
ซีอานต้องการ ผลไม้ไทยมาก ‘พาณิชย์’ ชี้ผลไม้ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดในซีอานสูง แต่ยังขาดผู้นำเข้าผลไม้ไทยในพื้นที่โดยตรง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) รายงานว่าผู้บริโภคชาวนครซีอานนิยมบริโภคผลไม้นำเข้าเพิ่มมากขึ้น โดยผลไม้ไทยได้รับการยอมรับและความนิยมจากผู้บริโภคชาวนครซีอานเป็นอย่างมาก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดนครซีอานค่อนข้างสูง
โดยเฉพาะทุเรียนไทย ซึ่งมียอดขายนำหน้าผลไม้นำเข้าชนิดอื่นๆ ด้วย โดยปริมาณการค้าส่งทุเรียนไทยมากกว่า 10,000 ตันต่อปี สำหรับสายพันธุ์ทุเรียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในนครซีอาน คือ ทุเรียนหมอนทอง รองมาคือ ทุเรียนก้านยาว นอกจากนี้ ลำไย และมังคุด ก็เริ่มมี การนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย
นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวนครซีอานจึงนิยมรับประทานผลไม้ที่มีน้ำมากและรสชาติหวาน เนื่องจากนครซีอานตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนซึ่งมีอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง โดยช่วงที่ผลไม้ไทยขายดีที่สุด คือ ช่วงเทศกาลต่างๆ ของจีน เช่น เทศกาลวันตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นต้น เนื่องจากเป็นผลไม้ยอดนิยมสำหรับมอบเป็นของขวัญ
และยังมีการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน โดยผู้บริโภคชาวนครซีอานมักจะเลือกซื้อผลไม้ไทยผ่านตลาดค้าส่งผลไม้ Yurun ซูเปอร์มาร์เก็ต และช่องทางออนไลน์
เนื่องจากนครซีอานตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน จึงไม่มีผู้นำเข้าผลไม้ไทยในพื้นที่ดังกล่าวมากนัก ส่วนใหญ่เป็นผู้กระจายสินค้า ซึ่งมักรับซื้อผลไม้จากผู้นำเข้าในตลาดค้าส่งผลไม้เจียงหนาน นครกวางโจวเป็นหลัก
สำหรับการขนส่งผลไม้จากประเทศไทยสู่นครซีอาน โดยทั่วไปใช้ 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ การขนส่งทางเรือ ทางบก และทางอากาศ โดยผลไม้ส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมายังท่าเรือกวางโจว จากนั้นจึงขนส่งผ่านทางบกมายังนครซีอาน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน
นอกจากนี้ ยังสามารถขนส่งทางบกโดยตรงผ่านด่านศุลกากรที่ได้รับอนุญาต เช่น ด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน และด่านโหย่วอี้กวน เขตปกครองตนเองกวางสี ซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสำหรับการขนส่งผลไม้ที่มีปริมาณมาก เช่น ทุเรียน ลำไย เป็นต้น
อีกทั้ง ยังสามารถขนส่งผ่านทางอากาศ โดยในปี 2560 สนามบินนานาชาติซีอานเสียนหยางได้รับการอนุมัติให้เป็นด่านกักกันสำหรับผลไม้นำเข้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการจีนสามารถขนส่งผลไม้ไทยมายังนครซีอานผ่านทางอากาศ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการขนส่งเหลือเพียง 36 ชั่วโมง
วิธีนี้เหมาะสำหรับผลไม้ที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากใช้ระยะการขนส่งที่สั้น ช่วยรักษาคุณภาพของสินค้าได้ดี อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการขนส่งทางอากาศจะสูงกว่าการขนส่งทางบกและทางเรือ การเลือกใช้เส้นทางขนส่งขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของผลไม้ ตลอดจนความต้องการด้านคุณภาพและต้นทุนของผู้นำเข้าในนครซีอาน
DITP แนะนำว่า เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ในการเพาะปลูกผลไม้และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการค้ากับประเทศจีน ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกผลไม้สด เช่น ทุเรียน ลำไย และมังคุด ควรดำเนินกลยุทธ์การตลาดแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายตามระดับรายได้ของผู้บริโภค
โดยมีการจัดแบ่งผลไม้ตามมาตรฐานคุณภาพ เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อแตกต่างกัน สำหรับผลไม้คุณภาพระดับสูงจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าระดับ High-end เช่น ห้างสรรพสินค้า SKP และ Ole ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง
ในขณะที่ผลไม้คุณภาพระดับกลางควรมุ่งเน้นการจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าที่มีกลุ่มลูกค้าระดับกลาง เช่น ห้างสรรพสินค้า Vanguard ซึ่งมีฐานลูกค้าที่กว้างในตลาดผู้บริโภคระดับกลาง
รวมถึงผู้ประกอบการไทยยังสามารถร่วมมือกับผู้นำเข้าผลไม้ไทยในนครซีอาน หรือผู้ผลิตน้ำผักผลไม้ของจีนเพื่อนำผลไม้สดแปรรูปเป็นน้ำผักผลไม้ที่มีแนวโน้มการขยายตัวและเป็นที่นิยมในตลาดจีน
อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายจากภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดจากคู่แข่งจากต่างประเทศและคู่แข่งท้องถิ่นที่มีความได้เปรียบและเชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวนครซีอาน รวมถึงมีช่องทางการกระจายผลไม้ที่แข็งแกร่ง
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรทำการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวนครซีอาน รวมทั้งกฎระเบียบการนำเข้าน้ำผักผลไม้อย่างละเอียด เพื่อพัฒนาและนำเสนอสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม
รายงานฉบับเต็มของ DITP – https://www.ditp.go.th/post/197623