
คุยเฟื่องเรื่อง “ฤดูฝุ่น” เข้าใจที่มาของปัญหา PM2.5 และแนวทางในการแก้ไขที่ต้องอาศัย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
คุยเฟื่องเรื่อง “ฤดูฝุ่น” เข้าใจที่มาของปัญหา PM2.5 และแนวทางในการแก้ไขที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
พักหลังๆในช่วงเวลาปลายหนาวเช่นนี้คนไทยเรามักได้เจอกับอีกฤดูหนึ่ง ที่เรียกเล่นๆได้ว่า “ฤดูฝุ่น” ที่เวียนมาเจอพวกเราแทบทุกปี วันนี้จะมาชวนคุยชวนมองปัญหาเรื่องฝุ่นกันครับ
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร? เอาเป็นว่าเรื่องนี้คงไม่ต้องลงรายละเอียดกันมากครับ เชื่อว่าทุกท่านน่าจะคุ้นเคยกับความหมายอยู่แล้ว เอาเป็นว่ามันคือ ฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็ก เอาเป็นว่าเล็กจนสามารถเข้าไปในกระแสเลือดจนก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพได้ ว่าแต่ว่า…แล้วต้นตอของฝุ่น PM 2.5 นั้น คืออะไร?
ถ้าจะว่ากันที่ต้นตอที่แท้จริงของฝุ่น ก็ต้องบอกว่า เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ครับ โดยที่แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กิจกรรมด้านคมนาคม ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม กิจกรรมทั่วไป และฝุ่นควันข้ามแดน
ด้านคมนาคม ก็ได้แก่ รถราที่เราๆใช้กันครับ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รถอีแต๋น เรือ และอื่นๆ เรียกว่า ทุกอย่างที่มีการสันดาปก็ว่าได้ โดยจะเกิดขึ้นมากกว่ากับเครื่องยนต์ดีเซล แต่ไม่ใช่ว่าเครื่องยนต์เบนซินไม่สร้างฝุ่นนะครับ สร้างเหมือนกันเพียงแต่น้อยกว่าเท่านั้นเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหลักของปัญหาฝุ่นพิษในพื้นที่เขตเมืองครับ
ด้านเกษตรกรรม ก็ได้แก่ การเผาแปลงเกษตร เพื่อการเก็บเกี่ยว หรือ เพื่อการเตรียมพื้นที่การเกษตร ซึ่งมักเกิดในพื้นนอกเมือง หรือต่างจังหวัดที่มีการทำการเกษตรเป็นหลัก และแน่นอนครับ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของปัญหาฝุ่นในพื้นที่ชนบท เช่นเดียวกับ ด้านอุตสาหกรรม อันได้แก่ การสันดาปของเครื่องจักร หรือของเสียที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมักจะเป็นปัจจัยหลักของปัญหาฝุ่นในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่างๆ
ด้านกิจกรรมทั่วไป ได้แก่ วิถีชีวิตของพวกเราครับ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร การย่างหมูย่างปลา การเผากระดาษเงินกระดาษทอง การจุดธูป หรือแม้แต่การกวาดถนนหน้าบ้าน ลานวัด และอื่นๆอีกมากมาย เป็นสิ่งที่เป็นกิจกรรมทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน แต่ก็เป็นปัจจัยในการเกิดฝุ่น PM 2.5 ได้เช่นกัน และสุดท้ายคือ ฝุ่นควันข้ามแดน ได้แก่ฝุ่นควันที่เกิดจากหลายปัจจัย อาทิ การเผาทางการเกษตร ไฟป่า หรืออื่นๆ ที่ลอยตามลมเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย
“ต้นตอของฝุ่น” แบ่งได้ง่ายๆประมาณนี้ครับ ว่าแต่…แล้วต้นตอของ “ฤดูฝุ่น” ล่ะครับ คืออะไร? ทำไมช่วงเวลาอื่นๆของปีจึงไม่ค่อยจะมีปัญหานี้ ?
คำถามนี้ตอบได้ด้วย 2 คำตอบด้วยกันครับ ได้แก่ การเติบโตของสังคมมนุษย์ และ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล
สาเหตุที่บอกว่า ฤดูฝุ่นเกิดจากการเติบโตของสังคมมนุษย์ ก็เพราะว่า แท้จริงแล้วกิจกรรมต่างๆที่ก่อให้เกิดฝุ่นนั้นเกิดขึ้นมาโดยตลอดนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันครับ เพียงแต่ว่า ปัจจุบันนี้ กิจกรรมต่างๆเหล่านี้มีมากขึ้น เนื่องด้วยสังคมมนุษย์ที่เติบโตมากขึ้น หลายปัจจัยข้างต้นเกิดการขยายตัวและสะสมจนมีฝุ่นมากขึ้น ซึ่งฝุ่นเหล่านี้จะอยู่กับมวลอากาศนั่นเองครับ
แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้เราเห็นเป็นหมอกควันสีเทาปกคลุมไปทั่วในช่วงเวลานี้ของทุกปี เป็นเพราะสภาพความกดอากาศที่จะมีลักษณะพิเศษบางประการในช่วงฤดูกาลนี้ ทำให้อากาศไม่ลอยออกสู่ชั้นบรรยากาศ กลับกลายเป็นเหมือนโดมที่ปิดขังอากาศไว้ ไอ้โดมเหมือนฝาชีนี่แหล่ะครับที่ขังฝุ่นไม่ให้ลอยออกไป จึงหมุนวนตลบอบอวลอยู่ในช่วงความสูงที่ไม่มาก เราก็เลยเห็นเป็นหมอกเทาๆได้ด้วยตาเปล่า จนนำมาซึ่งผลกระทบทางสุขภาพและอื่นๆอีกมากมายนั่นเองครับ
ทีนี้…แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไร?
