Newsยกฟ้อง “สุเทพ” ปิดฉากคดีฮั้วประมูลโรงพัก

ยกฟ้อง “สุเทพ” ปิดฉากคดีฮั้วประมูลโรงพัก

วันที่ 20 กันยายน 2565 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ นายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมกันฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทน โครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ) หรือคดีสร้างโรงพัก 396 แห่ง

 

ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาคดีการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง ตามที่ ป.ป.ช.เป็นผู้ฟ้องโดยพิพากษายกฟ้องข้อกล่าวหานายสุเทพ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความผิด และไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157

 

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรี ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 อนุมัติเป็นหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน)

 

โดยให้ดําเนินการตามความเห็นของสํานักงบประมาณ ซึ่งตามหนังสือสํานักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร 0707/085 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 สรุปสาระสําคัญ ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ดําเนินการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ ในส่วนที่จําเป็นเร่งด่วน เพื่อทดแทนอาคารสถานีตํารวจที่มีสภาพชํารุดทรุดโทรมมากกว่า 30 ปีขึ้นไปจํานวน 396 หลัง ภายในวงเงิน 6,672 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ขอให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ จัดลําดับความสําคัญของรายการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จ กระจายไปยังพื้นที่จะได้รวดเร็วใช้การได้ ซึ่งกองพลาธิการและสรรพาวุธ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ 0009.24/1995 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2552 เสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับแนวการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทําการสถานีตํารวจ (ทดแทน)

 

ในเบื้องต้น มีการเสนอเป็น 4 แนวทาง 1.จัดจ้างโดยส่วนกลาง สํานักงานตำรวจแห่งชาติ แบบรวมการในครั้งเดียว สัญญาเดียว 396 หลัง 2.จัดจ้างโดยส่วนกลาง สํานักงานตำรวจแห่งชาติ-แบบรวมการในครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1- 9) และทําสัญญา 9 สัญญา 3.จัดจ้างโดยตํารวจภูธรภาค 4.จัดจ้างโดยตํารวจภูธรจังหวัด

 

ซึ่งต่อมามีการเคาะให้เป็นจัดจ้างโดยส่วนกลาง ให้จัดจ้างที่ส่วนกลาง โดยสํานักงานตํารวจแห่งชาติ แบบรวมการครั้งเดียว โดยทําสัญญาเดียว 396 หลัง อยู่ในโครงการไทยเข้มแข็ง โปรเจ็กต์สำคัญของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าการก่อสร้างดำเนินการได้ล่าช้า และไม่สำเร็จลุล่วง ทำให้สำนักงานตรวจแห่งชาติ (สตช.) เกิดความเสียหาย

 

แต่เรื่องดังกล่าวกลายมาเป็นกระแสขึ้นในปี 2555 ยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล สตช.

 

โดยนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.พรรครักประเทศไทย ได้เปิดอภิปรายกลางสภา ในวาระไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ดูแลงานตำรวจ โดยเปิดโปงโครงการ 396 โรงพักที่สร้างแล้วทิ้งร้าง โดยนำภาพถ่ายจำนวนมากมาแสดงประกอบอภิปราย

 

“เพราะเห็นแต่โรงพักที่สร้างทิ้งร้าง มีแค่เสาปูนโด่เด่ พร้อมกับมีเถาวัลย์ไม้เลื้อยพัน บางแห่งก็เห็นผนังก่ออิฐแต่ทิ้งเอาไว้เปลือย ๆ”

 

ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมได้รับไปตรวจสอบ แต่การเปิดเกมดังกล่าว กลายเป็นการยื่นดาบให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลในคดีโรงพัก 396 แห่งในยุคพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพตกเป็นจำเลยสำคัญในคดีนี้ทันที มีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ทันที และต่อมาได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบ

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีคำสั่งที่ 129/2556 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องกล่าวหาดังกล่าว โดยมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน

 

