
Social (Media) Trap วงจรอุบาทว์ที่กลืนกินชีวิตคุณ เข้าใจกลไกทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
หากย้อนไปสักสามสิบปีก่อน คำว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ หลายคนคงนึกถึงพื้นที่ที่ช่วยเชื่อมโยงผู้คน แชร์เรื่องราว และสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็น Hi5 ICQ MSN หรือแม้กระทั่งเว็บบอร์ดต่าง ๆ แต่ในยุคปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟสบุ๊ค ไอจี ติ๊กต๊อก และอื่น ๆ ไม่ได้เป็น ‘เวทีแบ่งปัน’ หรือ ‘เชื่อมโยง’ เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็น ‘เวทีแข่งขัน’ ในการถ่ายทอด ‘ตัวตนสมบูรณ์แบบ’ เพื่อเรียกยอดไลก์และสร้างความยอมรับในโลกเสมือนจริง
ใช่…เราใช้คำว่า ‘เสมือน’ เพราะมัน ‘ไม่จริง’
หากยังมองไม่เห็นภาพ ลองนึกง่าย ๆ แค่ว่าก่อนที่จะมาเจอบทความนี้ คุณก็อาจจะไถฟีดเจอเรื่องราวต่าง ๆ บ้างเป็นโพสแบ่งปันชีวิตประจำวัน บ้างเป็นโพสเผยแพร่ข่าวสาร บ้างเป็นโพสแชร์ความชอบในหลาย ๆ ด้าน และบ้างก็เป็นโพสของคนที่คุณอาจจะรู้จักดีว่าชีวิตจริงไม่ได้ร่ำรวยอู่ฟู่ แต่กลับเลือกนำเสนอตัวเองในแบบที่ ‘ดูเหมือน’ จะเป็นคนในระดับสังคมที่สูงกว่าความเป็นจริง สิ่งทีกล่าวนี้อาจสะท้อนผ่านพฤติกรรมการโพสต์ภาพดื่มกาแฟจากแบรนด์ดัง การเช็คอินร้านอาหารสุดหรู หรือการเดินทางในสถานที่หรูหรา ซึ่งจุดนี้เองที่เราพยายามชี้ให้เห็นว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ ถูกแปรสภาพจากการบันทึกชีวิตประจำวันเป็น ‘เครื่องมือสร้างตัวตนลวง’ เพื่อเสริมภาพลักษณ์ และในขณะเดียวกัน ‘โซเชียลมีเดีย’ ก็เป็น ‘เครื่องมือในการปรับกระบวนทัศน์’ ทำให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ควรเอาแบบอย่าง
พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อเสพภาพชีวิตหรูหราจากสื่อออนไลน์ แล้วก็เกิดการเปรียบเทียบแข่งขันภายในใจว่าจะต้องทัดเทียมผู้อื่นอย่างไร จึงเลือกที่จะแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียเป็นการแสดงตัวตนตอบกลับสังคม และแน่นอนว่าโพสนี้ ก็ต้องไปกระทบจุดอยากแข่งขันของใคร ๆ ที่อาจจะเลือกใช้วิธีเดียวกัน ‘บลัฟ’ ผู้อื่นวนเวียนไปเรื่อย ๆ
เป็น ‘วงจรอุบาทว์’ วนไปวนมาไม่จบสิ้น
ในทางจิตวิทยา พฤติกรรมนี้สะท้อนถึง ‘การแสวงหาการยอมรับ’ ซึ่งเกิดจากความต้องการที่จะแสดงออกว่า ‘ฉันก็ดีพอ’ หรือ ‘ฉันก็น่าสนใจ’ โดยมีตัวชี้วัดคุณค่าว่าได้รับการยอมรับหรือไม่ นับได้จากยอดไลก์ยอดแชร์และยอดคอมเมนต์ ซึ่งในความเป็นจริง ผลที่ได้นั้นไม่ใช่ผลสำเร็จของการสร้างตัวตน แต่คือผลลัพธ์ของการเปรียบเทียบที่ไม่สิ้นสุด