อันดับแรก เราต้องแยกกันให้ออกครับ ว่าอะไรคือ “การแก้ปัญหา” และอะไรคือ “การบรรเทาผลกระทบของปัญหา” สองสิ่งนี้คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกันครับ แต่…ต้องไม่นำมาปนกัน
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ฝุ่นมีต้นตอหลายแบบ และแต่ละรูปแบบจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ต่างกัน เช่น ฝุ่นที่มาจากคมนาคมมักจะเป็นปัจจัยหลักของฝุ่นในพื้นที่เมือง ฝุ่นที่มาจากเกษตรกรรมมักจะเป็นปัจจัยหลักของฝุ่นในพื้นที่ชนบท เป็นต้น ดังนั้น การจะแก้ปัญหาต้องมองให้ขาด โดยต้องดู “ต้นตอของฝุ่น” พร้อมๆไปกับ “พื้นที่ของฝุ่น” เช่น หากเป็นพื้นที่กทม. ฝุ่นจะเกิดจากการคมนาคมเป็นหลัก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องให้ความสำคัญไปที่การลดการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ แล้วนำเรื่องการเผาทางการเกษตรเป็นเรื่องรอง เป็นต้น เช่นนี้ เราจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด และเป็นการแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา
ซึ่งการแก้ปัญหานั้น หากท่านผู้อ่านนึกภาพตามที่เขียนไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า จริงๆแล้ว ปัญหาฝุ่นนั้น เกิดจากกิจกรรมของเราๆทุกคนครับ จึงกล่าวได้ว่า ฝุ่นเกิดจากการใช้ชีวิตของเราทุกคนก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นจนนอน การเดินทาง อาชีพที่ทำไม่ว่าจะเป็นการเกษตร อุตสาหกรรม หรือธุรกิจต่างๆ
ดังนั้น การจะแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ จึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต หรือการเปลี่ยนแปลงเครื่องไม้เครื่องมือในการทำกิจกรรมของ “คนหมู่มาก” และแน่นอน การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนจำนวนมากนั้น เป็นเรื่องยากและต้อง “ใช้เวลา” ครับ ใช่ครับ เราจึงต้องทำใจว่าการแก้ไขปัญหาให้จบนั้น เป็นเรื่องระยะยาวครับ และต้องทำใจครับ ว่า Quick Win ประเภททำปุ๊บหายปั๊บนั้น “ไม่มี” และเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของปัญหา
จากที่กล่าวมาข้างต้น ก็ต้องบอกทุกคนว่า ต้องใจเย็นๆครับ และต้องช่วยกัน หากรัฐบาลออกแนวทางการแก้ปัญหามา แต่เราๆท่านๆไม่ร่วมมือ ไม่ลงมือทำช่วยกัน ก็ยากที่จะสำเร็จครับ เพราะลำพังรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ “เปลี่ยนแปลงฝุ่นในอากาศไม่ได้” และไม่มีสิ่งใดที่ทำเป็นภาพรวมได้นอกจากการร่วมมือและลงมือทำของคนไทยทุกคน สิ่งที่เขาทำได้คือการออกนโยบายเพื่อดึงดูด และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราให้สร้างฝุ่นน้อยลง เช่น การช่วยเหลือประชาชนในการเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้า เหมือนที่หลายๆประเทศทำ ซึ่งถ้าการช่วยเหลือนั้นจูงใจมากพอ การเปลี่ยนผ่านก็จะง่ายขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว ก็อยู่ที่พวกเราเช่นกันว่าจะเอาด้วยไหม จริงไหมครับ? ซึ่งจริงๆเรื่องนี้ คนในสังคมจำนวนไม่น้อยทราบดีครับ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าหลายคนที่ออกมาเรียกร้องให้แก้ปัญหาเสมือนว่าจะให้สำเร็จภายในวันสองวันนั้น เขาคิดอะไรกันอยู่ หรือเป็นแค่การเมือง…ก็มิอาจทราบได้
