
International Index ดัชนีระหว่างประเทศ เกณฑ์เพื่อการสร้างมาตรฐานโลกหรือ การแทรกแซงอย่างไม่เป็นทางการ ? ดร.ณพรรษธ์สรฌ์ เสมสันต์ นักวิชาการอิสระ
การจัดอันดับประเทศในมิติต่าง ๆ โดยองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น World Bank หรือ OECD เป็นสิ่งที่น่าจะพอคุ้นหูคุ้นตาคนไทยไม่น้อย
ในช่วง 2 ทศวรรษก่อน สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการปรับปรุงระบบการให้บริการของภาครัฐเป็นอย่างมากคือตัวชี้วัดของธนาคารโลกจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ โดยจะมีการออกรายงาน Ease of Doing Business ปีละ 1 ครั้ง เก็บข้อมูลวงจรการดำเนินธุรกิจจากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก
จวบจนวันนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังให้ความสำคัญคือการดำเนินการตามเกณฑ์ของ OECD เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในด้านต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานไทยที่รับผิดชอบในแต่ละมิติกำลังขยับเขยื้อนตัวเองให้เป็นไปในทิศทางตามกรอบนั้น ๆ
นัยหนึ่งอาจมองได้ว่าตัวชี้วัดต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยให้แต่ละประเทศทั่วโลกมีมาตรฐานเดียวกัน ดำเนินการขับเคลื่อนประเทศ อันจะส่งผลต่อพลวัตของโลกไปในทิศทางเดียวกัน
แต่ในมุมผู้เขียนกลับเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คืออาวุธในการแทรกแซงการดำเนินการภายในประเทศจากต่างชาติ
เมื่อครั้งเริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูลของประเทศไทยร่วมกับธนาคารโลก ในการจัดอันดับความยาก – ง่าย ในการประกอบธุรกิจจนเกิดความเข้าใจในกระบวนการของทั้ง 10 มิติตัวชี้วัดอย่างถ่องแท้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางขั้นบางตอนของภาครัฐไทยสมควรที่จะได้รับการพิจารณาปรับปรุง แต่ในบางประเด็น การลด ละ เลิก ขั้นตอนเพื่อเป็นการกระชับเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจเพื่อให้เราสามารถชนะประเทศอื่น ๆ ที่ร่วมกันจัดอันดับอาจก่อให้เกิดปัญหาที่จะส่งผลกระทบภายหลัง
ทำจนตกผลึกได้ว่าบางทีสิ่งที่เรากำลังพัฒนา ด้วยหวังว่าจะทำให้ประเทศได้รับการจัดอันดับที่ดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดึงนักลงทุนจากต่างชาติ สูบเม็ดเงินเข้ามาในประเทศได้มากขึ้น อาจเป็นเพียงการถูกแทรกแซงรูปแบบการบริหารประเทศหรือเปล่า
ความที่รับผิดชอบงานนี้อยู่หลายปี ทำให้ตอนไปศึกษาต่อในสาขาการบริหารบริษัทข้ามชาติและโลกาภิวัตน์ (Multinationals Corporation and Globalization) มีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะทำ Dissertation (วิทยานิพนธ์) เกี่ยวกับเรื่องนี้ในประเด็นที่ชี้ไปในทิศทางที่ว่า “ตัวชี้วัด” เหล่านี้ ถูกใช้เพื่อตีกรอบการดำเนินการภายในประเทศอื่น ๆ หรือเรียกง่าย ๆว่า “ล้วงลูกอย่างมีอารยะ”
และยิ่งเมื่อได้เรียนลึกซึ้งถึงวิธีการบริหารบริษัทข้ามชาติลงไป ยิ่งทำให้เข้าใจแนวคิดของการลงทุน FDI นำมาเชื่อมโยงกับความเชื่อเดิมจะได้คำตอบให้ตัวเองว่าการกระทำต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะเป็นไปเพื่อปรับระบบของประเทศต่าง ๆ ให้รองรับการเข้าไปลงทุนของประเทศยักษ์ใหญ่ได้โดยที่นายทุนไม่ต้องลงแรงอะไร
แค่ให้ “ตลาด” สู้กันเอง ปรับตัวกันเอง เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีพอ จากนั้นค่อย “shopping” ว่าประเทศไหนง่ายและจ่ายน้อยสุด ทำกำไรให้กับบริษัทของตัวเองมากสุด จนทำให้เกิดหัวข้อสารนิพนธ์ที่มีคีย์เวิร์ดอยู่ที่คำว่า “policy diffusion”
กลับมาในวันนี้ ในจุดที่ไทยกำลังพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโต๊ะเศรษฐกิจอย่าง Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD ชุดความคิดที่ผู้เขียนเคยมองต่อ Ease of Doing Business จึงหวนกลับมาอีกครั้งว่าเรากำลังพัฒนามาตรฐาน ยกระดับการดำเนินการภายในประเทศของเราเพื่ออะไร และเพื่อใคร
เพื่ออะไร คือ เพราะเรามองเห็นข้อด้อย จุดบอด ตระหนักถึงสิ่งที่ควรปรับปรุงจริง ๆ และต้องการให้ประเทศก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรือเพียงเพื่อ “ทำการบ้านส่ง” ให้ครูปกครองจากโรงเรียน OECD เห็นว่าเด็กคนนี้ไม่ผิดกฎอะไร สมควรให้รับเข้าโรงเรียน
เพื่อใคร คือ เรากำลังทำเพื่อให้ประเทศมีความก้าวหน้า หรือทำเพื่อเอาใจพี่ใหญ่ให้เขาเอ็นดู
และถึงจะเป็นเช่นนั้น หากมันจะทำให้ไทยกลายเป็นที่ยอมรับ แล้วก็ต้องคิดต่อว่าการยอมรับนั้นส่งผลอะไรต่อคนไทยบ้าง
หากมันทำให้ปากท้องความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น เศรษฐกิจก้าวหน้า สังคมมีบรรทัดฐาน ภาครัฐมีความโปร่งใส ทุกภาคส่วนก็ควรทุ่มใจใส่แรงให้เรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
แต่หากมันจะเข้าอีหรอบ ซื้อกระเป๋า Brandname ไม่ใช่เอามาใช้ แค่อยากถือไว้อวดชาวบ้าน เราคงต้องทบทวนกันอีกที
ว่าสิ่งที่กำลังตั้งใจส่งผลดีกับในบ้านหรือนอกบ้านมากกว่ากัน
ดร.ณพรรษธ์สรฌ์ เสมสันต์
นักวิชาการอิสระ