![](https://thestructure.live/wp-content/uploads/2024/12/isoc-web.jpg)
บทบาทและโครงสร้างของ กอ.รมน. ตอบคำถามต่อข้อครหาว่า กอ.รมน.เป็นรัฐซ้อนรัฐหรือไม่
พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์กับ The Structure เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กอ.รมน. และการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในงานความมั่นคง ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
กอ.รมน. ทำหน้าที่เป็นรัฐซ้อนรัฐหรือไม่ ?
กอ.รมน. นั้นถูกจัดตั้งขึ้นด้วยความจำเป็นของประเทศ ในการใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ไม่ใช่ของกองทัพ
กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ (United States Department of Homeland Security) แตกต่างจาก กอ.รมน. อย่างไร ?
กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐนั้น มีหน่วยยามฝั่งสหรัฐ (U.S. Coast Guard) อยู่ในสังกัด โดยมีหน้าที่ดูแลการกระทำที่ผิดกฎหมาย และการกู้ภัยตามแนวชาวฝั่ง ในขณะที่ไทยเรานั้นใช้กลไกของ กอ.รมน. ซึ่งงานของหน่วยยามฝั่งสหรัฐนั้น จะทำหน้าที่คล้ายกับ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล.)
ซึ่งทั้ง กอ.รมน. และ ศร.ชล นั้นเกิดจากการรวบรวมบุคลากรจากหลายกระทรวงเข้ามาทำงานร่วมกัน แต่ว่าของไทยนั้น ไม่ได้ผูกขาดรวบเอาคนเหล่านั้นเข้ามาเป็นกระทรวงเหมือนอย่างของสหรัฐ
กอ.รมน. หมดความจำเป็นหลังสิ้นภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์จริงหรือ ?
สมัยปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอดีตนั้น มีภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยความมั่นคงเพียงรูปแบบเดียว แต่นับตั้งแต่ที่มีการออก พรบ. กอ.รมน. ในปี 2551 นั้น มีการพิจารณาภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยเทียบกับภัยคุกคามในระดับสากล ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ทรัพยากร ยาเสพติด พลังงาน ฯลฯ
ซึ่งรูปแบบการรับมือกับภัยคุกคามสมัยใหม่นั้น จะมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความมั่นคง ลงมาให้ส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง กอ.รมน. เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลเป็นประธาน
กอ.รมน. นั้นมี 2 บทบาท คือเป็นทั้งฝ่ายอำนวยการ และฝ่ายปฎิบัติการ โดยมีหน่วยจังหวัดชายแดนใต้ (จปต.) ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานเดียวของ กอ.รมน. ที่มีหน้าที่ในเชิงปฎิบัติการ
นอกจากนี้ รูปแบบการจัดองค์กรของ กอ.รมน. นั้น เป็นไปตามหลักปฏิบัติของสากล โดยมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ เป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. โดยตำแหน่ง
กอ.รมน.ใช้อำนาจตามอำเภอใจในการตีความว่าใครเป็นภัยความมั่นคง แบบที่มีนักวิชาการบางท่านกล่าวหาหรือไม่?
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงนั้นจะมี 2 หน่วยหลัก ๆ คือ สมช. และ กอ.รมน.