ส่วน “การบรรเทาผลกระทบของปัญหา” นั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำเมื่อเกิด “ฤดูฝุ่น” ครับ ซึ่งเป็นได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อให้เกิดการใช้รถยนต์น้อยลงในเขตเมือง หรือการเข้มงวดเรื่องการเผาในเขตชนบท การรณรงค์ให้ใส่หน้ากาก การให้ทำงานจากบ้าน การให้เรียนออนไลน์ หรือแม้แต่การจะโปรยสารเคมีเพื่อให้อากาศเปิด ก็ว่ากันไปครับ ซึ่งการบรรเทาเช่นนี้ จะไม่ได้ “แก้ปัญหา” แต่อย่างใดครับ เป็นการทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยลงเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ในปีต่อๆไป ฤดูฝุ่นก็จะยังคงกลับมาอีก
นี่คือสาเหตุที่บอกว่า อย่าสับสน และอย่าเอามาปนกันครับ ระหว่าง “การแก้ปัญหา” กับ “การบรรเทาผลกระทบของปัญหา” ซึ่งต้องบอกทั้งประชาชนทั่วไปและรัฐบาล หลายคนยังสับสนการบรรเทาผลกระทบว่าเป็นการแก้ปัญหา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะกลายเป็นขาดความต่อเนื่อง และไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ดังนั้น วันนี้ต้องพัฒนา 2 ส่วน ได้แก่ แนวทางในการแก้ปัญหา เอาไว้แก้ปัญหาให้จบโดยโฟกัสที่ต้นตอและพื้นที่ ซึ่งต้องเป็นการดำเนินการระยะยาวที่ต้องรีบเริ่ม เพราะใช้เวลา และ แนวทางในการบรรเทาผลกระทบเมื่อเกิดปัญหา เอาไว้ใช้เวลาเกิดฤดูฝุ่นในช่วงที่การแก้ปัญหายังไม่เสร็จสมบูรณ์ ถึงเวลาก็งัดเอาออกมาใช้ได้ทันที
สุดท้าย ก่อนจะจากกัน ต้องคุยกันเรื่องฝุ่นข้ามแดนสักเล็กน้อยครับ เพราะนี่คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของปัญหา แต่ยากเหลือเกินที่จะแก้เพราะไม่ใช่กล้ามเนื้อในบังคับของเรา แต่เชื่อไหมครับว่า ต่อให้เราแก้ไขปัญหาในบ้านเราได้เบ็ดเสร็จ เรียกได้ว่าไม่มีการสร้างฝุ่นแม้แต่เม็ดเดียวในประเทศไทย เราก็ยังจะได้สูดฝุ่นกันอยู่ดี เพราะยังมีส่วนที่มาจากต่างแดน (ยกตัวอย่างให้เวอร์ๆนะครับจะได้เห็นภาพ) นี่คือความสำคัญของฝุ่นข้ามแดน
ถามว่าเราจะทำอย่างไร?
เรื่องนี้ ลำพังตัวรัฐบาลเราคงทำอะไรได้ยากครับ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถไปบีบบังคับใครได้ แถมจะโดนว่าว่าไปยุ่งกับอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นเขาอีก ดังนั้นเรื่องนี้ สิ่งที่สามารถทำได้คือการทำใน “ภาพรวม” ของหลายๆประเทศครับ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “โอกาส” ของประเทศไทย เราสามารถฉวยโอกาสนี้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศ หรือเป็นผู้นำในความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอยู่ โดยโฟกัสที่ปัญหานี้โดยเฉพาะ แล้วแสวงหาความร่วมมือร่วมกันรวมถึงการสร้างข้อตกลงร่วมกันในการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ
สรุปสุดท้าย ปัญหาฝุ่น PM2.5 คือ ปัญหาของทุกคน เกิดจากกิจกรรมและวิถีชีวิตของทุกคนในสังคม การแก้ปัญหาจึงต้องการความร่วมมือร่วมใจของทุกคน เราทุกคนจึงต้องช่วยกันและอย่าโทษกันครับ และต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาแบบ Quick win ประเภททำวันนี้เสร็จพรุ่งนี้ “ไม่มี” และไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง
ในส่วนของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ต้องแยกให้ออกว่าอะไร คือ “การแก้ปัญหา” และอะไรคือ “การบรรเทาผลกระทบของปัญหา” อย่าสับสนระหว่างการแก้ไขปัญหาระยะยาว กับการบรรเทาผลกระทบระยะสั้น อย่าลืมเรื่องความแตกต่างของฝุ่นในแต่ละพื้นที่ จึงจะทำให้การออกแบบแนวทางการแก้ไขจะตรงจุด ตรงพื้นที่ และแก้ได้ที่ต้นตออย่างแท้จริง สุดท้าย อย่าลืม “โอกาส” ที่ซ่อนอยู่ใน “ปัญหา” ครับ
ผู้เขียน
ร้อยเอก ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ
ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาการทูตและการต่างประเทศ
คณะการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