การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา และภาระที่ UN ผลักให้ไทย ต้องรับเป็นคนกลางดูแล ระหว่างรอส่งตัวผู้อพยพไปยังประเทศที่สาม
การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา และภาระที่ UN ผลักให้ไทย ต้องรับเป็นคนกลางดูแล ระหว่างรอส่งตัวผู้อพยพไปยังประเทศที่สาม
ในช่วงเวลานี้ชาวโรฮิงญามีแนวโน้มที่จะการอพยพลี้ภัยออกจากถิ่นฐานของตนเอง โดยอาศัยช่วงฤดูปลอดลมมรสุมที่สะดวกต่อการเดินทาง เพื่อหลบหนีการถูกกองกำลังอาระกันบังคับเกณฑ์ใช้แรงงาน อีกทั้งค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ถูกจำกัดลิดรอนสิทธิ เนื่องจากความช่วยเหลือจากนานาชาติที่ไม่เพียงพอ
สำหรับจุดมุ่งหมายในการอพยพของชาวโรฮิงญานั้นคือมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นชาติที่นับถือศาสนาอิสลามเหมือนชาวโรฮิงญา อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีเรือ 3 ลำ บรรทุกชาวโรฮิงญากว่า 400 คน เดินทางไปจนถึงอินโดนีเซีย แต่ถูกประชาชนในพื้นที่ปฏิเสธ
ชาวโรฮิงญาบางส่วนใช้เส้นทางทางบกในการอพยพไปยังมาเลเซีย โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน โดยลักลอบเข้าไทยอย่างผิดกฎหมายที่จังหวัดกาญจนบุรี, ตาก และระนอง บางส่วนใช้เส้นทางเรือ และมีการลักลอบเข้าประเทศไทยในภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน
การลักลอบเข้าประเทศไทยของชาวโรฮิงญานั้น มีการกระทำกันเป็นขบวนการ เพื่อการนำส่งคนกลุ่มนี้จากประเทศไทยไปสู่มาเลเซีย และมีการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ประมาณคนละ 1 แสนบาท
การลักลอบเข้าประเทศไทยนั้น สร้างปัญหาให้กับทางการไทยในการกักกันผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเหล่านี้ และในขณะนี้ทางการไทยประสบปัญหาพื้นที่กักขังไม่เพียงพอ
อีกทั้ง สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ต้องการชะลอการผลักดันชาวโรฮิงญากลับประเทศ เพื่อเข้าสู่กระบวนการลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม ส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลชาโรฮิงญาเหล่านี้ จนกว่ากระบวนการลี้ภัยจะเสร็จสิ้น
และการดูแลชาวโรฮิงญาเหล่านี้ ทางการไทยก็ไม่สามารถที่จะปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลได้ เพราะว่าถูกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเพ่งเล็ง ในขณะที่กลุ่มชาวโรฮิงญารวมตัวกันกดดัน เรียกร้องให้ทางการไทย ให้การดูแลผู้อพยพตามหลักสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ นโยบายของ UNHCR ในการนำผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้าสู่กระบวนการลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 โดยอาศัยประเทศไทยเป็นจุดพักรอนั้น กลับกลายเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นด้วย
สำหรับชาวโรฮิงญาที่ไม่ได้ถูกกักกัน และหลบหนีในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายนั้น ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการถูกส่งไปเป็นแรงงานภาคประมง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีในประเด็นสิทธิมนุษยชน
จนกลายเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าได้อีกด้วย ซึ่งประเทศไทยเคยถูกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างชาติ โจมตีว่าอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย มีการใช้แรงงานทาสมาก่อน