เมื่อเกาหลีใต้ มาถึงทางสองแพร่ง ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้คนรุ่นใหม่คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้กลับมาแข็งแรงกว่าเดิม
ภายหลังจากที่ประธานาธิบดี (ปธน.) ยุน ซ็อกย็อล ของเกาหลีใต้ ล้มเหลวในการประกาศกฎอัยการศึก ในช่วงวันที่ 3 – 4 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งนำมาสู่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.) แต่ฝ่ายค้านเองก็ล้มเหลวในการรวบรวมคะแนนเสียงเพื่อการยื่นถอดถอน ปธน. ยุนยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้
ซึ่ง รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวว่าสถานการณ์นี้นั้นได้ทำให้ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้นั้น ได้มาถึงทางสองแพร่งแล้ว
สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้นั้น รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่าได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ ที่ได้ชื่อว่าตั้งมั่นแล้วเกิดความสั่นคลอน ซึ่งหลายคนที่มีอายุมากแล้ว จะเข้าใจดีว่าเกาหลีใต้เมื่อ 40 ปีก่อนนั้น เคยมีการใช้ความรุนแรงทางการเมืองมาก่อน
มีการประกาศกฎอัยการศึกถึงเกือบ 20 ครั้งในสมัยที่พลเอกปัก จุงฮี (2505 – 2522) และ พลเอกชุน ดูฮวัน (2523 – 2531) เป็น ปธน. ผ่านการยึดอำนาจมา จนทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ซึ่งในที่สุด พลเอกปัก จุงฮีนั้นถูกลอบสังหาร
แต่ 40 ปีหลังจากนั้น ไม่มีการรัฐประการอีก ประชาธิปไตยก็เริ่มเบ่งบาน และเกาหลีใต้ก็เริ่มมีชื่อเสียงในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะการค้า การลงทุน และซอฟ์ตพาวเวอร์ ที่ทำให้วัฒนธรรม K-Pop กลายมาเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก
แต่คนทั่วโลกไม่ได้รู้จักด้านมืดของเกาหลีใต้ที่ได้หยั่งรากลึกเข้าไปในการเมืองเกาหลี ผ่านระบบพวกพ้อง และการทุจริตคอรัปชันเชิงนโยบายที่ทับซ้อนกัน
ทั้งนี้ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวถึงการประกาศกฎอัยการศึกของ ปธน. ยุน ซึ่งให้เหตุผลอย่างคลุมเครือว่าพรรค่ายค้านนั้น สมคบคิดกับเกาหลีเหนือ จึงต้องมีการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อการระงับยับยั้งการแทรกซึมเข้ามาของฝ่ายเกาหลีเหนือว่า
ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือนั้น ถูกกำหนดให้เป็นภัยคุกคามลำดับแรกของเกาหลีใต้มานานแล้ว อีกทั้งยังเป็นความกังวลโดยทั่วไปของชาวเกาหลีใต้ แต่ในรายละเอียดลึก ๆ ว่าฝ่ายค้านมีความร่วมมือกับเกาหลีเหนืออย่างไร และเกาหลีเหนือแทรกซึมเข้ามาอย่างไรนั้น การที่ ปธน. ยุนมิได้ให้เหตุผลอย่างชัดเจน ก็จะกลายมาเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ภูมิหลังของ ปธน. ยุนนั้น เคยทำงานด้านกฎหมายมาก่อน เป็นทนาย เป็นอัยการประจำ และตำแหน่งสุดท้ายก่อนเข้าสู่การเมือง คืออัยการสูงสุด คาดว่า ปธน. ยุนน่าจะมีข้อมุลบางอย่าง อีกทั้งความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือตามแนวชายแดนนั้นก็น่ากังวล
ซึ่งทางสหรัฐ และญี่ปุ่น พันธมิตรสำคัญของเกาหลีใต้ ในการต่อต้านเกาหลีเหนือได้เคลื่อนไหวในเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เงื่อนไขนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนคนรุ่นใหม่ และภาคธุรกิจ ซึ่งผลกระทบจากเรื่องนี้นั้นจะค่อนข้างสูงมาก
สำหรับท่าทีของเกาหลีเหนือ และพันธมิตรของเกาหลีใต้นั้น ทางสหรัฐยังคงประจำการทหารประมาณ 3 หมื่นนาย เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์อยู่ โดยมีคำสั่งไม่ให้ทหารออกนอกที่ตั้ง และดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์ ซึ่งกำลังทหารจากชาติพันธมิตรของเกาหลีใต้ ก็ยังคงจับตาดูความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ ซึ่งในเวลานี้ความเคลื่อนไหวหลายอย่าง
ทำให้สถานการณ์บนเส้นขนานที่ 38 ซึ่งเป็นแนวเส้นแบ่งระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ นั้นยังคงมีความตึงเครียด อีกทั้งก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือได้มีการทดสอบขีปนาวุธ อีกทั้งยังได้ทำลายช่องทางในการสื่อสารกับเกาหลีใต้ไปหลายช่องทาง และทำลายเส้นทางการคมนาคมตามแนวพรมแดน
หลายฝ่ายจึงเชื่อว่าเกาหลีเหนือน่าจะฉวยโอกาสที่เกาหลีใต้มีความวุ่นวายทางการเมือง ดำเนินการเคลื่อนไหวเพิ่มเติม เพื่อการกดดัน และสร้างอำนาจในการต่อรองในบางรูปแบบ
สำหรับความรู้สึกของประชาชนชาวเกาหลีใต้ ต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้นั้น ประชากรชาวเกาหลี ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 51 ล้านคน โดยในนี้นั้นมีคนที่มีช่วงอายุระหว่าง 15 – 60 ปีอยู่ถึง 70%
