โอกาสของไทยในการเป็น ผู้นำคลี่คลายปัญหาในเมียนมา ‘รศ.ดร. ปณิธาน’ ชี้ไทยมีแรงกดต่อสถานการณ์ในเมียนมา และอาเซียนเชื่อมั่นในแนวทางของไทยมากขึ้น
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะข่าวย่อโลก เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2567 เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งภายในเมียนมา ว่าขณะนี้เป็นสถานการณ์ค่อนข้างแปรปรวน ทำให้มหาอำนาจหลายประเทศเข้ามาบริหารสถานการณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยเปรียบสถานการณ์เป็นเหมือนหม้อต้มน้ำเดือดที่ปิดฝาเอาไว้อย่างแน่นหนา รอเวลาระเบิดออกมาลวกผู้คน โดยมีการเคลื่อนกำลังจากรัฐฉานลงมาทางตอนใต้มากขึ้น สร้างความเป็นห่วงให้กับจีน เนื่องจากมีผลกระทบต่อท่อส่งพลังงานของจีน อีกทั้งยังมีการเคลื่อนกำลังเข้ามาใกล้หัวเมืองใหญ่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์อย่าง เชียงตุง มัณฑะเลย์และท่าขี้เหล็กของไทยด้วย
ถึงแม้ว่ารัสเซียจะมีปัญหาของตัวเองในยุโรปอยู่มาก แต่ก็ให้ความสนใจในเมียนมาด้วยเช่นกัน อีกทั้งอินเดียที่หลายปีก่อนไม่ได้เข้ามามีบทบาท ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีการพูดคุยในวงกึ่งทางการ และมีการตั้งสถาปนาแนวกันชน เมื่อมิให้มีผู้ลี้ภัยทะลักเข้าไปในอินเดีย อีกทั้งยังมีรายงานถึงอาวุธที่เข้าไปจากฝั่งอินเดียและจีน
จีนเชิญผู้นำหลายฝ่ายเข้าไปคุย เพื่อสร้างข้อตกลงในการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อชะลอเป็นช่วง ๆ และมีการกวาดล้างทุนสีเทา รวมไปถึงการซ้อมรบตามแนวชายแดนเพื่อเป็นการสร้างแรงกดดัน แต่ถึงกระนั้นสถานการณ์ก็ยังไหลไปตามการสู้รบของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่ขณะนี้กำลังแข็งแรงขึ้น และเคลื่อนทัพสู่เมืองหลวงและเมืองใหญ่
เมื่อถามว่าจีนไม่ต้องการให้รัฐบาลทหารเมียนมาล่มสลาย ไม่ต้องการให้กลุ่มชาติพันธุ์ยึดประเทศเมียนมาไปใช่หรือไม่ รศ.ดร.ปณิธานกล่าวว่า น่าจะเป็นเช่นนั้น เนื่องจากในขณะนี้รัฐบาลทหาร (SAC) ยังควบคุมผลประโยชน์ให้กับจีน อาเซียน และประเทศพันธมิตรของเมียนมาอยู่
หลายประเทศจึงอุ้มให้รัฐบาลทหารเมียนมายืนได้ และผลักดันให้เข้าสู่การเจรจา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน ทั้งผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ ที่ตั้งทางการทหาร ผลประโยชน์ทางการเมือง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เรื่องพลังงาน และเรื่องแรงงาน
ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ต้องการจะอุ้มรัฐบาลทหารเมียนมามากนัก แต่ไม่มีทางเลือก และการอุ้ม ก็คือการช่วยเจรจา ส่งกำลังบำรุง และช่วยปรามจนถึงขั้นลงไม้ลงมือต่อบางฝ่ายก็มี ซึ่งปฎิบัติการในลักษณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะจีน แต่สหรัฐก็ทำ เพียงแต่เป็นปฏิบัติการเพื่อต่อต้านทหารเมียนมา ทั้งหมดเหล่านี้อยู่ที่ผลประโยชน์
เมื่อถามว่าสถานการณ์ในเมียนมา ถือว่าเป็นสงครามตัวแทน (Proxy War) ได้หรือไม่ เนื่องจากจีนหนุนรัฐบาลทหารเมียนมา ในขณะที่ฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ ให้การสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลพลัดถิ่น รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า นี่ถือเป็นสงครามตัวแทนชุดแรกของประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องจริง ๆ ใน 5 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา (อินเดีย บังกลาเทศ จีน ลาว และไทย) ในขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเช่น ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งก็มีการค้าขายกับเมียนมา ก็อาจจะไม่ได้เข้าไปโดยตรง
5 ประเทศเหล่านี้มีตัวแทน มีผลประโยชน์และส่วนได้ส่วนเสีย เช่นการทะลักเข้าไปของชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ ได้สร้างความเดือดร้อนให้บังกลาเทศมาก ในขณะที่ตามแนวชายแดนเมียนมา-อินเดีย มีประเด็นเรื่องอาวุธเยอะมาก ในขณะที่ไทยถูกกล่าวหาแทบทุกเรื่อง ส่วนจีนเองได้เข้าไปบริหารจัดการ มีการสถาปนาแนวต้านในรัฐฉานอย่างชัดเจน นี่เป็น Proxy (ตัวแทน) ของกลุ่มที่ประชิดติดตัว บนผลประโยชน์
เมื่อถามผลประโยชน์ที่จีนคาดหวังจากการเดินทางไปเยือนเมียนมา ของนายหวัง อี้ รมว. ต่างประเทศของจีน รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า ดูเหมือนว่าจีนต้องการชิงการนำกลับมา ซึ่งในขณะนี้การนำไม่ได้อยู่ที่จีนทั้งหมด เนื่องจากอาเซียนนำเรื่องเข้าสู่การประชุมนานาชาติ และจะมีการประชุมอีกหลายการประชุมตามมา