สมช. นั้นจะเป็นหน่วยที่เป็นฝ่ายอำนวยการของผู้บังคับบัญชา ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (รมว.กลาโหม, คลัง, ต่างประเทศ, ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, คมนาคม, มหาดไทย และยุติธรรม เป็นสมาชิก สมช. โดยตำแหน่ง)
และ สมช. จะเป็นผู้กำหนดโจทย์มาให้ กอ.รมน. เป็นผู้ปฎิบัติถ้าหากว่าโจทย์นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องบูรณาการ แต่ในบางครั้งโจทย์ที่ สมช. กำหนดมานั้น สามารถรับไปดำเนินการได้โดยส่วนราชการเพียงส่วนเดียว สมช. ก็จะสั่งการลงมาโดยไม่ผ่าน กอ.รมน. ถ้า สมช. กำหนดให้ กอ.รมน. เป็นผู้ปฎิบัติ หมายความว่าโจทย์นั้นเป็นโจทย์ที่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยการบูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่กันเยอะ
แต่ทั้งนั้น สมช. ไม่ได้คิดอ่านอยู่เพียงฝ่ายเดียว แต่จะมีผู้แทนจากส่วนราชการเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยมี สมช. เป็นเจ้าภาพ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าภารกิจนั้น ๆ ควรจะส่งมอบให้ใคร ทำให้เกิดการบูรณาการทางความคิดจากทุกส่วนราชการเข้าด้วยกัน
เมื่อ สมช. ได้ข้อสรุป และตัดสินใจส่งมอบให้ กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบ กอ.รมน. ก็จะนำไปดำเนินการโดยใช้กลไกของ กอ.รมน. ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการ และอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้
สำหรับ กอ.รมน. นั้นมี 2 ส่วน คือส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งในส่วนกลางนั้นมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการโดยตำแหน่ง, มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองผู้อำนวยการ และเสนาธิการทหารบก เป็นเลขาธิการ โดยตำแหน่งตามที่กฎหมายกำหนด
ในขณะที่ส่วนภูมิภาคนั้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน. จังหวัด) ซึ่งนี่เป็นกลไกที่ถูกใช้ในภาวะปกติ เพื่อการดูแลปัญหายาเสพติด ทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร พลังงาน สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ อาชญากรรมข้ามชาติ และเรื่องของสถาบันหลักของชาติ
กอ.รมน. ทำงานอะไรและทำงานร่วมกับใครบ้าง?
ในส่วนกลางของ กอ.รมน. นั้นมีข้าราชการประจำอยู่ประมาณ 100 กว่าอัตรา นอกนั้นจะเป็นการบรรจุเข้ามาช่วยราชการ ไม่ได้มีแต่เพียงทหาร แต่ในบางตำแหน่งที่เห็นว่ามีทหารเข้ามาปฎิบัติหน้าที่อยู่มากนั้น เนื่องจากส่วนราชการอื่นไม่ได้สนับสนุนเรื่องบุคลากรเข้ามา
แต่ในปีต่อ ๆ ไป บทบาทของ กอ.รมน. จะมีความชัดเจนมากขึ้น เช่นในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ก็อาจจะต้องมีผู้แทนของหน่วยนั้น ๆ เข้ามาบรรจุเข้ามาช่วยราชการใน กอ.รมน.
ภารกิจที่ กอ.รมน. ได้รับมอบหมายมีอะไรบ้าง ?
รัฐบาลได้มอบหมายให้ กอ.รมน. ดูแลในเรื่องของ นำเอาที่ราชพัสดุของกองทัพออกมาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่ง กอ.รมน. รับไปดำเนินการตรวจสอบว่าหน่วยงานใดเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ใด ก่อนที่จะมีการประสานงานไปยังเหล่าทัพต่าง ๆ และกรมธนารักษ์
เพื่อหากระบวนการและวิธีการ เพื่อให้เกิดการนำที่ราชพัสดุไปใช้ประโยชน์ ในขณะที่ฝ่ายท้องถิ่นจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกว่าผู้ใดที่สมควรจะได้รับประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้น ๆ ซึ่งนี่เป็นภารกิจที่จะต้องมีการบูรณาการร่วมกับหลาย ๆ ฝ่าย
เพราะว่ากองทัพเองนั้นมีภารกิจหลักในการป้องกันประเทศ แต่ว่างานในส่วนนี้ กองทัพจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้วย เนื่องจากว่านี่คืองานช่วยเหลือประชาชน กอ.รมน. ก็ต้องรับหน้าที่ในการดำเนินการ และเรื่องนี้เป็นตัวอย่างงานของ กอ.รมน. ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานความมั่นคงของทหารได้อย่างไร ?
