
“ความรู้กับทักษะเป็นคนละเรื่องกัน กว่าจะมีทักษะทุกคนต้องลงแรง มือทำ ฝึกฝนด้วยตัวเอง มีความรู้อาจจะพูดได้ แต่ว่าทำไม่ถูก หรือยังไม่มีผลเป็นที่ประจักษ์”
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารไทยเบฟเวอเรจ และประธานนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 66 กล่าวในงาน “Thailand Next: เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2567 กล่าวถึงความตั้งใจของนักศึกษา วปอ. ในการสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
“เราคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของเปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย สิ่งที่สำคัญจริง ๆ แล้ว มันคือผลของการกระทำ ความร่วมไม้ร่วมมือที่กําลังจะทำให้ เกิดเป็นผลลัพธ์ออกมา คงไม่ใช่เป็นเพียงแค่เราช่วยกันทำคือเรียบเรียงข้อความเสร็จแล้วก็ตีพิมพ์ออกไปเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม แล้วเราบอกว่าภารกิจของเราจบ
ผมว่ามันเป็นเส้นทางที่ยังคงต้องเดินต่อไป โดยที่เรารวมพลังกันจากการที่เรามาร่วมกันศึกษาอยู่ในหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในรุ่น 66 นี้” นายฐาปนกล่าว
นายฐาปนกล่าวต่อว่ามีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่เราได้ Crossed Learning เรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากกระบวนการทางความคิดที่ถูกเปลี่ยนเป็นแนวทางในการลงมือทำ จาก Ideation (ความคิด) ไปสู่การ Execution (
การดำเนินการ)
ตนเองเป็นเอกชน ตนเองก็ต้องลงมือทำ แล้วสะท้อนให้เห็นผล ซึ่งนี่คล้ายกับการที่ตนเองได้มีโอกาสได้ลงไปทำงานในชุมชนซึ่งเราเรียกว่า ‘เศรษฐกิจฐานราก’ ซึ่งมีอยู่ 3 ประโยคว่า “ชุมมชนต้องลงมือทำ เอกชนจะช่วยขับเคลื่อน รัฐบาลจะช่วยสนับสนุน”
เหตุผลที่ต้องใช้ชุมชนลงมือทำคือ ไม่ใช่ให้เขารอคนมาช่วย แต่พอเขาทำแล้วเขาจะได้ความคิดเพิ่มขึ้น มีความคิด,ประสบการณ์, ความเข้าใจ และความรอบรู้ แล้วพวกเขาจะลงมือทำต่อ ๆ ไป ซึ่งสิ่งนี้นั้นคล้ายกับสิ่งที่ตนเองพูดกับนักเรียน นักศึกษา
“เราอยากจะเห็นน้อง ๆ ใส่ใจในการลงมือปฏิบัติ เพราะวันนี้องค์ความรู้เป็นของที่พวกเราหยิบหาได้ search เปิดสมาร์ทโฟนปั๊บ เดี๋ยวข้อมูลก็มีล่ะ แต่ knowledge (ความรู้) จะถูกแปลงเป็น Skill Set คือเป็นสกิลคือทักษะ
ความรู้กับทักษะ (เป็น) คนละเรื่องกัน แต่กว่าจะมีทักษะทุกคนต้องลงแรง ทุกคนต้องลงมือทำ ต้องฝึกฝนด้วยตัวเองนะครับ ถึงมีความรู้อาจจะพูดได้แต่ว่าทำไม่ถูก หรือยังไม่มีผลเป็นที่ประจักษ์” นายฐาปนกล่าว