ทุเรียนจีน ขาดสารอาหาร สู้ทุเรียนจากไทย-มาเลเซียไม่ได้ งานวิจัยระบุทุเรียนหมอนทองจีน ไม่มีสารเควอซิทิน
การศึกษาวิจัยพบว่า ทุเรียนที่ปลูกบนเกาะไหหลำ (มณฑลไห่หนาน) ของจีน มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำกว่าทุเรียนพันธุ์เดียวกับที่ปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก
นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไหหลำพบว่า ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในจีนไม่มีสารเควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเลย ในขณะที่ทุเรียนหมอนทองของไทยมีสารเควอซิทินในปริมาณสูง โดยทุเรียนที่ปลูกบนเกาะไหหลำสายพันธุ์เดียวที่มีสารเควอซิทิน คือ พันธุ์ก้านยาว แต่มีระดับเคอร์ซิตินต่ำกว่าที่ปลูกในต่างประเทศถึง 520 เท่า และต่ำกว่าระดับเควอซิทินในหมอนทองของไทยถึง 540,000 เท่า
ในส่วนของกรดแกลลิก ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านมะเร็ง ทีมนักวิจัยกล่าวว่า ไม่พบในพันธุ์ก้านยาวของจีน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาครั้งก่อน
จากการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของทุเรียนไทยในปี 2008 พบว่า ทุเรียนหมอนทองมีกรดแกลลิก 2,072 ไมโครกรัมต่อทุเรียน 100 กรัม ซึ่งสูงกว่าทุเรียนที่ปลูกในจีนซึ่งมีกรดแกลลิก 22.85 นาโนกรัมต่อทุเรียน 906 เท่า
นอกจากนี้ยังพบว่า ทุเรียนหมอนทองของไทยมีสารประกอบโพลีฟีนอลหลากหลายที่สุดในบรรดาทุเรียน 5 สายพันธุ์ที่วิเคราะห์ โดยเควอซิทินเป็นหนึ่งในสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลัก ขณะที่ผลการศึกษาโดยนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไหหลำพบว่า ก้านยาวที่ปลูกในจีนมีสารประกอบโพลีฟีนอลที่หลากหลายที่สุด ในส่วนของหมอนทองที่ปลูกในจีนแม้ว่าจะไม่พบสารเควอซิทิน แต่พบว่ามี เอสคูลิน คาเทชิน และกรด 4-ไฮดรอกซีเบนโซอิก
Zhang Jing หัวหน้าคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยซานย่า หนานฟาน แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไหหลำ กล่าวว่า “ความแตกต่างของสภาพอากาศ และปริมาณแร่ธาตุและสารอาหารในดิน อาจส่งผลต่อการสะสมสารอาหารในระหว่างกระบวนการเจริญเติบโตของทุเรียน… สิ่งนี้อาจส่งผลให้มีสารบางชนิดในระดับที่สูงกว่า ในขณะที่สารบางชนิดอาจไม่พบเลย”
ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Fermentation Industries ของจีน เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นักวิจัยระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระหลักที่พบในทุเรียน 3 ชนิดที่ศึกษา ได้แก่ หมอนทอง ก้านเหยา และมูซังคิง ได้แก่ โพรไซยานิดิน บี1, คาเทชิน และเควอซิทิน
“ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ก้านยาว มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองที่แข็งแกร่งที่สุด [จากทั้ง 3 ชนิด]” นักวิจัย กล่าว
“ผลลัพธ์ปัจจุบันของเรานั้นเป็นเพียงผลเบื้องต้นจากตัวอย่างจากฟาร์มแห่งหนึ่ง เพื่อสร้างภาพรวมของคุณค่าทางโภชนาการ เราจะขยายการรวบรวมตัวอย่างไปยังสวนปลูกอื่นๆ ในพื้นที่ต่างๆ ในไหหลำ” Zhang กล่าว
ทีมนักวิจัย ยังตั้งเป้าที่จะระบุสารอาหารที่สามารถปรับปรุงได้ เช่น สารที่อาจส่งเสริมสุขภาพรังไข่ การศึกษาครั้งก่อนชี้ว่าทุเรียนสามารถนำมาใช้ผลิตอาหารเสริมเพื่อช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากจากกลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ได้
“การระบุสารหนึ่งหรือหลายชนิดที่ช่วยในการฟื้นฟูและปกป้องรังไข่ ช่วยให้เราศึกษาเพิ่มเติมได้ว่าสารเหล่านี้ถูกสังเคราะห์และควบคุมในระดับพันธุกรรมได้อย่างไร” “เมื่อเราเข้าใจยีนที่ควบคุมการสะสมของสารประกอบเหล่านี้แล้ว เราก็สามารถปรับปรุงยีนเหล่านั้นได้โดยการผสมพันธุ์เพื่อเพิ่มระดับของสารที่มีประโยชน์ในทุเรียน” Zhang กล่าว
จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดย 95% ของทุเรียนที่มีการซื้อขายในทั่วโลกนั้นถูกส่งขายให้แก่จีน ในปี 2018 จีนได้เริ่มปลูกทุเรียนในปริมาณมากในมณฑลไห่หนาน ซึ่งเป็นเกาะเขตร้อนเพียงแห่งเดียวของประเทศที่มีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการปลูกผลไม้ชนิดนี้