ที่กล่าวมานี้ไม่ได้เป็นผลจากการสังเกตการณ์สังคม แต่มีผลการศึกษาของ Royal Society for Public Health (2022) รองรับว่า 70% ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียรู้สึก ‘ด้อยกว่า’ หลังจากเห็นโพสต์ของคนอื่น และกว่า 65% ยอมรับว่าพวกเขารู้สึก ‘กดดัน’ ที่จะต้องปรับปรุงภาพลักษณ์ของตัวเองในโลกออนไลน์ให้ทัดเทียมผู้อื่น
ข้อมูลทางสถิตินี้ไม่เพียงย้ำชัดถึงสิ่งที่เราตั้งข้อสังเกต แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง ‘วงจรอุบาทว์’ เพราะ ‘ความสุข’ จากยอดไลก์และคอมเมนต์เหล่านี้มักมีอายุเพียงไม่กี่วินาที หลังจากนั้น ความกดดัน (ในการที่จะได้ยอดไลก์) และความคาดหวังใหม่ (ที่จะได้รับการยอมรับในรูปต่อ ๆ ไป) จะกลับมาแทนที่
การโพสต์เพื่อ ‘ให้คนอื่นยอมรับ’ กลายเป็นวัฏจักรที่ไม่มีวันจบสิ้น และยิ่งไปกว่านั้น มันอาจบั่นทอนความมั่นใจจากภายใน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความสุขที่แท้จริง
ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นชัดอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เรื่องราวของการเดินทางท่องเที่ยว
ในอดีต การเดินทางเพื่อเรียนรู้โลกและเปิดมุมมองใหม่ ๆ นั้น นักเดินทางจะได้ประสบการณ์ผ่าน ‘ของจริง’ ไม่ว่าได้ ‘เห็นจริง’ ด้วยตาตัวเอง ได้สัมผัส ‘เรื่องจริง’ ที่ประสบพบเจอระหว่างซึมซับวัฒนธรรมของจุดหมายการเดินทาง ซึ่งเราเชื่อว่ากระบวนการเหล่านั้นทำให้นักเดินทางได้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ประสบการณ์ผ่านอารมณ์และความรู้สึกจริง จนมองเห็นข้อดีและข้อเสียของสิ่งต่าง ๆ ด้วยสายตาตนเอง
ทว่าในปัจจุบันนี้ เราสามารถเรียนรู้โลกผ่านการเสิร์จเพียง ‘1 Click’ หรือ เห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่าน ‘1 Clip’ โดยที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองใด ๆ เพียงสิบห้านาทีที่ชมช่องท่องเที่ยวนั้น คุณอาจมีคำตอบเกี่ยวกับ ‘จุดหมาย’ ที่กำลังรับชมไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้เจอของจริงซึ่งอาจจะไม่เป็นอย่างที่คุณเพิ่งตัดสินไป ซึ่งนั่นก็เพราะ ประการแรก คุณกำลังมองโลกผ่านแว่นของคนอื่น และ ประการที่สอง คือ คุณกำลังชิมรสของโลกผ่านคำบอกเล่า สิ่งที่จะได้ยินบ่อย ๆ เช่น ‘เค้าว่าร้านนี้อร่อย’ หรือไม่ก็ ‘เค้าบอกว่าต้องไปเที่ยวที่นี่’ หรืออีกสารพัดประโยคที่ขึ้นต้นด้วย ‘เค้าว่า…’
ลิ้นเขาจะชอบเหมือนลิ้นเราได้ยังไง….จริงไหม ?
