ไทยซัมมิทพร้อม รองรับการเข้ามาของ EV จีน ‘ชนาพรรณ’ ชี้ผู้ผลิตในไทยมีเวลา 4-8 ปีในการปรับตัว
ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส กลุ่มไทยซัมมิท ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Nikkei Asia จากญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2567 ว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงค่ายยานยนต์จากญี่ปุ่น เหลือเวลาเพียง 4-8 ปี ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับค่ายยานยนต์จากจีน ที่จะเข้ามาบุกตลาด EV ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในด้านการผลิตและการตลาด
โดยในเบื้องต้นนั้น แบรนด์รถยนต์จากจีนนั้น มักจะนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนโดยตรง เนื่องจากผู้ผลิตในไทยบางกลุ่มยังไม่พร้อมในการผลิตชิ้นส่วนสำหรับ EV ในขณะที่โรงงานประกอบยายนต์จากญี่ปุ่นในประเทศไทย กำลังลดกำลังการผลิตลง หรือเริ่มปิดโรงงาน ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยทำธุรกิจได้ลำบากขึ้น และสร้างความกังวลให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยหลายราย
แต่สำหรับไทยซัมมิท สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหา และสามารถเติบโตไปกับ EV จากจีนที่เร่งทำตลาดในประเทศไทยได้ โดยชนาพรรณ ยืนยันว่า “การได้ลูกค้าจีนไม่ใช่เรื่องยาก” เนื่องจากไทยซัมมิทมีโรงงานในต่างประเทศ 7 แห่ง ซึ่งรวมถึงในจีน อีกทั้งยังเซ็นสัญญากับ BYD กับ Changan Automobile ในการจัดหาชิ้นส่วนเพื่อผลิต EV ในไทยแล้วด้วย
ชนาพรรณกล่าวว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยมีเวลา 4-8 ปีในการเตรียมรับมือกับการเข้ามาของค่าย EV จากจีน ด้วยการเข้าถึงการเป็นคู่ค้าในช่วงเวลานี้ ที่ผู้ผลิตจากจีนยังมีคู่ค้าที่จะเข้ามาช่วยผลิตชินส่วนในไทยอยู่น้อย ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคตได้เช่นกัน
แต่ถ้าหากพลาดโอกาสในช่วงเวลานี้ไปแล้ว ก็จะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจในอนาคตไปอีกหลายปี อีกทั้งการพึ่งพาแค่เพียงค่ายยานยนต์จากญี่ปุ่นแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว อีกทั้งถ้าหากจะจับลูกค้าแบรนด์ญี่ปุ่นต่อไป ก็จะต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดจ์ (HEV) ด้วย
สำหรับไทยซัมมิทนั้น แบรนด์ญี่ปุ่นยังคงเป็นลูกค้าหลักอยู่ แต่สัดส่วนรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้ลดลงต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ หันไปขยายฐานการผลิตเพื่อตอบโจทย์ตลาดอื่น เช่น อินเดีย และเวียดนาม ส่วนการเปิดโรงงานของ BYD และ Changan Automobile ในไทย จะยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันเรื่องชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น
ทั้งนี้รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนการขยายตัวของ EV ภายใต้เงื่อนไขว่าบริษัทจีนต้องผลิต EV ให้เท่ากับช่วงที่นำ EV เข้ามาทำตลาด ในขณะที่ฝั่งตลาด HEV จากญี่ปุ่น รัฐบาลกำลังพิจารณานโยบายสนับสนุนด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับฝั่งญี่ปุ่น และผู้ผลิตรายอื่น ๆ