Newsนวดแผนไทยไม่อันตราย ถ้าปฏิบัติตามหลักวิชาการ ‘นายกฯ เวชกรรมไทย’ ย้ำผู้ให้บริการนวดแผนไทย ต้องเป็น ผู้ที่ได้รับอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

นวดแผนไทยไม่อันตราย ถ้าปฏิบัติตามหลักวิชาการ ‘นายกฯ เวชกรรมไทย’ ย้ำผู้ให้บริการนวดแผนไทย ต้องเป็น ผู้ที่ได้รับอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

ภายหลังการเสียชีวิตของ ผิง ชญาดา นักร้องลูกทุ่งหมอลำสาวดาวรถแห่ อย่างไม่คาดคิด ซึ่งมีการคาดกันว่าสาเหตุของการเสียชีวิตของเธอนั้น มีสาเหตุมาจากการเข้ารับบริการนวดแผนโบราณ ในจังหวัดอุดรราชธานี ซึ่งเป็นเหตุให้เธอมีอาการแขนขาชา อ่อนแรงในระยะเวลา 1 สัปดาห์หลังจากเข้ารับการบริการ

ภายหลังการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลังจากนั้นหลายสัปดาห์ จึงพบว่าจนกระดูกต้นคอเลื่อน และไขสันหลังอักเสบ และเธอมาเข้ารับการรักษาช้าเกินไปจนไม่สามารถทำการรักษาได้แล้ว

 

อย่างไรก็ดี แพทย์ผู้รักษาให้การว่า ผิงเสียชีวิตเนื่องจากอาการติดเชื้อในกระแสเลือด อีกทั้งพบเชื้อทั้งในสมอง และในปอด ซึ่งปริมาณเชื้อในร่างกายของเธอนั้นมีมากเกินกว่าที่จะทำการรักษาได้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

วันนี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี (สสจ.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านนวดแผนโบราณที่ถูกอ้างว่าเป็นร้านที่ผิงเคยเข้ารับบริการ 1 เดือนก่อนหน้านี้ และพบว่ามีหมอนวดที่มีใบอนุญาต 2 คน ส่วนอีก 5 คนอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งการให้บริการนวดโดยไม่มีใบอนุญาตจะถือว่าผิดกฎหมาย 

 

ด้าน นพ.พท. พิเชฐ บัญญัติ นายกสมาคมเวชกรรมไทย และอดีตนายกสภาการแพทย์แผนไทย โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวานนนี้ (8 ธ.ค.2567) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า “นวดแผนไทยไม่อันตรายถ้าใช้ตามหลักวิชาอย่างถูกต้อง


เมื่อเช้าไปใช้บริการนวดบำบัดที่คลินิกการแพทย์แผนไทย รพ.บ้านตาก นวดบำบัดแก้โรคลมปลายปัตคาตสัญญาณ ๔, ๕ โชคดีที่เจอพี่กุ้ง ลูกศิษย์อนุปริญญาแพทย์แผนไทย วิทยาลัยชุมชนตาก รุ่น ๒ นวดกดจุดสัญญาณแก้อาการให้ ดีขึ้นมาก 

 

เป็นการนวดที่แพทย์แผนไทยที่วินิจฉัย (ผม) กับผู้นวด (พี่กุ้ง) ปรึกษาพูดคุยกันถึงจุดสัญญาณและความเหมาะสมในการลงน้ำหนักนิ้วมือ เน้นว่า นิ้วมือนะครับ ไม่ใช่ลงข้อศอก โดยเฉพาะช่วงที่นวดจุดสัญญาณคอ โค้งคอ บ่า จะต้องระวังตำแหน่งที่นวดและน้ำหนักนิ้วมือที่ลงอย่างเหมาะสม 

 

เพราะเป็นจุดที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง เพราะมีทั้งเส้นประสาทและเส้นเลือดใหญ่ รวมทั้งมีจุดปรับความดันเลือด (carotid body) อยู่ด้วย

 

การนวดส่งเสริมสุขภาพหรือนวดผ่อนคลาย มักจะเน้นนวดกล้ามเนื้อมากกว่าโดยหมอนวดแผนไทยที่จบอบรม ๑๕๐ ชั่วโมง 

 

ส่วนการนวดบำบัด (ที่แท้จริง) ควรนวดด้วยแพทย์แผนไทยวิชาชีพ หรือผู้ช่วยแพทย์แผนไทยที่จบ ๓๕๐ หรือ ๓๗๒ ชั่วโมง และควรนวดตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยคือ นวดตามแนวเส้นประธาน ๑๐แบบเชลยศักดิ์ หรือนวดตามจุดสัญญาณแบบราชสำนัก

