พร้อมใช้งานแล้ว ทดสอบเดินรถไฟ ‘สุดขอบฟ้า’ รถไฟไทยทำ รถไฟต้นแบบฝีมือคนไทย
14 พ.ย. 66 ได้มีการทดสอบเดินรถไฟ “สุดขอบฟ้า” (รถไฟไทยทำ) เที่ยวปฐมฤกษ์ เดินรถจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปยังที่หยุดรถพระจอมเกล้า โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ซึ่งประสบความสำเร็จไปด้วยดี พร้อมส่งมอบต่อให้ รฟท. นำไปใช้งานบริการประชาชน
“สุดขอบฟ้า” เป็นรถไฟต้นแบบ ผลงานจากการวิจัยและพัฒนาโดยทีมวิจัย สจล. ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ)” ด้วยทุนสนับสนุนจาก บพข. ภายใต้แผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด เพื่อการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถขนส่งทางรางด้วยหลักคิด “การพึ่งพาตนเอง”
รถไฟได้รับการออกแบบและผลิตโดยคนไทยใช้วัสดุและอุตสาหกรรมภายในประเทศ (local content) กว่า 44% ในการประกอบตู้รถไฟชนิด Luxury Class และ Super-Luxury ที่หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสบนเครื่องบิน เพื่อรองรับความต้องการใช้ตู้รถไฟโดยสารจากนี้ไปอีก 20 ปี ไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ ซึ่งแต่ละตู้มีมูลค่าเฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารประมาณ 100,000 ล้านบาท
เพื่อการให้บริการรถไฟระยะกลางในแนวเส้นทางรถไฟรางคู่ระยะ 200-500 กิโลเมตร และรถไฟท่องเที่ยวในแนวเส้นทางของ รฟท. เพื่อแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำและรถยนต์ส่วนตัว มีความคุ้มค่ามากกว่าการนำเข้าเป็นอย่างมาก ลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 30% เมื่อเทียบกับการนำเข้า อีกทั้งยังก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาล
อีกทั้งยังเป็นการสร้างและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ รวมทั้งนักศึกษา สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมขนส่งทางรางของไทยได้อย่างยั่งยืน