ระวังศึก 3 เส้า ไทย-เมียนมา-กัมพูชา ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ เตือนทางการไทย ให้กำหนดนโยบาย การรักษาอธิปไตยของชาติให้ชัดเจน
จากกรณีที่มีการรายงานข่าวว่ากองทัพไทยมีการสำรวจจุดตั้งฐานยิงปืนใหญ่สนาม เพื่อการสนับสนุนการเคลื่อนกำลังทหารราบเข้ายึดคืนพื้นที่ที่ฝ่ายว้าแดงอ้างว่าเป็นของตนนั้น
พลตรี ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยเมื่อวานนี้ (27 พ.ย. 2567) ว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็น No Man Land ซึ่งไม่มีผู้เข้าอาศัย และยังไม่มีการแบ่งเขต ซึ่งในระหว่างนี้นั้นอยู่ในระหว่างการเจรจา อีกทั้งกองทัพไทยได้ทำการปักหลักเพื่อการปกป้องอธิปไตยของไทยในบริเวณดังกล่าวมาตลอด และยืนยันว่ายังไม่มีการใช้กำลังแต่อย่างใด
ทั้งนี้มีรายงานว่า ผู้ที่ให้ข่าวดังกล่าวออกมานั้นเป็นโฆษกของกองทัพว้าแดง ซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อของเมียนมา และล่าสุดกองทัพว้าได้ออกมาปฏิเสธที่จะถอนกำลังออกไปจากพื้นที่ดังกล่าวตามที่ฝ่ายไทยเรียกร้องด้วย
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีนี้ โดยกล่าวเตือนทางการไทยว่า
ระวังศึกสามเส้า
- หลายปีที่ผ่านมา มีการขยายฐานปฏิบัติการและเพิ่มกำลังพลของกองทัพสหรัฐว้า (United WA State Army – UWSA) หรือ “ว้าแดง” ในหลายพื้นที่ของรัฐฉานในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะที่ติดกับพรมแดนไทยในภาคเหนือ เช่น ที่บริเวณดอยหัวม้า อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่บริเวณตรงข้ามหมู่บ้านแปกแซม ฐานดอยไฟ อ.เวียงแห ที่บริเวณดอยหัวไก่และดอยถ้วย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ อย่างคึกคักและผิดสังเกต
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองของเมียนมาที่ปะทุขึ้นมาอย่างรุนแรง ประกอบกับทหารพม่า (Tatmadaw) อ่อนแอลง ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เหมือนในอดีต อีกทั้งยังมีขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติและยาเสพติดที่เติบโตมากขึ้น รวมทั้งยังมีการสนับสนุนของต่างชาติและมหาอำนาจให้กับกองกำลังต่าง ๆ ที่สู้รบกันในขณะนี้อีกด้วย
- ปัจจุบันมีรายงานข่าวว่าการขยายฐานปฏิบัติการและกำลังพลของว้าแดงดังกล่าวที่ได้เข้ามาตั้งกองกำลังตามแนวพรมแดนไทย-เมียนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 นั้น รุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของไทย เช่นที่บริเวณดอยหัวม้า ต.เวียงเหนือ และที่อื่น ๆ ในบริเวณพรมแดนของสองจังหวัดภาคเหนือกับเมียนมาอีกหลายแห่งอย่างหมิ่นเหม่ต่อการรุกล้ำอธิปไตยและดินแดนของไทย
- ฝ่ายไทยโดยกองกำลังป้องกันชายแดน กองทัพบก คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (Township Border Committee – TBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee – RBC) ได้ประสานพบปะพูดคุย
รวมทั้งประท้วงให้กองกำลังของว้าแดงปรับย้ายและถอนกำลังออกจากพื้นที่หลายครั้ง ทั้งโดยตรงระหว่างกองกำลังในพื้นที่และผ่านทหารพม่าในการประชุม RBC รวมทั้งมีการพบปะหารือกับทูตเมียนมาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งฝ่ายว้า ทหารพม่า และผู้แทนทางการทูตเมียนมาก็ตอบรับการพูดคุยเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่มีผลคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด
ล่าสุดมีรายข่าวว่าโฆษกของว้าแดงยอมรับว่าฝ่ายไทยได้แจ้งให้ถอนกำลังและย้ายฐานปฏิบัติการออกจากพื้นที่ภายในเวลากลางเดือนธันวาคมนี้ และก็ยังมีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่าทั้งสองฝ่ายได้เสริมกำลังทหารและอาวุธเข้าไปในพื้นที่เพิ่มขึ้น
- สาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในรอบหลายปีที่ผ่านมาเพราะทางกองกำลังกองทัพสหรัฐว้าเห็นว่ายังไม่มีการปักปันเขตแดนระหว่างเมียนมากับไทยอย่างชัดเจน ฝ่ายไทยจึงควรนำเรื่องนี้ไปดำเนินการในคณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Border Committee – JBC) กับผู้แทนของประเทศเมียนมาก่อนที่จะมีการย้ายฐานกำลัง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเรื่องเขตแดน
ส่วนฝ่ายทหารพม่า ถึงแม้ว่าจะเป็นศัตรูกับว้าแดง ก็เห็นเช่นเดียวกันในเรื่องนี้ คือเห็นว่าฝ่ายไทยควรจะนำเรื่องนี้ไปตกลงกันในที่ประชุม JBC อีกทั้งทหารพม่ายังอ้างว่าในการประชุม RBC ที่ผ่านมาหลายครั้งระหว่างทางการไทยกับเมียนมา ก็ไม่มีการระบุว่ามีฐานกำลังของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาอยู่ในดินแดนของไทยแต่อย่างใด ดังนั้นฐานกำลังของว้าแดงดังกล่าวจึงตั้งอยู่ในดินแดนของเมียนมา
- ด้วยจุดยืนที่แตกต่างกันและด้วยสถานการณ์ที่ผกผันมากขึ้นในเมียนมา อีกทั้งยังมีเรื่องผลประโยชน์ตามแนวชายแดนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น แนวโน้มที่ไทยจะต้องเผชิญกับศึกหลายด้านทั้งกับทหารพม่าและกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในอนาคตจึงมากขึ้น และว้าแดงก็อาจจะไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มเดียวในบรรดาเกือบยี่สิบกลุ่มที่ติดอาวุธสู้รบกันในขณะนี้
เพราะยังมีการวางกำลังตามแนวชายแดนไทยของกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA) กองกำลังพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party – KNPP) กองกำลังแห่งชาติว้า (Wa National Army – WNA) และกองกำลังกบฏมุสลิม ที่หมิ่นเหม่ต่อการรุกล้ำอธิปไตยของไทยที่ต้องตรวจสอบอีกด้วย
ที่สำคัญ รัฐบาลอาจจะต้องเผชิญกับการประท้วงและกดดันจากกลุ่มคนไทยในประเทศที่เป็นห่วงเอกราช อธิปไตย และดินแดนของประเทศให้แก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดขึ้นมาในเรื่องปราสาทพระวิหาร หรือเรื่องพรมแดนกับประเทศรอบบ้าน ในปัจจุบันก็มีประเด็นเรื่อง MOU44 เกาะกูดและพื้นที่อ้างสิทธิซ้อนทับกันในทะเลกับกัมพูชาด้วย
สุดท้ายแล้ว ศึกสามเส้าหรือหลายเส้าที่หลายคนไม่อยากจะเห็นทั้งในประเทศและกับเพื่อนบ้านรอบด้านก็อาจจะเกิดขึ้นจริง
- สำนักงานสภาความมั่นคง (สมช.) มีกลไกที่สามารถใช้แก้ไขหรือป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ เช่น การประชุมสภาความมั่นคงนัดพิเศษหรือตามรอบปกติที่เร็วขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เกิดความชัดเจนในเชิงนโยบายและช่วยกำกับแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน
โดยไม่ให้ใครแตกแถวไปดำเนินการอะไรตามลำพัง ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศเสียเปรียบหรือทำให้เหตุการณ์บานปลายได้โดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะในการปฏิบัติของกองกำลังในพื้นที่ ของเหล่าทัพ ของกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยให้น้ำหนักอย่างเหมาะสมกับการดำเนินการใน 3 ระดับที่มีอยู่แล้วอย่างเป็นสัดส่วนกับข้อเท็จจริง คือ
1) ระดับแรก: มุ่งเน้นการพูดคุยเจรจาผ่านทุกกลไกที่มีอยู่แล้วอย่างจริงจังและเปิดเผย
2) ระดับที่สอง: ดำเนินการกดดันทั้งว้าแดง ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ทหารพม่าและรัฐบาลประเทศเมียนมา ตามช่องทางต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งทางด้านการเข้าออกผ่านแดน การพำนักอาศัย การค้าชายแดน ตลอดจนความสัมพันธ์พิเศษต่าง ๆ ทั้งด้านการทหาร ความมั่นคงและอื่น ๆ รวมทั้งการเสริมกำลังในพื้นที่อย่างเหมาะสม และ
3) ระดับที่สาม: หากจำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อรักษาดินแดนและอธิปไตย จะต้องรอบคอบโดยให้เป็นไปตามกฏหมายของไทยและตามกติกาสากล
ทั้งนี้ ประชาชนคนไทยทั่วไปก็คงจะต้องให้กำลังใจผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อคนไทย ต่อเอกราชอธิปไตย ต่อดินแดนของประเทศไทยและต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้าน