เวียดนามกำลัง แย่งตลาดลำไยไทยในเยอรมนี ‘พาณิชย์’ ชี้ตลาดลำไยในเยอรมนีหดตัว เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคต.) รายงานถึงสถานการณ์การนำเข้าลำไยในเยอรมนี โดยเยอรมนีต้องนำเข้าลำไยจากประเทศในเอเชียโดยเฉพาะไทย เวียดนาม และจีน ซึ่งในปี 2565 ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกลำไยสดรายใหญ่ของโลก และเยอรมนีคือตลาดที่สำคัญที่สุดของไทยในยุโรป
อย่างไรก็ดีปัจจุบันผู้ส่งออกของไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกลำไยรายใหญ่โดยมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวนานกว่าประเทศไทย จึงทำให้เวียดนามสามารถจัดหาลำไยให้กับตลาดได้เมื่อประเทศไทยอยู่นอกฤดูกาล ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกของเวียดนามได้เปรียบเพราะสามารถตอบสนองความต้องการในตลาดสำคัญๆ ได้เป็นระยะเวลานานขึ้น
อย่างไรก็ดี เยอรมนีนำเข้าลำไยลดลง เนื่องด้วยกำลังซื้อขาดหายไป ลูกค้าในตลาดเยอรมนีโดยเฉพาะชาวเยอรมันให้ความสำคัญกับการจับจ่ายใช้สอยเป็นอย่างมาก นอกจากปัจจัยด้านตลาดแล้ว ประเด็นปัญหาอื่น ๆ ก็มีผลทำให้การนำเข้าลำไยในหลายปีที่ผ่านมาลดลง ทั้งเป็นผลมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานและนโยบายการค้าต่าง ๆ
ดังนั้นจึงพอสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า ขณะนี้ตลาดลำไยในตลาดเยอรมนีกำลังอยู่ในช่วงหดตัว โดยการลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งมูลค่าและปริมาณในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความต้องการที่ลดลง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ส่งผลต่อการนำเข้าลำไยสด
มูลค่าการนำเข้าสูงสุดในช่วงปี 2564 อาจบ่งบอกถึงอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้หรือสภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่นั้นมา และการลดลงในเวลาต่อมาชี้ไปที่การเปลี่ยนแปลงของตลาด ซึ่งอาจเนื่องมาจากการแข่งขันจากผลไม้อื่นๆ การเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภค หรือความท้าทายทางเศรษฐกิจ
อีกทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงอาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน หรือความท้าทายด้านลอจิสติกส์อื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความพร้อมและต้นทุนของลำไยสดในเยอรมนี และการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของผู้บริโภคหรือความพร้อมของผลไม้ทดแทนที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้การนำเข้าลำไยสดลดลง
นอกจากนี้ ลำไยเป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่าย ดังนั้น การขายลำไยสดในเยอรมนีจึงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ซึ่งลำไยส่วนใหญ่ที่วางจัดจำหน่ายในตลาดเยอรมนีมักขายในร้านค้าเอเชีย หรือร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่มีแผนกสินค้าต่างประเทศ เช่น เว็บไซต์ Amazon.de และ asia-foodstore.de. เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบการขายในรูปแบบออนไลน์ โดยผู้นำเข้าส่วนใหญ่เป็นคนเอเชีย อาทิ คนเวียดนาม คนจีน และคนไทย ที่พำนักในเยอรมนี