ซึ่งคนกลุ่มนี้นั้นเป็นกลุ่มที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ในยุคที่เกาหลีใต้นั้นเป็นเผด็จการ ในสมัยของ พลเอกชุน ดูฮวัน (2523 – 2531) และ พลเอกปัก จุงฮี (2505 – 2522) อดีต ปธน. ของเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นยุคเผด็จการ และคนกลุ่มนี้ไม่ต้องการให้เกาหลีใต้กลับเข้าสู่ยุคมืดเช่นนั้นอีก
ซึ่งคนกลุ่มนี้ ซึ่งรวมไปถึงทหารบางส่วน ที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึก เพื่อนำทหารเข้ามาดำเนินการกับฝ่ายการเมือง ซึ่งนี่ถือเป็นฐานที่สำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าจะทำให้เกิดการต่อต้าน ปธน. ยุนอย่างชัดเจน และน่าจะมีการขยายฐานในส่วนนี้ออกไปอีก
สำหรับคนที่อยู่ในวัยสูงอายุ ที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีนั้นมีอยู่ไม่ถึง 20% ซึ่งนี่จะทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบ และจะทำให้เกิดเป็นช่องว่าง เนื่องจากไม่มีการอธิบายถึงเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงของเกาหลีเหนือ อีกทั้งยังมีความขัดแย้งกันเองในพรรครัฐบาล ซึ่งมีข่าวว่าอาจจะมีแกนนำของพรรครัฐบาลถูกจับไปด้วยในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งนี่ทำให้เกิดความสับสน
แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนต้องการที่จะเห็นสถานการณ์ได้รับการคลี่คลายโดยวิถีทางของประชาธิปไตย โดยไม่มีการใช้กำลังทหารเข้ามาผ่านการใช้อำนาจพิเศษ ทั้ง ๆ ที่ ปธน. ของเกาหลีใต้นั้น มีฐานะเป็นผู้นำกองทัพเกาหลี และสามารถใช้อำนาจพิเศษในการประกาศกฎอัยการศึกได้ แต่ในวันนี้ อำนาจตรงนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นจริงที่เป็นธรรม และชอบธรรม
อย่างไรก็ดี การที่ ปธน. ยุนจะประกาศลาออกเองนั้น ก็ยังมีโอกาสอยู่ เนื่องจากว่านี่เป็นวัฒนธรรมของทั้งเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นอยู่แล้ว ที่มีแกนนำฝ่ายการเมืองประกาศลาออกไปเองอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนี่ถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง
แต่ทั้งนี้อาจจะต้องมีการเจรจาต่อรองเพื่อการสร้างหลักประกันในเรื่องของความปลอดภัย และในเรื่องของการดำเนินคดี ซึ่งนี่น่าจะมีการพูดคุยกันมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. แล้ว และเมื่อต่อรองกันสำเร็จ ก็จะสามารถลาออกได้ เพื่อที่จะให้เกิดการเลือกตั้ง ปธน. คนใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นต้องใช้เวลา
แต่ในระหว่างนี้นั้น นายกรัฐมนตรีจะขึ้นมารักษาการ ปธน. ซึ่งจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดิน, เศรษฐกิจ, การค้าและการลงทุน และการท่องเที่ยวเกิดความชะงักงัน เนื่องจากว่าหลายฝ่ายจะรอดูทิศทางที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง และรัฐบาลรักษาการก็จะไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้สักเท่าไรนัก
อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้จะสามารถกลับมาเดินหน้า ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเมืองในระยะยาวได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับน่าจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเอง เนื่องจากว่าระบอบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้นั้น ถือได้ว่าเป็นระบอบที่มีโครงสร้างทางประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นแล้ว มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ที่สามารถทำงานได้ อย่างที่ได้เห็นในช่วงวิกฤต 6 ชั่วโมงของเกาหลีใต้ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารได้
แต่ปัญหาใหญ่นั้นอยู่ที่ตัวบุคคล จิตวิญญาณประชาธิปไตย คนใกล้ชิดและครอบครัวของ ปธน. ซึ่งในกรณีนี้นั้น ภรรยา ปธน. ถูกครหาว่าได้รับรางวัลที่มีมูลค่าสูงกว่าที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ และไม่ถูกดำเนินคดี
อีกทั้งคนใกล้ชิดของ ปธน. ไม่ว่าจะเป็น รมว. กลาโหม คณะที่ปรึกษาและหัวหน้าของฝ่ายบริหารของ ปธน. ที่ให้ข้อมูลที่อาจจะคลาดเคลื่อน และนำเสนอแนวทางในการประกาศกฎอัยการศึกที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
จึงสรุปได้ว่า ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นแล้วนั้น น่าจะเป็นรูปแบบของโครงสร้าง แต่ว่าในส่วนของตัวบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มาจากยุคเดิมนั้นก็อาจจะมีปัญหา ซึ่งปัญหาเช่นนี้นั้นมีแม้ในญี่ปุ่น และในอีกหลายประเทศ
แต่ทั้งนี้นั้นจะต้องดูพัฒนาการของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาพร้อมกับจิตวิญญาณประชาธิปไตย ในลักษณะที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างแต่เพียงอย่างเดียว การเจรจารอมชอม ภายใต้หลักของประชาธิปไตยอย่างมีดุลยพินิจน่าจะเป็นทางออกของเกาหลีใต้ในยุคต่อไป