และเมื่อได้ไปจริง ก็มักจะต้องถ่ายรูปเพื่อโพสให้คนเห็นว่าสถานที่ที่ถูกกล่าวขานให้เป็น ‘โลเกชั่นยอดฮิต’ หรือจุดถ่ายภาพจำพวก ‘มุมมหาชน’ เราก็ไปมาแล้วไม่ตกกระแสใด ๆ บางครั้งแค่ไปเพื่อเก็บรูปไม่ทันได้ซึมซับความเป็นมาหรือศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เลยด้วยซ้ำ
ประเด็นนี้คงสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ ไม่ได้แค่ทำให้เราเปรียบเทียบตัวเองกับชีวิตคนอื่นโดยไม่รู้ตัว แต่มันยังสร้างกับดักของการใช้ชีวิตเพื่อ ‘โชว์’ มากกว่าที่จะ ‘สัมผัส’ ประสบการณ์ที่เคยถูกเก็บเกี่ยวด้วยหัวใจ ให้กลายเป็นแค่การตามกระแส เพื่อจะได้เป็น ‘Tourist’ ที่มีถ่ายภาพไว้เรียกยอดไลก์ มากกว่าที่จะเป็น ‘Traveler’ ที่เดินทางเพื่อเปิดโลกทัศน์อย่างแท้จริง
มาถึง จุดนี้ คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เราถูกดึงเข้าสู่ ‘Social (Media) Trap’ ทั้งในความหมายของการติดกับดักทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในความหมายที่ถูกโซเชียลมีเดียวเป็นตัวชักจูงความคิดพฤติกรรม ที่ส่งผลให้เราเลียนแบบการสร้างประสบการณ์ผ่านหน้าจอตามสื่อที่เราเสพ ไม่ว่าจะเป็น ภาพลักษณ์ที่สวยงาม มื้ออาหารที่สมบูรณ์แบบ เส้นทางการเดินทางที่หรูหรา และทุกวินาทีในชีวิตที่น่าอิจฉา
ทั้งที่ในความเป็นจริง โลกที่เราเห็นในฟีดนั้น อาจเป็นเพียงการจัดฉากแสดงด้านหนึ่งของ ‘ชีวิตเสมือนจริง’ การโพสต์ภาพอาหารติดแท๊กโลเกชั่นร้านที่ได้รับการการันตีจากสถาบันชั้นนำ รูปเตียงนอนในโรงแรมระดับเจ็ดดาว หรือช๊อตการถ่ายท้องฟ้าจากมุมที่นั่งชั้นธุรกิจหรือเฟิร์สคลาส แม้กระทั่งบางครั้งก็เป็นเรื่องราวบนเครื่องบินส่วนตัวนั้น แท้ที่จริงแล้วอาจไม่ได้สะท้อนความสำเร็จที่แท้จริง แต่กลับเป็นการสร้างภาพเพื่อต้องการที่ทำให้คนอื่นรู้สึกว่า ‘เราเหนือกว่า’
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วการสะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคม หรือ ‘Social Scene’ นี้ก่อให้เกิดประโยชน์เช่นไร เพราะนี่อาจจะเป็นเพียงพลวัตหนึ่งที่ผ่านมาและก็จะผ่านไป แน่นอนว่าเราไม่เพียงแต่วิพากษ์สิ่งที่เกิด หากแต่ต้องการให้ต่อยอดไปถึงปลายทางที่อาจนำไปสู่
ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ‘ราคา’ ที่หลายคนยอมจ่ายเพื่อภาพลักษณ์ที่ไม่ยั่งยืน
สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงความคิดเลื่อนลอยหรือคำวิจารณ์ปากเปล่า หากถูกยืนยันด้วยข้อมูลจาก Statista (2023) ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคในประเทศไทยใช้จ่ายประมาณร้อยละ 15 ของรายได้ทั้งหมดไปกับสินค้าหรือประสบการณ์ที่สามารถ ‘โชว์’ บนโซเชียลมีเดีย เช่น กาแฟแบรนด์ดัง ร้านอาหารหรู และการเดินทาง มากกว่าสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน
ที่น่าหนักใจกว่าปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์ระดับจุลภาคก็คือ การที่คนกู้เงินหรือเป็นหนี้บัตรเครดิตเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือเดินทางตามกระแส โดยสถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (2022) รายงานว่า 40% ของหนี้ครัวเรือนไทยมาจากการใช้บัตรเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในหมวด ‘การแสดงออกในสังคม’ นั่นหมายความว่า ภาพลักษณ์ที่คุณเห็นในโลกออนไลน์ อาจแลกมาด้วยหนี้สินและความเครียดทางการเงินที่อยู่เบื้องหลัง