ลักษณะของ กอ.รมน. คือนักบูรณาการ และนักประสานงานที่จะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นเป็นหลัก ไม่ใช่งานที่จะทำได้ด้วยตัวเองเพียงหน่วยเดียว แต่สิ่งสำคัญที่ในอดีตถูกมองข้ามก็คือการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน
แต่ในวันนี้จะเห็นได้ว่าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานความมั่นคง อย่างน้อยที่สุด แค่เป็นหูเป็นตาให้ ก็ถือว่าสร้างประโยชน์ให้แก่งานความมั่นคงแล้ว ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภาคประชาชน และสื่อมวลชน ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเป็นผู้ชี้เป้า หรือคอยเฝ้าระวัง
การมีส่วนร่วมในด้านอื่น ๆ ที่เห็นได้มากคือในส่วนของงานภัยพิบัติ ไม่ว่าจะในรูปแบบของจิตอาสาตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี หรือ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ก็ดี ซึ่งจะเห็นได้ว่าความสำเร็จของระบบสาธารณสุขไทยนั้นมาจาก อสม. ก็เยอะ
การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในงานของ กอ.รมน. นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ที่จะต้องอาศัยภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุก ๆ เรื่อง โดยในปัจจุบันนั้น กอ.รมน. อาศัยภาคประชาชนในการขยายความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เช่นเรื่องยาเสพติด หรือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เองก็มีบทบาทหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการบุกรุกป่า เป็นการบังคับคดี แต่ในส่วนของการรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกในการรักษาผืนป่านั้นยังหาคนช่วยไม่ได้ ซึ่งส่วนนี้คล้ายคลึงกับงานของ กอ.รมน.
เพราะว่างานความมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั้นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ยากที่จะกำหนดออกมาเป็นตัวเลขได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองมีอำนาจเพียงการบังคับคดี จับกุมเพื่อการฟ้องคดี
แต่เมื่อไรก็ตามที่ในสังคม มีผู้ที่มักจะกระทำผิดกฎหมายอยู่ 50% ในภาพรวมแล้ว ก็จะกลายเป็นว่าปัญหาทางสังคม ที่สร้างให้เกิดความเสียหายมูลค่าสูง นั่นเริ่มกระทบกับเรื่องความมั่นคงแล้ว โดยถือว่าผู้คนไม่มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัย
ดังนั้นภาคประชาชนจึงต้องเข้ามาช่วย กอ.รมน. ในการช่วยอธิบาย ทำความเข้าใจ เพราะ กอ.รมน. มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยประชาชนในการทำความเข้าใจ
คิดอย่างไรกับการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับ กอ.รมน.
พลตรี วินธัยกล่าวว่าตนเองอยากให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเพื่อให้เกิดความทันสมัยต่อการแก้ไขปัญหาของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเยอะมาก ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสังคมต่าง ๆ ล้วนแต่เกิดจากการให้ความร่วมมือของภาคประชาชนทั้งนั้น
รับชมคลิปได้ที่
ตอนที่ 1
@thestructure.live “กอ.รมน.ทำหน้าที่เป็นรัฐซ้อนรัฐหรือไม่ และในต่างประเทศมีองค์กรแบบ กอ.รมน. หรือไม่?” สัมภาษณ์พิเศษ พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตอนที่ 1 TheStructure TheStructureNews กอรมน ความมั่นคง วินธัยสุวารี
ตอนที่ 2
@thestructure.live “กอ.รมน.ใช้อำนาจตามอำเภอใจในการตีความว่าใครเป็นภัยความมั่นคง แบบที่มีนักวิชาการบางท่านกล่าวหาหรือไม่?” สัมภาษณ์พิเศษ พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตอนที่ 2 TheStructure TheStructureNews กอรมน ความมั่นคง วินธัยสุวารี
ตอนที่ 3
@thestructure.live “กอ.รมน.ทำงานอะไรและทำงานร่วมกับใครบ้าง?” สัมภาษณ์พิเศษ พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตอนที่ 3 TheStructure TheStructureNews กอรมน ความมั่นคง วินธัยสุวารี
ตอนที่ 4
@thestructure.live “ความมั่นคงเป็นเรื่องของทหาร แล้วประชาชนเข้ามาเกี่ยวอะไรด้วย?” สัมภาษณ์พิเศษ พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตอนที่ 4 TheStructure TheStructureNews กอรมน ความมั่นคง วินธัยสุวารี