เพื่อนบ้านพร้อมใจ แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อไทย ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้รัฐบาล – ฝ่ายความมั่นคงขาดเอกภาพ เผย 3 แนวทางในการแก้ไขปัญหาจากภายใน
ในช่วงที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเกิดปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านหลายกรณีมาก ตั้งแต่กรณีข้อพิพาทพื้นที่ทางทะเลระหว่างไทย – กัมพูชา ซึ่งทางฝ่ายกัมพูชานั้น มีความพยายามที่จะเรียกร้องให้มีการทวงคืนเกาะกูดกลับคืนมาจากประเทศไทย
จนนาย ฮุน มาเน็ต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาต้องออกมากล่าวว่า จะต้องต้องแก้ไขเรื่องนี้อย่างมีวุฒิภาวะผ่านการเจรจา แต่ก็ยังมิวายที่จะกล่าวเป็นนัย ๆ ว่า กัมพูชาอาจจะมีอาณาเขตเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่ทางกลุ่มว้าแดงนั้น ได้มีการปล่อยข่าวออกมาว่า กำลังมีปัญหาข้อพิพาทกับไทยในพื้นที่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน และกล่าวว่าหากไทยยกทัพเข้ามาก็พร้อมที่จะเอาคืนอย่างสาสม ถึงแม้ว่าในภายหลังกองทัพว้าแดงจะออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่าไม่ต้องการที่จะเปิดฉากสู้รบกับไทยก็ตาม
ด้านกองทัพเมียนมา ที่มีการจับกุมชาวประมงไทย โดยกล่าวอ้างว่าเรือประมงไทยเป็นฝ่ายรุกล้ำน่านน้ำเมียนมาก่อน แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยถึงท่าทีของทางการเมียนมา ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการกระทำการเกินกว่าเหตุ เนื่องจากมีการใช้อาวุธยิงใส่เรือประมง ไทย อีกทั้งที่ยังไม่ยอมส่งคืนตัวคนไทยกลับมาเสียที ทั้ง ๆ ที่จับตัวคนไทยไปแล้วเกือบ 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่า กองทัพลาว ได้มีการวางกำลังประชิดแนวชายแดนไทย ซึ่งนี่ถือได้ว่ากระทบต่อความมั่นคงของไทยทั้งสิ้น
และทั้งหมดนี้ได้กลายมาเป็นคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เหตุใดประเทศเพื่อนบ้านของไทย จึงพร้อมใจกันแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ?
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวว่าเป็นเพราะว่ารัฐบาล น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นั้นไม่มีนโยบายและแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงที่ชัดเจน อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านต่างก็จับสัญญาณความไม่เป็นเอกภาพระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายความมั่นคงได้ จึงแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวเพื่อสร้างอำนาจเพื่อการต่อรอง
ทั้งนี้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งตามแนวชายแดนของไทยนั้นมีมานานแล้ว โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ถ้าหากว่าไม่มีนโยบายความมั่นคงที่ชัดเจน ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่มีการสู้รบในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถึงแม้ว่าแนวปฏิบัติตามปกติจะไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากว่านโยบายไม่ชัดเจนก็อาจสร้างปัญหาตามมาได้
อย่างกรณีที่กองกำลังว้าแดงรุกล้ำดินแดนไทยเข้ามานั้น ภายหลังจากที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยได้ประชุมร่วมกับฝ่ายว้าแดง และมีข่าวออกมาว่าฝ่ายไทยได้ยื่นคำขาดต่อฝ่ายว้าแดงให้ถอยร่นออกไป แต่ทางการไทยกลับไม่ได้ยืนยันว่ามีการยื่นกำหนดเวลาดังกล่าว
และเมื่อครบกำหนดเวลา (ตามที่เป็นข่าว คือวันที่ 18 .ค. นี้) หากว่าฝ่ายว้าแดงไม่ยอมถอนตัวออกไป ก็จะกลายเป็นการบันทึกว่าฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการกดดันต่อว้าแดง ซึ่งถึงแม้ว่าในเวลานี้นั้น จะถือว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นกลไกปกติ ที่ไทยยังไม่ได้หรือเสียดินแดนไป
แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนในนโยบายความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนออกมาในลักษณะที่ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายความมั่นคงสื่อสารกันไปคนละทิศ คนละทาง
ทั้งนี้ ถ้าหากว่าไม่มีการปรับแนวปฎิบัติให้มีความชัดเจน และเป็นเอกภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง โดยการปรับในที่นี้นั้น จะต้องมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนผ่านสภาความมั่นคง (สมช.) ว่านายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม รมว. มหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินนโยบายอย่างไร มีแนวปฎิบัติอย่างไร
