วิวาทะ รังสิมัตน์ โรม ประธาน กมธ. ความมั่นคง 17 ธ.ค. 2567 VS รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ 18 ธ.ค. 2567
สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลเมียนมา พิพากษาตัดสินให้ลูกเรือประมงไทย ทั้ง 4 คน ต้องโทษจำคุกในข้อหาทำประมงในน่านน้ำประเทศเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาต และลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค. 2567)
นางรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาตำหนิการทำงานของรัฐบาลว่าไม่มีความชัดเจนว่าลูกเรือทั้ง 4 จะได้กลับไทยเมื่อไร
และเหตุใดรัฐบาลไทยไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนมากกว่านี้ เนื่องจากตนเห็นว่าทางการเมียนมาใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ และไม่เหมาะสม
“มีวิธีการแสดงท่าทีหลายอย่างที่สามารถจะยกระดับแสดงให้เห็นว่าไทยไม่พอใจ (ต่อเมียนมา) อย่างการเชิญทูตเมียนมาและอ่านเป็นบันทึกให้เขาฟัง ซึ่งเป็นการแสดงความกังวล ถือว่าน้อยมาก (รัฐบาล) ควรจะแสดงท่าทีที่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประท้วงที่อาจจะต้องมีการแสดงท่าทีออกมา แต่ก็ไม่เห็น (การแสดงออกมา) จากรัฐบาล
วันนี้รัฐบาลของเราส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากว่ารัฐบาลนี้อ่อนแอ ไม่สามารถสร้างความรู้สึกให้กับพี่น้องชาวไทยได้รับรู้ว่าเขาจะปลอดภัย” รังสิมันต์กล่าว
วันนี้ (18 ธ.ค. 2567) นาย รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาตอบโต้นายรังสิมันต์ว่า ถึงแม้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาถึงต้นเหตุด้วย เพราะว่าหากมีการกระทำความผิด ก็ต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย
ซึ่งถ้าหากว่ามีเรือประมงต่างชาติรุกล้ำน่านน้ำไทยเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ก็จะมีการจับกุมและดำเนินคดีเช่นเดียวกัน และในทางกลับกัน ถ้าหากว่ามีประเทศต้นทางของเรือประมงต่างชาติเข้ามากดดันให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวทันที ไทยจะรู้สึกอย่างไร
“ตามปกตินั้น การดำเนินการช่วยเหลือทางการทูตนั้น จะต้องทำเงียบๆ เพราะหากยิ่งไปกดดันเมียนมาผ่านสื่อ อย่างที่บางคนทำอยู่นี้จะยิ่งทำให้อีกฝ่ายปล่อยตัวลูกเรือไทยช้าออกไปอีก เว้นเสียแต่ว่า จะทราบอยู่แล้ว เพียงแต่อยากโชว์บทบาทมากกว่าสนใจชะตากรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง” นายรัศม์กล่าว