่าไม่มีเรื่อง 3 เดือน แต่ก็ยังตั้งคำถามว่า แต่ถ้าไม่มีแล้วมันจะมีเรื่องอะไรได้อีก แล้วถ้าปล่อยผ่านไป แล้วจะทำอย่างไรต่อ ซึ่งนี่นั้นเป็นประเด็นปัญหาที่ท้าทายมาก ซึ่งในเวลานี้นั้น ไทยเป็นฝ่ายตั้งรับ 

 

แต่ทั้งนี้ รัฐบาลควรจะบีบระยะเวลาถอยร่นของว้าแดงให้น้อยลงมาอีก โดยฝ่ายไทยอาจจะให้เวลาว้าแดงบ้าง แต่จะให้มาชี้นำว่าขอเวลา 3 เดือนนั้นไม่ถูกต้อง

 

คนมาปล้นบ้านเรา บอกว่ารอก่อน อีก 3 เดือนเดี๋ยวค่อยออก มันจะได้อย่างไรครับ โจรเข้ามาในบ้านแล้ว มาบอกว่าไปนั่งรอก่อน ผมขอเวลา 30 นาที สำรวจดูว่ามีอะไรแล้วเดี๋ยวผมค่อยออก เราจะยอมได้หรือ? ผมคิดว่าโดยหลักปฏิบัติแล้วมันไม่ได้นะครับ โดยหลักสากลก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น โดยหลักสากลแล้ว ก็ต้องขยับปรับตรงนี้มาให้สั้นลง รศ.ดร. ปณิธานกล่าว

 

และกล่าวว่าในระหว่างนี้ ก็ให้เริ่มปฎิบัติการกดดันไปก่อน ไม่ใช่นั่งรอเฉย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายว้าแดงหาข้ออ้างมาขอต่อเวลาออกไปอีก และนี่จะกลายเป็นมาตรฐานในการปฎิบัติ แต่ทั้งนี้จะต้องดำเนินการด้วยความระวัง

 

และสุดท้าย ถ้ากดดันแล้วไม่ได้ผลจริง ๆ ก็ต้องใช้กำลัง โดยรัฐบาลจะต้องขออนุญาตจากประชาชนเสียก่อน เพื่อให้ประชาชนรับทราบ ประกาศออกมาเลยว่าจะดำเนินการอย่างไร ฟังเสียงประชาชนประกอบด้วยจะดีที่สุด

 

สำหรับแนวทางในการขอความเห็นชอบจากประชาชนนั้น อาจจะดำเนินการผ่านรัฐสภาก็ได้ เพราะว่าอำนาจส่วนหนึ่งของไทยนั้น ก็อยู่ทีสภาด้วย 

 

ซึ่งเรื่องนี้นั้นไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการเมืองภายในประเทศของเรา แต่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในเวทีระดับโลก เวทีภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามตัวแทน เราจึงต้องไปที่สภาเพื่อถามตัวแทนของประชาชน ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร

 

ซึ่งเรื่องนี้นั้นมีการส่งสัญญาณออกมาจากหลายกรรมาธิการแล้วว่ายินดีให้การสนับสนุน ต้องการให้มีการผลักดัน เพียงรอการตัดสินใจจากรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งต้องไม่ลืมว่า สส. นั้นเป็นตัวแทนของประชาชน





เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า