 

การนวดแผนไทยจะส่งเสริมสุขภาพหรือนวดรักษา (นวดบำบัด) จะไม่นวดบนกล้ามเนื้อ แต่จะนวดตามแนวเส้นประธานสิบ หรือจุดสัญญาณ ที่จะอยู่ตามขอบหรือร่องกล้ามเนื้อ จึงไม่ต้องใช้ศอกหรือเข่าช่วยกด สามารถใช้นิ้วมือหรืออุ้งมือ ก็สามารถลงน้ำหนักได้เพียงพอ 

 

โอกาสที่จะทำให้เนื้อเยื่อช้ำจะน้อยมาก และถ้าลงน้ำหนักอย่างถูกต้องตามหลัก คือ “หน่วง เน้น นิ่ง” จะไม่ทีการกระแทกหรือกระทบแบบเร็วหรือแรง ก็จะปลอดภัยมากขึ้น 



และที่สำคัญแพทย์แผนไทยวิชาชีพต้องซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรค ประเมินสภาพผู้ป่วยแล้วจึงสั่งการรักษาให้ผู้ช่วยแพทย์แผนไทยเป็นผู้นวด

 

แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นมากหรืออาจมีปัญหาที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หรือนวดตรงตำแหน่งเสี่ยงอันตราย เช่น ลำคอ ท้อง รักแร้ ขาหนีบ แพทย์แผนไทยจะต้องลงมือนวดรักษาเอง 

 

เมื่อนวดบำบัดตามแผนการรักษาเฉพาะโรคแล้ว ก็ตรวจประเมินสภาพผู้ป่วยหลังนวดบำบัด พร้อมให้คำแนะนำ และนัดตรวจรักษาหรือนวดซ้ำตามความเหมาะสม 

 

นวดบำบัดจะมีแนวปฏิบัติไว้ว่า เป็นโรคอะไร จะนวดพื้นฐานตรงไหนบ้าง นวดบำบัดจะต้องเน้นส่วนไหน จุดสัญญาณหรือแนวเส้นประธานตรงไหน เน้นตรงไหน ลงน้ำหนักมือมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแพทย์แผนไทยวิชาชีพจะต้องเรียนและฝึกปฏิบัติมาแล้วอย่างดี 

 

จึงแตกต่างจากการซักถามว่าปวดเมื่อยตรงไหนแล้วก็ไปเขียนวินิจฉัยว่า ปวดกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อหรือเอ็นอักเสบ แล้วก็ส่งให้ผู้ช่วยนวดตามวิธีการนวดผ่อนคลายทั่วๆไป แบบนี้ก็ไม่ใช่การนวดบำบัดที่แท้จริง 

 

และสังเกตได้ว่า ถ้านวดบำบัดตามหลักวิชาการนวดแผนไทย จะต้องมีท่านวด การลงน้ำหนักมืออย่างเหมาะสมตามหลัก “หน่วง เน้น นิ่ง” ไม่ใช่บีบคลำขยำๆบนกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บชอกช้ำกับเนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆได้ 

 

และที่สำคัญไม่มีการดัด ดึง บิด สะบัด แบบรวดเร็วหรือรุนแรง อันจะนำไปสู่การบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อ เอ็นหรือกระดูกได้ 

 

ถ้าเป็นการดัด ดึง บิด สบัดบริเวณกระดูกคอก็อาจเกิดอันตรายกระดูกร้าว กระดูกคอเคลื่อน หรือหมอนรองกระดูกปลิ้นไปกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาทไขสันหลังทำให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงตามมา 

ซึ่งในตำรามาตรฐานการนวดแผนไทยจะไม่ให้ทำแบบนี้ 

 

ร้านนวดส่งเสริมสุขภาพก็ไม่ควรกล้าบ้าบิ่นไปนวดบำบัดหรือพลิกแพลงจนเสี่ยงอันตรายแก่ลูกค้า ยิ่งนวดแล้วเชื่อว่า ยิ่งเจ็บยิ่งดี นั้นไม่ถูกต้องและจะเกิดอันตรายตามมาได้ พึงระลึกไว้เสมอทั้งคนนวดและผู้ถูกนวดว่า “ยิ่งเจ็บ ยิ่งช้ำ ยิ่งเจ็บยิ่งบาดเจ็บ” ครับ 