ซึ่งถ้าประเทศเพื่อนบ้านรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นเอกภาพด้านความมั่นคงของไทยได้ พวกเขาก็จะเข้าหาผู้มีอำนาจของไทย ซึ่งเขาอาจจะจับสัญญาณความขัดแย้งได้ และดำเนินมาตรการในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน
ซึ่งการที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และ รมว. กลาโหม แสดงความเห็นไปคนละทิศละทางกับผู้นำเหล่าทัพ นั่นทำให้ประเทศเพื่อนบ้านจับสัญญาณได้ และใช้ท่าทีที่แข็งกร้าว เพื่อดำเนินการกดดันฝ่ายไทย เช่น ปิดด่านชายแดน จับกุมคนไทย
ทั้งนี้ ถึงว่าในเมียนมาจะมีคนไทยจำนวนหนึ่งอยู่ในรัฐฉาน และมีชาวเมียนมานับล้านอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ชาวเมียนมาในประเทศไทยเหล่านี้ ไม่ได้มีท่าทีที่สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา จึงทำให้ฝ่ายไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการต่อรองกับเมียนมามากกว่า
สำหรับข้อสังกตุที่ว่าในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสินซึ่งก็เป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลก็แทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง และไทยไม่ได้มีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน
อีกทั้ง น.ส.แพทองธารนั้น ก็เพิ่งจะได้พบกับ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ในการประชุม ACMECS ที่ประเทศจีน ซึ่งบรรยากาศทางการเมืองระหว่างทั้ง 2 ประเทศก็น่าจะราบรื่นดี
ซึ่งถ้าหากว่าเรือประมงไทยรุกล้ำน่านน้ำเมียนมา ก็น่าจะใช้วิธีที่ละมุนละม่อม ถ้อยทีถ้อยอาศัยมากกว่านี้ แต่เหตุใดรัฐบาลเมียนมากลับเลือกใช้ไม้แข็ง
รศ. ดร. ปณิธารกล่าวว่า ทางการเมียนมาเห็นว่าทางฝ่ายไทยไม่มีเอกภาพ และอ่อนแอ จึงใช้กำลังเข้ากดดัน ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งถึงขั้นปิดด่าน และยิงข้ามมาฝ่ายไทย แต่ในรัฐบาลต่อ ๆ มาสถานการณ์ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น
จนมาถึงรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในเวลานั้น พล.อ. สุรยุทธ์ จุลลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก เมียนมาก็ยังคงมีปัญหากับไทย แต่ฝ่ายไทยมีความชัดเจนในการตรึงกำลังตามแนวชายแดน ทำให้สถานการณ์สงบไปพอสมควร
อย่างไรก็ดีในเวลานั้น ฝ่ายการเมืองไม่ค่อยพอใจต่อท่าทีของฝ่ายทหารมากนัก เนื่องจากฝ่ายการเมืองกำลังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับฝ่ายเมียนมาในเรื่องการทำธุรกิจการค้า ซึ่งเรื่องนี้นั้นไม่เกี่ยวข้องกับทหาร
(รัฐบาลทักษิณ อนุมัติให้ EXIM Bank ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลเมียนมาในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าต้นทุน เพื่อการลงทุนในด้านการสื่อสารโทรคมนาคมในเมียนมา โดยมีบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมา)
ซึ่งในช่วงเวลานั้น รัฐบาลเมียนมาแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อไทยเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องการสร้างอำนาจในการต่อรอง ขณะที่ทางฝ่ายไทยใช้ทั้งวิธีการทูตและการกดดันทางทหาร และในช่วงเวลานี้รัฐบาล น.ส. แพทองธารก็กำลังประสบปัญหาเดียวกัน
สำหรับท่าทีที่แข็งกร้าวของกองทัพเรือเมียนมา โดยมีการยิงใส่เรือประมงไทยด้วยนั้น รศ.ดร. ปณิธานเชื่อว่าการกระทำดังกล่าว ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูงของเมียนมา เนื่องจากว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ทหารในพื้นที่ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักระหว่างไทยและเมียนมาในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล กองทัพกับกองทัพ
ซึ่งการสั่งการของระดับสูงเมียนมาในครั้งนี้ เป็นสัญญาณที่ต่อเนื่องมาจากความไม่พอใจของรัฐบาลเมียนมาต่อฝ่ายไทยในเรื่องก่อนหน้านี้ โดยฝ่ายเมียนมาร้องขอให้ฝ่ายไทยช่วยกดดันกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ซ่องสุมอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา แต่ทางการไทยกลับปฎิเสธว่าไม่มีชนกลุ่มน้อยใดซ่องสุ่มในประเทศไทย
