
ฟ้องบอสหมอเอก ใช้สถานพยาบาลเถื่อน ‘สาธารณสุข’ ชี้ถึงจะหาไม่พบว่า ‘บอสหมอเอก’ ใช้สถานพยาบาลไหน ก็ยังเอาผิดบอสหมอเอกตาม พรบ.วิชาชีพเวชกรรมได้อยู่ดี
สืบเนื่องจากกรณีที่พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เดินทางเข้าแจ้งความบอสหมอเอก-ดร.ฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ หนึ่งในบอสเครือข่ายดิไอคอนกรุ๊ป ซึ่งมีพฤติกรรมแอบอ้างตัวเป็นหมอในโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ได้เป็นหมอจริง เมื่อวานนี้ (14 ต.ค. 2567)
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า พฤติการณ์ของบอสหมอเอก ซึ่งปรากฎภาพว่าทางสื่อโซเชียลมีเดียมีลักษณะของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและสถานที่ที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น ทางกรมจะดำเนินการล่าวหาว่าสถานพยาบาลตรงนั้นเป็นสถานพยาบาลเถื่อนไปก่อน
โดยไม่เกี่ยงว่าสถานพยาบาลแห่งนั้นขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ เพราะบอสหมอเอกนั้นไม่ใช่แพทย์จริง และสถานที่นั้นมีหน้าที่พิสูจน์ว่าเป็นสถานพยาบาลเถื่อนหรือไม่
ทั้งนี้ ปรากฎภาพนิ่งของบอสหมอเอกที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลดังกล่าวนั้น มีการใช้หูฟังของแพทย์ตรวจฟังหัวใจของคนที่นอนรับบริการอยู่ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว เพราะมีการตรวจรักษากระทำกับมนุษย์
อีกทั้งยังยังมีคลิปวีดีโอ ที่มีการบอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางความงาม รวมถึงมีการใส่เสื้อกาวน์ ใส่ถุงมือ ตรวจจับใบหน้า ถือเข็มฉีดยากับคนไข้ ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพราะกระทำกับมนุษย์ในการตรวจหรือรักษา
“คลิปที่ปรากฏมีการนำบอสทั้งหลายมาพูดและมีการอินเสิร์ทภาพเป็นบอสหมอเอกที่อ้างตัวว่าเป็นหมอ และเป็นคนอวดอ้างถึงการกระทำต่างๆ ที่นอกจากทำในคลินิกแล้วยังบอกว่าทำในสปาและอื่นๆอีกหลายที่” นพ.ภานุวัฒน์ กล่าว
สำหรับดิไอคอนเวลเนสคลินิกเวชกรรมนั้น ถึวแม้ว่าจะเป็นสถานพยาบาลที่มีการขออนุญาตถูกต้อง แต่ถ้าหากพิสูจน์ทราบว่าเป็นสถานที่ที่ให้บอสหมอเอกมีการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สถานพยาบาลแห่งนี้ก็จะมีความผิดฐานที่ปล่อยให้หมอเถื่อนเข้าไปดำเนินการ
แต่ถ้าหากตรวจพบว่าเป็นสถานพยาบาลอื่น ก็จะถือว่าสถานพยาบาลแห่งนั้นมีความผิดด้วยเช่นกัน แต่หากไม่สามารถระบุสถานที่ได้ ก็ยังถือว่าองค์ประกอบการกระทำความผิดของบอสหมอเอกก็ครบ เพราะแม้จะทำที่บ้านก็ไม่ได้ถือเป็นสถานพยาบาลเถื่อนอยู่ดี
อนึ่ง การกระทำความผิดตามพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 26 ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาต (หมอเถื่อน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และสถานที่ให้บริการตรวจรักษาก็ไม่ได้ขออนุญาตและขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล จึงเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 และ 24 ฐานประกอบกิจการ และดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต (คลินิกเถื่อน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