จีนคงจะพยายามที่จะจัดระเบียบในส่วนนี้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องทางการทูต และเกมการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกระดานที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งถ้าหากพันธมิตรของจีน ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย หรือเมียนมา เกมกระดานนี้จะไม่มีเสถียรภาพ แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ทางการทหาร จีนเองก็มีพลังที่จะสนับสนุนให้รัฐบาลทหารเมียนมาสามารถยืนได้ อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณปรามมิให้มหาอำนาจอีก 2 – 3 ประเทศที่กำลังขยับเข้าไป
เมื่อถามถึงท่าทีของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งนี่จะเป็นคำถามที่ รมว. ต่างประเทศคนใหม่ และรัฐบาลใหม่จะถูกถามอย่างแน่นอน รศ.ดร. ปณิธาน กล่าวว่า การตัดสินใจในสถานการณ์นั้น อยู่บนโต๊ะของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แล้ว แต่มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้การตัดสินใจถูกเลื่อนออกไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ซึ่งนายกรัฐมนตรี,รมว. ต่างประเทศ และ รมว. กลาโหมจะต้องกลับมาพิจารณา อีกทั้งยังมีข่าวว่าอาจจะมีการเปลี่ยนตัว รมว. กลาโหม ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจถูกยืดออกไปอีก ซึ่งถ้าหากรัฐบาลใหม่ ใช้ความกระฉับกระเฉงที่มีมาใช้ จะทำให้เกิดการตัดสินใจเรื่องเมียนมาได้หลายเรื่อง
เรื่องสำคัญคือการใช้ความได้เปรียบของไทย กดดันให้เกิดการเจรจาอย่างจริงจัง เนื่องจากหลายฝ่ายเริ่มมีความพร้อม และมีการทดสอบการเจรจากึ่งทางการมาแล้ว
ประการที่ 2 คือการที่ชาติอาเซียนด้วยกันเริ่มเห็นพ้องกับไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แนวทางของไทยเริ่มเป็นที่ยอมรับไปใช้ด้วย อย่างเช่นเวียดนาม ปัญหาจึงน้อยลงเยอะ หากเราจะดึงเอาความเป็นเจ้าของในการแก้ปัญหาเมียนมากลับมา นำเวทีเดิมที่เคยสร้างกลับมา แล้วเดินด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ ด้วยทีมงานใหม่
ทั้งนี้วารสาร Foreign Policy (วารสารด้านการต่างประเทศ ที่มุ่งเน้นเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการระดับโลก) ระบุว่าปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดในโลกแล้ว รุนแรงกว่าซีเรีย และอัฟกานิสถาน และถ้าหากรัฐบาลใหม่สามารถทำได้สำเร็จ จะสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย สร้างความมั่นใจมหาศาลให้กับรัฐบาลไทย
เมื่อถูกถามว่าประเทศไทยมีเหตุผลอย่างมาก ที่จะเป็นตัวหลักในการเข้าไปคลี่คลายปัญหาในเมียนมา เนื่องจากไทยเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และเป็นเหตุผลที่รัฐบาลใหม่จะสามารถนำไปใช้เพื่อขยายความชัดเจนในการดำเนินการของรัฐบาลใช่หรือไม่
รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าใช่ เนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมา กระทบกับผลประโยชน์ของไทยมากที่สุด ทั้งเรื่องพลังงาน แรงงาน ความปลอดภัยตามแนวชายแดน และชื่อเสียงภาพลักษณ์ของไทย
ปัจจัยสำคัญที่จะสามารถผลักดันให้กลุ่มติดอาวุธ 10 กว่ากลุ่ม สามารถเข้ามาเจรจาร่วมกันได้ เนื่องจากแทบทุกกลุ่มอาศัยประเทศไทยเป็นที่รักษาตัว พักผ่อน และพูดคุย ลูกหลานของแทบทุกกลุ่มเรียนในโรงเรียนของไทย
อีกทั้งมหาเศรษฐีในเมียนมาเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเยอะมาก และพลังงานที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็มาจากเมียนมากว่า 20% เรามีทั้งผลประโยชน์ และแรงกด (leverage) ให้คนเหล่านี้เข้ามาพูดคุยได้
เมื่อถามถึงบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการเชิญตัวแทนจากกลุ่มเหล่านี้เข้ามาพูดคุย รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า เรื่องนี้แบ่งออกได้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือส่วนความตั้งใจที่จะช่วยนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม อดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนมีศักยภาพมาก ๆ ถ้าจะเข้ามาช่วยก็จะถือว่าดี
ตอนนั้นถือว่าอยู่นอกกรอบ นอกระบบไกลมาก และคนที่เข้าไปช่วยก็ไม่เต็มที่ อาจจะมีปัญหาเยอะ และฟังจากผู้ที่เข้าไปคุย ก็ไม่พอใจหลายเรื่อง มีช่องว่างที่ไม่คิดว่าจะเกิด แต่ว่าการเดินเร็วเกินไปก็จะสร้างปัญหาตามมา ถือว่าเป็นบทเรียน แต่การเห็นปัญหาแล้ววิ่งเข้าไปแก้ หลายฝ่ายเห็นว่าน่าสนใจ
คราวนี้ถ้ามีการเตรียมตัวมากขึ้น และศักยภาพก็ไม่เป็นเช่นเดิม ซึ่งจะก่อให้เกิดศักยภาพใหม่ ๆ ทำให้ผู้ที่จะเข้ามาช่วยในระบบ ก็อาจจะกล้าเข้ามาช่วยมากขึ้น ซึ่งอย่างน้อยที่สุด นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ถ้ามีแนวทางใกล้เคียงกัน ก็จะสามารถผลักดันได้