 

ส่วนสถานพยาบาลหรือคลินิกการแพทย์แผนไทยก็ควรจัดบริการนวดโดยยึดหลักวิชาชีพและองค์ความรู้ ไม่ใช่แอบแฝงการนวดส่งเสริมสุขภาพด้วยการเขียนวินิจฉัยโรคให้คนไข้เพื่อจะเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.หรือกรมบัญชีกลางได้ โดยที่ไม่มีการตรวจประเมินตามหลักการทำเวชปฏิบัติ 

 

แต่ควรเน้นนวดบำบัดจริงๆ วินิจฉัยโรคและสมุฏฐานโรคตรวจประเมินโดยแพทย์แผนไทยเพราะเราเป็นแพทย์ ไม่ใช่แค่พนักงานทำบัตรซักประวัติแล้วเขียนใบรับรองแพทย์เพื่อเบิกเงินเท่านั้น

 

โดยไม่ได้ตรวจประเมินผู้ป่วยก่อนและหลังนวดเลย ทำให้ผู้รับบริการมองไม่ออกว่าแพทย์แผนไทยเป็นแพทย์ที่ลงมือรักษาผู้ป่วยได้จริง

 

ร้านนวดเพื่อสุขภาพ กฎหมายให้ทำได้เฉพาะนวดส่งเสริมสุขภาพหรือนวดผ่อนคลายเท่านั้น ไม่ใช่การนวดบำบัดหรือนวดรักษาโรค เพราะกำหนดคุณสมบัติผู้นวดไว้ให้อบรม ๑๕๐ ชั่วโมง เน้นนวดผู้ไม่ป่วยให้ผ่อนคลาย การนวดบำบัดรักษาจึงเกินศักยภาพผู้นวด และเกินกรอบที่กฎหมาย 

 

พรบ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพกำหนด และกลายไปเป็นการทำเวชปฏิบัติแผนไทยซึ่งต้องทำโดยแพทย์แผนไทยที่มีใบประกอบวิชาชีพฯตาม พรบ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทยเท่านั้น

 

สถานพยาบาลทางการแพทย์แผนไทย จะสามารถทำได้ทั้งนวดไทยส่งเสริมสุขภาพและนวดบำบัดรักษาโรคได้ แต่ต้องทำภายใต้การประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย เป็นการทำเวชปฏิบัติที่ต้องตรวจ ประเมิน วินิจฉัยโรคแล้วจึงสั่งการรักษาโดยนวดบำบัดรักษาโดยแพทย์แผนไทยหรือผู้ช่วยแพทย์แผนไทยซึ่งอบรม ๓๕๐ หรือ ๓๗๒ ชั่วโมงภายใต้การควบคุมกำกับ ตรวจประเมินผู้ป่วยตามหลักทางการแพทย์แผนไทย 

 

ไม่ใช่แค่ซักถามอาการแล้วเขียนวินิจฉัยโรคและส่งให้หมอนวดแผนไทยนวดไปตามที่เคยนวดกันมาเท่านั้นและเพียงเพื่อจะเบิกเงินกับ สปสช.หรือกรมบัญชีกลางได้ตามกติกาเท่านั้น 

 

หมอนวดที่นวดส่งเสริมสุขภาพก็เก่งเป็นเลิศด้านนวดส่งเสริมสุขภาพได้ ขณะเดียวกันหมอนวดบำบัดก็เก่งเป็นเลิศด้านนวดบำบัดได้ ก็เหมือนหมอผ่าตัดกับหมออายุรกรรม หรือหมอเวชศาสตร์ป้องกัน ก็เก่งเป็นเลิศในสาขาของตนเองได้ แต่ไม่ใช่มาเทียบว่าใครเก่งกว่ากัน 

 

ของดีๆทางการแพทย์แผนไทยแต่ทำไม่ถูกต้องตามแนวทางหรือองค์ความรู้ที่แท้จริง ก็กลายเป็นทุรเวชปฏิบัติ หรือทำเวชปฏิบัติโดยผู้มิใช่วิชาชีพ จึงอาจเกิดอันตรายและภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้มารับบริการได้ 


และเป็นเหตุให้คนที่ไม่เข้าใจอย่างแท้จริงเอาไปโจมตี ดังที่เป็นข่าวกันอยู่บ่อยๆ ที่แพทย์แผนไทยกลายเป็นแพะรับบาป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า