นอกเหนือจากปัญหาทางการเงิน การสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงยังทำให้เกิดข้อสงสัยในสายตาของผู้ชมว่า ‘นั่นคือเรื่องจริงหรือไม่’ หรือ ‘เอาเงินมาจากไหน’ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความน่าเชื่อถือที่อาจพังทลายทั้งชีวิตลงในระยะยาว
แย่ไปกว่านั้น คือ พฤติกรรมนี้อาจดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้ไม่สุจริต เช่น การแสดงภาพลักษณ์หรูหราเพื่อชักชวนคนอื่นร่วมลงทุนในธุรกิจสีเทาหรือแชร์ลูกโซ่ ดังเช่นที่ Forbes (2023) เคยระบุว่า 30% ของการหลอกลวงทางการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นจากการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงภาพลักษณ์ความสำเร็จที่เกินจริง
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการใช้เงินเกินตัวเพื่อรักษาหรือสร้างภาพลักษณ์ในโลกออนไลน์ ไม่เพียงส่งผลต่อบุคคล แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐศาสตร์หาภาค ซึ่งถูกยืนยันด้วยข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (2022) ที่ระบุว่าหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ 89 ของผลผลิตมวลรวม โดยถือว่าเป็นหนึ่งในตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
แน่นอนว่าเมื่อครัวเรือนเผชิญกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายเกินตัว โอกาสในการลงทุนหรือออมทรัพย์เพื่ออนาคต เช่น การศึกษาสำหรับ หรือการเก็บออมเพื่อเป็นกองทุนหลังเกษียณอายุ ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนั้นก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมต่าง ๆ อีกมากมาย ที่รัฐบาลจะต้องนำงบประมาณคงคลังมาใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยอาจจะนำไปสู่การปรับเกณฑ์การเสียภาษีเพื่อหารายได้มาพยุงรายจ่ายของประเทศ
เมื่อเราเห็นปัญหา เราก็ต้องมองหาทางออก และทางออกสำหรับเรื่องนี้ คือ ความเชื่อว่า ‘ความจริงมีพลังมากกว่าสิ่งลวงตา’
ดังนั้น ในขณะที่โซเชียลมีเดียเป็นดั่งเวทีละครที่ทุกคนต่างสวมบทบาทในแบบที่ต้องการให้โลกเห็น บางคนสร้างตัวตนเพื่อให้ดูเหนือกว่า บางคนไล่ล่าการยอมรับเพื่อเติมเต็มช่องว่างภายใน และบางคนถูกดูดกลืนเข้าไปในวังวนของการเปรียบเทียบโดยไม่รู้ตัว
สิ่งต่าง ๆ เรานี้กำลังถามเราว่า เรารู้ไหมว่ากำลังตกอยู่ใน Social (Media) Trap หรือไม่ และหากรู้เราจะตอบตัวเองได้ไหมว่าเราใช้ชีวิตเพื่อให้คนอื่นอิจฉา หรือเพื่อให้ตัวเองมีความสุขจริง ๆ กันแน่ ?
เพราะหากเรายอมก้าวเข้าไปในกับดักโลกเสมือนจริง ให้โซเชี่ยลมีเดียเป็นตัวกำหนดคุณค่าในตัวเรา นั่นหมายความว่า ‘เราให้พลังกับสิ่งที่ไม่มีตัวตนจริง’ และเมื่อนั้น ‘เราก็จะสูญเสียตัวตนที่แท้จริงไป’
แต่หากเราตระหนักได้ว่า ชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่ถูก Like เยอะที่สุด แต่คือชีวิตที่เราเลือกเองโดยไม่ต้องให้ใครมากดอนุมัติ เมื่อนั้น เราจะหลุดออกจากกับดักนี้
‘โลกเสมือนจริง’ อาจเป็นเครื่องมือที่ดี หากเราเป็นผู้ควบคุมมันให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง แต่เมื่อไหร่ที่มันควบคุมเรา เมื่อนั้นเรากำลังตกเป็นทาสของภาพลวงตา
และนั่นคือสิ่งที่แพงที่สุด…เพราะเราอาจจ่ายด้วยค่าของ ‘ความเป็นตัวเอง’ โดยไม่รู้ตัว
โดย
ดร.ณพรรษธ์สรฌ์ เสมสันต์
นักวิชาการอิสระ