
“เราจำเป็นต้องปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งการเป็นผู้ประกอบการให้กับคนรุ่นต่อไป สร้างความร่วมมือ ไปพร้อมกับการหาแนวทางลดช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เสนอวิสัยทัศน์ ”โอกาสและความท้าทายของบริษัทข้ามชาติในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล“ (Opportunities and Challenges for Multinational Enterprises in the Digital Economy Era) บนเวทีการประชุมสุดยอดความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล 2024 China Mobile Southeast Asia, Regional Cooperation Conference: “Connecting Through Data, Innovating the Future” จัดโดย China Mobile
โดยกล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ 5.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ และการเชื่อมต่อดิจิทัลและให้ความสำคัญกับบิ๊กดาต้าเพิ่มมากขึ้น เป็นโอกาสทางธุรกิจในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงเอไอมาปรับใช้ทำความเข้าใจลูกค้าและการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปรับตัวให้เท่าทันรับการแข่งขัน
เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่จะเติบโตถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของมูลค่าสินค้ารวมภายในปี 2030 ผ่านการสร้างความร่วมมือให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความร่วมมือ “ด้านเอไอและคลาวด์” รวมไปถึงการให้ความสำคัญในเรื่องของอธิปไตยของข้อมูล (data sovereignty) ทุกองค์กรจะต้องมีอำนาจอิสระในการจัดการและควบคุมข้อมูลของตนเอง
ทั้งนี้ไม่เพียงแต่การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น เราควรสร้างความร่วมมือในการลดช่องว่างทางดิจิทัลด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับกลยุทธ์และการดำเนินการทางธุรกิจอย่างมีส่วนร่วม ทำให้เกิด e-Government และการผลักดันให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการเงิน
การจะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทต่างๆ จะอยู่รอดได้ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนา “ทุนมนุษย์” พร้อมทั้งเสนอโมเดล SI Transformation หรือ การสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ผ่านการให้ความรู้กับคนรุ่นต่อไป เน้นไปที่การสร้างทักษะด้านเอไอควบคู่ไปกับการปลูกฝังจริยธรรมและมายเซตในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้
ดังนั้น บทบาทของครูจะต้องปรับเปลี่ยนจากผู้สอนไปเป็น “โค้ช” หรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ต้องสอนให้เด็กเป็น “นักทดลอง” มีกรอบความคิดใหม่ เรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งเป็นการปลูกฝังหลักความเป็นผู้ประกอบการไปในตัว จะทำให้พวกเขาเกิดการปรับตัวให้อยู่รอดในโลกที่ท้าทายตอนนี้
“เราจำเป็นต้องปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งการเป็นผู้ประกอบการให้กับคนรุ่นต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างกำลังคนในอนาคตให้ก้าวข้ามความท้าทายและคว้าโอกาสต่างๆ ในเศรษฐกิจ 5.0 ขณะเดียวกันต้องสร้างความร่วมมือ ไปพร้อมกับการหาแนวทางลดช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายศุภชัย กล่าว