ซึ่งเมื่อไทยเกิดปัญหาความขัดแย้งกับกองกำลังว้าแดง ฝ่ายทหารเมียนมาระบุมาว่า ฝ่ายไทยแจ้งว่าไม่มีชนกลุ่มน้อยใดในพื้นที่ของฝ่ายไทย เป็นการบอกกล่าวแบบกลาย ๆ ว่าการที่ฝ่ายไทยแจ้งเข้ามาว่าฝ่ายว่าไม่มีชนกลุ่มน้อยในซ่องสุมกำลังในพื้นที่ฝ่ายไทยนั้น ขัดแย้งกับที่ฝ่ายไทยแจ้งมาว่าฝ่ายว้าแดงรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของไทย
ทำให้ในเวลานี้นั้นทั้งเมียนมาและว้าแดงต่างก็เป็นแนวร่วมมุมกลับ (ฝ่ายเดียวกันกับฝ่ายเรา แต่สร้างความเสียหายให้กับฝ่ายเรา) ทั้ง ๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายนี้นั้นเป็นศัตรูกัน
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างไทยกับว้าแดงนั้น ยังไม่ถือว่าน่ากังวลมาก เพราะว่าทางฝ่ายว้าแดงนั้นยังไม่ได้มีการวางกำลังในพื้นที่ส่วนนั้นมาก โดยมากที่สุดแค่ระดับกองพัน ซึ่งมีกำลังเพียงไม่ถึง 100 คน อีกทั้งการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนั้น ยังถือว่าอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่ม
ทั้งนี้ความเข้มแข็งของว้าแดงนั้นขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากต่างชาติ หรือขบวนการยาเสพติด แต่ในปัจจุบัน ว้าแดงไม่ได้ใช้ประเทศไทยเป้นเส้นทางในการลำเลียงยาเสพติด เนื่องจากไทยนั้นมีการตรึงกำลังที่แน่นหนา ในขณะที่ทางจีนนั้นแน่นหนาที่สุด อีกทั้งยังมีการซ้อมรบในบริเวณนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ขบวนการยาเสพติดเล็ดลอดเข้าจีน
จึงไปใช้เส้นทางผ่านลาว อินเดีย และบังกลาเทศ ซึ่งมีการตรึงกำลังเบาบางกว่า แต่ในขณะนี้ลาว และอินเดียเริ่มมีการตรึงกำลังเพิ่มขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ รศ.ดร. ปณิธานกล่าวว่า เพื่อการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงที่มาจากเพื่อนบ้าน รัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขดังต่อไปนี้
1 กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงให้ชัดเจน เพื่อแสดงให้เพื่อนบ้านเห็นว่ารัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงนั้นมีความเป็นเอกภาพและมีความเด็ดขาดในการปฏิบัติ
โดยในกรณีความขัดแย้งกับเมียนมาที่เกิดขึ้น ซึ่งเมียนมากล่าวอ้างว่าเรือประมงไทยรุกล้ำน่านน้ำของเขานั้น ฝ่ายไทยต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราอยู่ในน่านน้ำของเรา กรณีที่เกิดข้อพิพาทนั้นอยู่ในเขตของไทย
ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว เรือประมงไทยทุกลำจะต้องมีการติดตั้ง GPS เพื่อระบุพิกัดตามข้อตกลงเพื่อต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) อีกทั้งเรือทุกลำที่มีน้ำหนักเกิน 30 ตันกรอส นั้นจะปรากฎบนหน้าจอเรดาห์ของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.3) และศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ซึ่งฝ่ายไทยสามารถนำข้อมูลนี้ไปยืนยันกับเมียนมาได้
2 ต้องมีการสื่อสารระหว่างหน่วยงานความมั่นคงผ่านกลไกระดับสูงอย่าง สมช. ผ่านการประชุมเพื่อวางกรอบหรือแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนในกรณีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สถานการณ์ในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะกรณีที่เกิดขึ้นกับฝ่ายเมียนมา และว้าแดง และรวมไปถึงกรณีความเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกมีการกระชับกำลังประชิดชายแดนไทย
สถานการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้การหารือระดับสูงระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
3 รัฐบาลควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ ไม่ว่าจะเป็น กรณีการใช้กำลัง การกดดันทั้งทางตรงทางอ้อม การพูดคุยระดับสูงของคณะกรรมการต่างๆ รวมถึงการหารือในระดับผู้นำประเทศด้วย
ซึ่งเรื่องเหล่านี้นั้นมีผลผูกพันต่ออธิปไตยและดินแดนของชาติ จึงควรจะมีการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายก่อนที่จะมีการตัดสินใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งผู้นำที่คุมอำนาจในด้านนี้ในปัจจุบันนั้น กลับปฎิบัติในทางตรงกันข้าม ให้สัมภาษณ์ว่าสถานการณ์เรียบร้อยดี ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ไม่จำเป็นต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็น ซึ่งเรื่องนี้นั้นเป็นเรื่องที่น่าวิตก