เยียวยาเหยื่อรถบัส ไฟไหม้รายละ 2.4 ล้าน ‘สุริยะ’ เร่งเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต – ผู้ได้รับบาดเจ็บ
“สุริยะ” แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกรณีรถบัสนำคณะนักเรียน – ครูไปทัศนศึกษาเกิดเหตุไฟไหม้บริเวณหน้าเซียร์รังสิต พร้อมขานรับข้อสั่งการ “นายกฯ” ถกร่วมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย เร่งเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต – ผู้ได้รับบาดเจ็บ
เบื้องต้นได้รับค่าเสียหาย – รักษาพยาบาลจากประกันภัยรถโดยสาร ด้าน ขบ. – กองพิสูจน์หลักฐานเตรียมลงพื้นที่สอบเหตุเชิงลึกวันนี้ (2 ต.ค. 67) ลุยวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำ จ่อเรียกรถโดยสารสาธารณะติดตั้งเชื้อเพลิง CNG ตรวจสภาพรถทุกคัน – กำหนดแผนใช้รถไปทัศนศึกษา
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ตนสั่งการให้คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ประชุมคณะกรรมการฯ
เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์รถโดยสารไม่ประจำทาง 30-0423 สิงห์บุรี (รถโดยสารชั้นเดียว ปรับอากาศ) มีผู้โดยสารเป็นนักเรียน จำนวน 39 คน และครู จำนวน 6 คน
เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าเซียร์รังสิต ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย (รอการยืนยันอัตลักษณ์) (นักเรียน 20 ราย ครู 3 ราย) บาดเจ็บ (Admit) ได้แก่ นักเรียน 3 ราย และกลับบ้าน ได้แก่ นักเรียน 16 ราย และครู 3 ราย รวม 19 ราย
ซึ่งจากเหตุดังกล่าวนั้นรัฐบาลจะดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเยียวยา พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหาแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก
ทั้งนี้ ตนต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อบิดา มารดา ครอบครัวและญาติของเด็กนักเรียนและครูที่เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บทุกคน พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้หายเจ็บป่วยโดยเร็ว สำหรับการเยียวยาต่อครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น
จากการหารือร่วมกับคณะกรรมการฯ เบื้องต้นรถโดยสารคันดังกล่าว ได้ทำประกันภาคบังคับ (พ.ร.บ.) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าเสียหาย รายละ 500,000 บาท ผู้ได้รับบาดเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลรายละไม่เกิน 80,000 บาท/คน (รวมแล้วไม่เกิน 10 ล้านบาท/ครั้ง) ขณะที่ประกันภัยภาคสมัครใจโดยบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) นั้น ผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ จะได้รายละไม่เกิน 500,000 บาท/คน (รวมแล้วไม่เกิน 10 ล้านบาท/ครั้ง)
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ จากการรายงานของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุว่ารถคันเกิดเหตุเป็นรถโดยสารชั้นเดียว ยางล้อหน้าทั้งซ้ายและขวาไม่พบร่องรอยการระเบิด ประตูฉุกเฉินด้านหลังขวาสามารถใช้งานได้ มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยครบ ได้แก่ ประตูฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก
ซึ่งทีมสอบสวนอุบัติเหตุ ขบ. จะร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานทำการลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงลึกในวันนี้ (2 ตุลาคม 2567) โดยใช้เครื่องมือในการตัด ถ่าง ยกรถ ถอดล้อ เพื่อตรวจสอบการติดตั้งก๊าซ CNG ระบบห้ามล้อ ระบบบังคับเลี้ยว เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเพลิงไหม้
ขณะที่มาตรการการบังคับใช้กฎหมายในส่วนของผู้ประกอบการขนส่งและผู้ขับรถ โดย ขบ. ได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งของนางสาวปาณิสรา ชินบุตร ในทันที และหากตรวจสอบพบว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความบกพร่องผู้ประกอบการขนส่ง จะทำการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งต่อไป
ขณะเดียวกันยังได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถของนายสมาน จันทร์พุฒ ในทันที และหากตรวจสอบพบว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากผู้ขับรถจะทำการเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป
อีกทั้งสั่งยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) ของนางกนิษฐา ชินบุตร พร้อมทั้งตรวจสอบการดำเนินงานของสถานติดตั้งตรวจและทดสอบรถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงบริษัท ออลเทอร์เนทีฟ รีซอส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หากพบว่ามีความผิดจะเพิกถอนหนังสือรับรองต่อไป
ในส่วนของมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำนั้น ขบ. เตรียมเรียกรถโดยสารสาธารณะที่ติดตั้งเชื้อเพลิง CNG ทั้งหมด เข้ารับการตรวจสภาพระบบเชื้อเพลิง CNG ซ้ำ ณ สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ
รวมถึงกำหนดมาตรฐานการใช้รถโดยสารสาธารณะไปทัศนศึกษา กล่าวคือการเลือกใช้ผู้ประกอบการขนส่งและยานพาหนะที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดจะให้ความร่วมมือในการพิจารณาคัดเลือก
ในส่วนมาตรการในการเดินทางสำหรับเด็กนักเรียนให้เกิดความปลอดภัย เช่น สัดส่วนครูต่อนักเรียนในการเดินทาง แนะนำการใช้อุปกรณ์นิรภัย (เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก ทางออกฉุกเฉิน ถังดับเพลิง เป็นต้น)
ด้านการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะต้องมีการวางแผนการเดินทางโดยบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง TSM ได้แก่ การเลือกเส้นทาง การกำหนดจุดพัก การตรวจสภาพความพร้อมของรถและผู้ขับรถ พร้อมด้วยบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำคู่มือและให้สำนักงานขนส่งจังหวัดให้คำแนะนำแก่โรงเรียนต่าง ๆ