เรื่องมาถึงปี 2560 นายสุเทพได้ทำหนังสือถึงนายวัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ขอให้ปลดนายวิชาออกจากการเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน เนื่องจากว่านายวิชามี “อคติ” กับตน เพราะในอดีต นายวิชาเคยไม่พอใจตนเรื่องมติ ก.ตร. ต่อกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ไม่สอดคล้องกับมติ ป.ป.ช. ซึ่งชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ในคดีสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 โดยนายวิชาเข้าใจว่าตนมีส่วนสำคัญในมติดังกล่าว ในฐานะประธาน ก.ตร.ขณะนั้น จึงเกรงว่านายวิชายังอาจมี “อคติ” ต่อตนอยู่ จึงขอเรียกร้อง 2 ประการ ดังนี้

 

  1. ขอเปลี่ยนคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีที่อ้างถึง เป็นอนุกรรมการชุดใหม่เข้าทำหน้าที่แทน
  2. ขอโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในคดีโดยวาจาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เต็มคณะ ก่อนที่จะมีมติชี้มูลความผิดหรือไม่

“สุเทพ” ปิดท้ายหนังสือว่า “เพื่อความเป็นธรรมในการดำเนินกระบวนการไต่สวนคดีนี้ ขอได้โปรดอนุญาตด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง”

 

หลังนายสุเทพขอความเป็นธรรมให้เปลี่ยนชุดคณะอนุกรรมการไต่สวน ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งที่ 615/2560 ลงวันที่ 12 เมษายน 2560 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการไต่สวน จากการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เป็นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน

 

6 สิงหาคม 2562 ป.ป.ช.มีการแถลงข่าวว่า ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดนายสุเทพ ด้วยเสียงเอกฉันท์ 8 เสียง (นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณา) ดังนี้

1.การกระทำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำของพลตำรวจเอกปทีป ตันประเสริฐ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

 

2.การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา 2.1) การกระทำของพลตำรวจตรีสัจจะ คชหิรัญ และพันตำรวจโทสุริยา แจ้งสุวรรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2552 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

2.2) การกระทำของพันตำรวจเอกจิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พันตำรวจเอกสุทธี โสตถิทัต พันตำรวจเอกพิชัย พิมลสินธุ์ พันตำรวจเอกณัฐเดช พงศ์วรินทร์ และพันตำรวจเอกณัฐชัย บุญทวี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 78 (1) (2) และ (9)

 

3.บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยนายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว

 

4.สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่น ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว พลตำรวจโทธีรยุทธ กิติวัฒน์ และพลตำรวจโทสุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

 

ให้ส่งเรื่องรายงานเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการสูงสุดรับสำนวนจาก ป.ป.ช.มาพิจารณา ได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.และอัยการ เพื่อพิจารณาประเด็นข้อไม่สมบูรณ์ กระทั่งต่อมาอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช.จึงฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตัวเอง

 

จากนั้นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ศาลได้รับคำฟ้องของ ป.ป.ช. โดยนายสุเทพได้มาพร้อมทนายรับฟังคำสั่งฟ้องของศาลด้วยตนเอง ทั้งนี้ ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2552-18 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาค แยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว

 

จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา ได้เสนอราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคาไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบ เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา

 

ต่อมาจำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3, 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5, 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด

 

สำหรับกระบวนการในชั้นศาลนั้น เริ่มเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพิจารณาครั้งแรก และได้อ่านอธิบายคำฟ้อง พร้อมสอบคำให้การ จำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธข้อต่อสู้คดี ศาลจึงได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานโจทก์ 3 นัด

 

ครั้งแรกวันที่ 2, 30 มิถุนายน และวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 และนัดไต่สวนพยานจำเลยวันที่ 19, 21, 26 กรกฎาคม 2565

กระทั่ง 20 กันยายน ศาลจึงได้มีคำพิพากษายกฟ้องข้อกล่าวหา “นายสุเทพ” เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความผิด และไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157

อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า