กฟน.และ กฟภ. หนุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ลดระยะเวลาดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้ให้สามารถเชื่อมต่อ และจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 30 วัน หลังแจ้งขอเชื่อมต่อ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปรับปรุงขั้นตอนส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อป โดยให้เชื่อมต่อเพื่อจ่ายไฟฟ้าและใช้งานอุปกรณ์ได้ภายใน 30 วัน จากเดิมรวมทุกขั้นตอนใช้เวลา 90-135 วัน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อป เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน จึงได้แก้ไขขั้นตอนใหม่โดยกำหนดให้ผู้ติดตั้งโซลาร์ยื่นคำขอจดแจ้งยกเว้นฯ ต่อสำนักงาน กกพ. ผ่านระบบ Online ของสำนักงาน เพื่อดำเนินการด้านเอกสารก่อนติดตั้ง ภายหลังติดตั้งแล้วเสร็จให้ยื่นขอเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย โดยการไฟฟ้าจะตรวจสอบระบบ เปลี่ยนมิเตอร์ และส่งข้อมูลจดแจ้งยกเว้นฯ ให้สำนักงาน กกพ. พร้อมให้สามารถเชื่อมต่อและจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 30 วัน หลังแจ้งขอเชื่อมต่อ
นอกจากนี้ยังมอบสำนักงาน กกพ. ประจำเขตให้คำปรึกษาการติดตั้งโซลาร์หลังคาในรูปแบบต่างๆ ความคุ้มค่า และการดูแลบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน พร้อมให้สำนักงาน กกพ. ประจำเขตเป็นหน่วยงานที่รวบรวมอุปกรณ์และแผงที่ใช้งานแล้วสำหรับผู้ติดตั้งประเภทบ้านอยู่อาศัย (ไม่เกิน 10 KVA) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มบ้านอยู่อาศัย และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการใช้พลังงานหมุนเวียนแบบยั่งยืน โดยขั้นตอนใหม่นี้สามารถแบ่งแยกขั้นตอนการดำเนินการของกลุ่มต่างๆ ในการจดแจ้งยกเว้นฯ ดังนี้
- โครงการที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ ซึ่งไม่เข้าข่ายต้องขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) สำหรับขั้นตอนการขอติดตั้งและเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน. และ กฟภ.) นั้น ปัจจุบันได้ปรับลดระยะเวลาดำเนินการโดยรวมลง จากเดิมไม่ได้กำหนดวันไว้ เป็นกำหนดกรอบเวลาให้แล้วเสร็จไว้ที่ 30 วัน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการตามกระบวนการจดแจ้งยกเว้นฯ (QR Code 1)
- โครงการที่มีกำลังการผลิตติดตั้งตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป และต่ำกว่า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ ซึ่งเข้าข่ายต้องขอรับใบอนุญาต พค.2 นั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดทำและส่งข้อมูล เพื่อพิจารณาให้ความเห็นการออกใบอนุญาต พค.2 ต่อ กกพ. โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตรวจสอบระบบ สรุปผลและเสนอความเห็นการอนุญาต พค.2 ต่อ กกพ. ภายในระยะเวลาดำเนินการ 30 วันนับตั้งแต่ พพ. ได้รับคำขอจากสำนักงาน กกพ. ทั้งนี้ ไม่รวมระยะเวลาดำเนินการกรณีที่ต้องมีการแก้ไขโดย พพ. รวมระยะเวลาการอนุญาต พค.2 และเชื่อมต่อของการไฟฟ้าฯ รวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 60 วัน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการตามกระบวนการจดแจ้งยกเว้นฯ (QR Code 2)
พร้อมกันนี้ สำนักงาน กกพ. ยังได้อำนวยความสะดวกในการติดต่อ และยื่นคำขอแจ้งกิจการที่รับการยกเว้นฯ ผ่านช่องทาง สำนักงาน กกพ. ได้ทางระบบออนไลน์ www.erc.or.th หรือผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน ชื่อ ERC Thailand ซึ่งมีอยู่ทั้งใน App Store และ Play Store
นอกจากนี้เพื่อให้เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำนักงาน กกพ. ได้ให้สำนักงาน กกพ. ประจำเขตทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อบริการให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำกับประชาชนที่สนใจติดตั้งโซลาร์บนหลังคาบ้าน พร้อมกับจัดหาพื้นที่เพื่อใช้ในการรวมอุปกรณ์โซลาร์ใช้แล้วประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่หมดอายุการใช้งาน ชำรุด หรือไม่ต้องการใช้แล้ว เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
‘พาณิชย์’ ชี้โอกาส แนะผู้ประกอบการทุเรียน ขอใบ C/O ส่งออกทุเรียนไปประเทศคู่ FTA
งาน THAIFEX – ANUGA จัดหนัก งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่และครบวงจรที่สุดในเอเชีย ตั้งเป้า ยอดสั่งซื้อในงาน ทั้ง On Ground – Online 85,000 ล้านบาท
“ได้สวัสดีทักทายท่าน ซึ่งท่านได้ถามผมว่าผมเหนื่อยไหม” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพบปะกับ พลเอกประยุทธ์ ในการเข้าชมโขนพระราชทานรอบปฐมทัศน์ วันที่ 7 พ.ย. 66
ศิราวุธ ภุมมะกสิกร
อดีตวิศวกรโครงการ ระดับผู้จัดการ จบปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล จาก พระจอมเกล้าธนบุรี และ โท ด้าน Advanced Manufacturing Engineering จาก University of South Australia มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และสวัสดิการสังคม